วันนี้ (28 ธันวาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน หรือร้อยละ 52 จากการสำรวจปี 2564 แรงนอกระบบมากสุดคือ อาชีพเกษตรและประมง รวมทั้งพ่อค้า แม่ค้า แผงลอย คนขับแท็กซี่ จะเป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคมตามเจตนารมณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ธนกรกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ที่ออกมาเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานได้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. มีรายละเอียดดังนี้
- ‘แรงงานนอกระบบ’ หมายความถึงคนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามกฎหมายประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
- ให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ
- ให้มี ‘คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ’ มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมดังกล่าวต่อ ครม.
- ให้มี ‘กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ’ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ
“นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของพี่น้องแรงงานนอกระบบให้ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งเสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้เร่งรัดกฎหมายให้มีผลปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” ธนกรกล่าว