วันนี้ (18 มิถุนายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมีผลอะไรออกมาหรือไม่ ว่าไม่ได้พิจารณาในวันนี้ แต่ศาลให้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ลักษณะเดียวกับคดีของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการเริ่มพิจารณา มานั่งประชุมพิจารณาและถกเถียงกัน ผลจะยังไม่เกิดขึ้นใน 1-2 วันนี้ ส่วนพยานที่ส่งไปเพิ่มเติมมีเพียง 1 คน คือ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นบุคคลที่รู้กระบวนการทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่าเท่าที่ตรวจดูคำชี้แจงของนายกฯ มีความเป็นไปได้ที่นายกฯ จะรอดใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่มีความเห็น หากจะให้บอกว่าไม่รอดแน่ๆ ก็จะประหลาด หรือจะให้บอกว่ารอดแน่ๆ ก็พูดไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในกระบวนการของศาล เพื่อให้ศาลสบายใจ ส่วนรายละเอียดคำชี้แจงเดี๋ยวคงมีการเปิดเผยกันออกมาเอง ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร เพียงแต่ในชั้นนี้ศาลยังไม่ได้พิจารณา เราจะมาพูดแถลงนอกศาลไม่ได้
เมื่อถามว่า 2 เรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกา คือเรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ได้มีการชี้แจงต่อศาลไปหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ส่งคำอธิบายไป แต่ไม่ได้ถึงขนาดอธิบายเป็นคำนิยาม เพราะเป็นคำที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไป เพียงแต่ว่าคำว่าซื่อสัตย์สุจริตหรือมาตรฐานจริยธรรมมีความหมายของมันตามรัฐธรรมนูญและมีกระบวนการ
วิษณุกล่าวอีกว่า คำว่ามาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่เราแต่งขึ้นเอง แต่เป็นคำเฉพาะที่เหมือนชื่อคน เป็นชื่อกฎหมาย ถ้าจะมากล่าวหาว่าใครผิดมาตรฐานจริยธรรมก็จะต้องร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีเส้นทางในการดำเนินการ ตนเชื่อว่าเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลจะพิจารณา เพราะอย่างอื่นสามารถพิสูจน์เป็นรูปธรรมได้ เช่น เคยติดคุกหรือไม่ เคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ หากไม่มีกระบวนการโดยเฉพาะต่างหาก
“เรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อยู่ๆ จะไปบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะทำให้ขาดคุณสมบัติตลอดชีวิต” วิษณุกล่าว
ส่วนที่มีการมองว่าเรื่องมาตรฐานจริยธรรมน่าจะเป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นเป็นผู้พิจารณา วิษณุกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นพิจารณาอยู่ด้วย
ส่วนในอดีตเคยมีคดีลักษณะเดียวกันหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด โดยเป็นกรณีที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่และมาร้องเรียนเพื่อเอาออกจากตำแหน่ง แต่กรณีของ พิชิต ชื่นบาน ปัจจุบันได้ออกจากตำแหน่งไปแล้วก็จบ เป็นเรื่องที่ตั้งไปแล้ว เป็นรัฐมนตรีแล้ว หลายคนเป็นพฤติกรรมที่ทำไปแล้วเป็นชิ้นเป็นอันในขณะนั้น ขณะที่มาตรฐานจริยธรรมต้องวัดหลังจากดำรงตำแหน่งใช่หรือไม่ ต้องแล้วแต่ศาล เราบอกก่อนไม่ได้
วิษณุกล่าวอีกว่า ครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐาน ส่วนจะเป็นเพราะนายกฯ ไม่รู้พฤติกรรมในอดีตหรือไม่ ขอไม่อธิบายตรงนี้ ขอไปอธิบายกันในศาล และหลังจากนี้ไม่ต้องชี้แจงแล้ว เพราะได้ส่งพยานไปแล้ว 1 คน