สมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แนวทางการปรับปรุง มาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ดังนี้
วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ขาดดุล 7 แสนล้านบาท จากคำขอทั้งหมดของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 5,274,444.3 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ 5.66
โครงสร้างงบประมาณประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 2,360,543 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 177,109.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.98
รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เป็นรายจ่ายสำหรับซ่อมเครื่องราชของกรมธนารักษ์ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายจำนวน 24,978.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เป็นการสำรองจ่ายกรณีมาตรการเยียวยาโควิด-19 จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (โครงการเราไม่ทิ้งกัน รายละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน)
รายจ่ายลงทุนจำนวน 624,399.9 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 24,910.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.84 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 19.76 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 และประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท
จำแนกตามยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 387,852.3 ล้าบาท คิดเป็นร้อยละ 12.51 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 338,547.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.92 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.68
ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.67 มากที่สุด ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 119,600.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.86 ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 559,357.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.05 และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 412,706.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.31
สำหรับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
- ศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท
- มหาดไทย 316,527 ล้านบาท
- คลัง 273,941.3 ล้านบาท
- กลาโหม 203,282 ล้านบาท
- ทุนหมุนเวียน 195,397.9 ล้านบาท
กระทรวงการคลังได้รับเงินเพิ่มสูงสุด 5.5 พันล้านบาท ในส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้าน จำนวน 182,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 6,568 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการกู้เงิน 845 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 208 ล้านบาท และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2,323 ล้านบาท ในส่วนของเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และการจัดงานศพผู้สูงอายุ
ขณะที่รายจ่ายงบกลาง (11 รายการ) ลดลงมากที่สุด ที่สำคัญคือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2565 จำนวน 8.9 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 9.9 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1 หมื่นล้านบาท
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำประจำสำนักนายกรัฐมนตนรี กล่าวว่าไทม์ไลน์จะนำเข้า ครม. อีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2564 และนำไปรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำเข้า ครม. อีกครั้งในวันที่ 20 เมษายน 2564 หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 และนำเข้า ครม. เพื่อเห็นชอบร่างพ.ร.บ. อีกครั้งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก 26-27 พฤษภาคม 2564 วาระที่สองและวาระที่สาม 11-13 สิงหาคม 2564 วุฒิสภาพิจารณา 23-24 สิงหาคม 2564 ทูลเกล้าถวายฯ 7 กันยายน 2564
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า