ตลาดร้านกาแฟ 3 หมื่นล้านเริ่มฟื้น หลังโควิดเริ่มซา ค่ายใหญ่ Café Amazon เปิดเกมรุกขยายสาขาทั้งในเทศและต่างประเทศ หวังกวาดลูกค้ารอบทิศ พร้อมเพิ่มน้ำหนักกระบวนการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รองรับความต้องการตลาด
สมยศ คงประเวช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟซบเซาไปตามสถานการณ์ แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลายลง ทำให้ปัจจุบันภาพรวมตลาดร้านกาแฟมูลค่า 3 หมื่นล้าน เริ่มกลับมาเติบโต ผู้คนเริ่มออกเดินทางต่างจังหวัด มีบรรยากาศการจับจ่ายคึกคักมากขึ้น ประกอบกับเครื่องดื่มกาแฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขาย Café Amazon กลับมาเติบโตเท่ากับช่วงก่อนโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Café Amazon ขึ้นราคา 5 บาท คาดหนุน EBITDA ‘ธุรกิจไลฟ์สไตล์’ ของ OR เพิ่มขึ้น 400-460 ล้านบาท/ปี
- ตลาดกาแฟเวียดนามเติบโตเร็ว OR แท็กมือ CRG เปิด Café Amazon สาขาที่ 14 ที่นครโฮจิมินห์ ตั้งเป้าปีนี้เปิดให้ครบ 20 สาขา
- ช้าก่อน! คุณดื่มกาแฟผิดวิธีอยู่หรือเปล่า? มาดู 3 วิธีการดื่มกาแฟที่ถูกต้อง และทำให้วันนี้โปรดักทีฟอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน อุปสรรคของการทำตลาด นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว ยังต้องเผชิญการแข่งขันสูงโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวและเน้นการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ควบคู่กับการจัดโปรโมชันดึงลูกค้า ส่วนรายเล็กยังถือว่าค่อนข้างเหนื่อย ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และหาแนวทางนำสินค้าเข้าไปตอบโจทย์ให้ตรงจุด
ต้องยอมรับว่าแม้เราจะเป็นรายใหญ่แต่ยังต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มน้ำหนักพัฒนาการบริการ รสชาติ ราคาเข้าถึงง่าย ล่าสุดได้ลอนซ์กาแฟแคปซูลออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่อยากมารับประทานที่ร้าน ควบคู่กับการขยายช่องทางให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ที่ผ่านมา บริษัทเดินหน้าขยายสาขาทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทุกๆ ประเทศมีโอกาสการเติบโตสูง เนื่องจากอัตราการดื่มกาแฟของผู้บริโภคสูงขึ้นทำให้ปัจจุบันมีสาขามากที่สุดในอาเซียน และเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน อยู่ในอันดับ 6 ของโลก
สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทฯ เตรียมขยายร้าน Café Amazon ตามนโยบาย OR โดยไม่ได้ปิดกั้นจะไปที่ไหนก็ได้ แต่เน้นในเอเชียก่อน เพราะวัฒนธรรมการดื่มไม่น่าจะแตกต่างจากไทยมาก ต้องศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการตลาดเพราะในแต่ละประเทศต้องการรสชาติไม่เหมือนกัน
ขณะที่ในประเทศเตรียมเปิดอีก 400 สาขา ทั้งในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันและนอกสถานีบริการน้ำมัน จากปัจจุบันมีกว่า 3,927 สาขา ซึ่งมีความพร้อมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยหลักๆ จะใช้วัตถุดิบในประเทศ และในปี 2565 มีการตั้งจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟและร่วมพัฒนาโรงงานแปรรูปกาแฟกับเกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดเชียงใหม่
ด้านตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมี 250 สาขา กระจายอยู่ใน 10 ประเทศ สาขาเฉพาะในต่างประเทศรวม 250 สาขา และมีเป้าหมายขยายออกไปประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายการขยายธุรกิจค้าปลีกของ OR หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ภายในปี 2568 ต้องการมีร้านจำนวน 5,800 สาขา ซึ่งแบ่งเป็นต่างประเทศ 400 สาขา ในประเทศ 5,200 สาขา
นับเป็นการลงทุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งมาสเตอร์แฟรนไชส์ หรือจะเป็นการ Joint Venture โดยจะมีหน้าที่เป็นตัวแทนของ Café Amazon ในประเทศนั้นๆ ต้องดำเนินการทุกอย่างเองหมด เริ่มตั้งแต่การฝึกอบรม การพัฒนารสชาติ และการติดต่อกับนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศ
พร้อมกันนี้ OR ยังได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเบเกอรีและโรงงานผงผสมเครื่องดื่ม พื้นที่ 24,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขาปัจจุบันผลิตได้ 11,400 ตันต่อปี
สมยศยังได้ประเมินแนวโน้มของธุรกิจปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีนี้ จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว และใช้เวลาอีกไม่นานจะกลับไปเทียบเท่าก่อนช่วงก่อนโควิด