จับตาดาวหาง C/2024 G3 (ATLAS) โคจรเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 13 มกราคม 2025 ซึ่งอาจสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากพลาดแล้วต้องรออีกประมาณ 160,000 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง
ดาวหางดวงนี้ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน โดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System หรือ ATLAS อันเป็นที่มาของชื่อดาวหางดวงนี้ เช่นเดียวกับดวงต่างๆ ที่เข้ามาเฉียดใกล้โลกในช่วงก่อนหน้านี้
ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ล่าสุดของดาวหาง ATLAS พบว่าจะเข้ามาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 13 มกราคม 2025 ที่ระยะห่างประมาณ 13,500,000 กิโลเมตร ซึ่งการโคจรเข้าใกล้เช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่ดาวหางดวงนี้อาจแตกหรือสลายไประหว่างการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
แต่หากดาวหาง C/2024 G3 (ATLAS) รอดพ้นจากการบินผ่านใกล้ดวงอาทิตย์มาได้ จะเข้ามาใกล้โลกที่สุดในวันที่ 14 มกราคม 2025 ที่ระยะห่างประมาณ 140,000,000 กิโลเมตร โดยมีโอกาสที่ฝุ่นก๊าซของดาวจะฟุ้งสว่างมากขึ้นจนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลกในช่วงวันที่ 18-25 มกราคม 2025 บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก ไม่นานหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
อย่างไรก็ตาม ดาวหางดวงนี้มีมุมเงยค่อนข้างต่ำ (ประมาณ 5 องศาจากดวงอาทิตย์) จึงอาจเป็นอุปสรรคในการมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
นอกจากนี้ ค่าความสว่างสูงสุดของดาวหาง ATLAS อาจอยู่เพียงระดับแมกนิจูด -1.3 (ยิ่งค่าตัวเลขน้อยยิ่งสว่าง) กอปรกับตำแหน่งการสังเกตที่มีความเหมาะสมกับผู้คนในซีกฟ้าใต้มากกว่า ทำให้เป็นไปได้ว่าดาวหางดวงนี้อาจไม่ได้ตระการตาดั่งเช่นดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2024
หลังจากเฉียดเข้าใกล้โลกที่สุด ดาวหาง C/2024 G3 (ATLAS) จะถูกเหวี่ยงเข้าสู่วงโคจรที่มีความรีสูงขึ้น ออกสู่บริเวณหมู่เมฆออร์ตที่สุดขอบระบบสุริยะ ซึ่งเป็นแหล่งก่อกำเนิดดาวหางคาบการโคจรยาวหลายดวง ก่อนมีกำหนดโคจรกลับเข้ามาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วง 450,000 ปีจากนี้
ภาพ: M. Mattiazzo
อ้างอิง: