ByteDance ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังผลักดันแอปโซเชียลมีเดียอีกแอปหนึ่งในสหรัฐอเมริกาชื่อว่า ‘Leomn8’ แม้ว่าแอปวิดีโอสั้นชื่อดังอย่าง TikTok จะยังคงเผชิญกับการถูกแบนจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไม่หยุดหย่อนก็ตาม
ทั้งนี้ Lemon8 เป็นแอปที่ผสมผสานระหว่าง Instagram และ Pinterest เปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2020 ถูกจัดกลุ่มเป็นแอปไลฟ์สไตล์ที่เน้นเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และความงาม และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ByteDance ได้เชิญเหล่าครีเอเตอร์เข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่ ‘Lemon8’ ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา โดยจูงใจด้วยการอ้างความสำเร็จของแอปวิดีโอสั้นอย่าง TikTok และไต่อันดับอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา
จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ data.ai ระบุว่า Lemon8 พุ่งขึ้นถึง 693 อันดับ กลายเป็นแอปไลฟ์สไตล์ที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกาในช่วง 30 วันที่ผ่านมา เบียดแอปด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ Zillow ลงมาสู่อันดับ 3 แต่ Lemon8 ยังตามหลัง Pinterest อยู่
ขณะที่ข้อมูลของ Apptopia ระบุว่า Lemon8 มีการดาวน์โหลดสะสม 17 ล้านครั้งทั่วโลกนับตั้งแต่เปิดตัว
Lindsay Gorman พาร์ตเนอร์อาวุโสด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ German Marshall Fund กล่าวกับ CNBC ว่า แม้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับ ByteDance แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ (แอปใหม่) ที่จะมาแทนที่ TikTok ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- BBC สั่งลบ TikTok ออกจากอุปกรณ์ของบริษัท ตามรอยรัฐบาลตะวันตก
- นิวซีแลนด์เตรียมแบนใช้ TikTok ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายรัฐสภา ตามรอยชาติพันธมิตรตะวันตก
- สหรัฐฯ ขู่แบน TikTok กดดัน ByteDance ขายกิจการ
“เห็นได้ว่านี่คือการแข่งขันของบริษัทที่พยายามขยายไปสู่ตลาดผู้บริโภคและกลุ่มต่างๆ ด้วยเนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษรแบบรูปภาพและรูปแบบที่ยาวขึ้น แทนที่จะเป็นวิดีโอแบบสั้นเท่านั้น” กอร์แมนกล่าว
ด้าน Glenn Gerstell ที่ปรึกษาอาวุโสของ Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า อัลกอริทึมบางตัวที่ใช้ใน Lemon8 นั้นคล้ายคลึงหรือเหมือนกับอัลกอริทึมการแนะนำใน TikTok ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ทั้ง 2 แอปนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะพวกมันป้อนสิ่งที่คุณต้องการดูและอื่นๆ
‘Lemon8’ กับบทบาทกลยุทธ์ธุรกิจของ ByteDance
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ Lemon8 เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ พิจารณาว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ที่จีนเป็นเจ้าของ จำเป็นต้องขายหุ้นในแอปวิดีโอสั้นยอดนิยมซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดหรือไม่
ในเดือนมีนาคม ส.ส. ของสหรัฐฯ ได้สอบถาม Shou Zi Chew CEO ของ TikTok ในสภาคองเกรสเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความสามารถของ TikTok ในการดำเนินงานโดยปราศจากอิทธิพลของจีนที่มีต่อบริษัทแม่ การตั้งคำถามของสภาคองเกรสไม่ได้ช่วยบรรเทาความกังวลของฝ่ายนิติบัญญัติ
Gorman วิเคราะห์ว่า การส่งเสริม Lemon8 ในเชิงรุกอาจถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบด้านการแข่งขันของบริษัท เพราะ ByteDance กำลังพยายามขยายสู่ตลาดผู้บริโภคและกลุ่มต่างๆ ด้วยเนื้อหาที่เป็นรูปภาพและเนื้อหาที่ยาวขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับวิดีโอสั้น
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงของ Lemon8 กับ ByteDance และ TikTok จะอยู่ภายใต้เรดาร์ของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแอปยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
“หาก Lemon8 ถูกปิดจากตลาดสหรัฐฯ พวกเขาก็ยังมีผู้คน (หลายล้าน) คนทั่วโลกที่สามารถใช้แอปนี้ได้ เพราะ Lemon8 ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นแล้ว” Gerstell กล่าวและประเมินว่า “จากมุมมองของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ฉันไม่เห็นข้อเสียมากนัก”
อย่างไรก็ตาม ByteDance ไม่ได้ตอบสนองต่อการขอให้แสดงความคิดเห็นของ CNBC
ทั้งนี้ ทั้ง Gorman และ Gerstell ต่างคิดเห็นตรงกันว่า Lemon8 อาจเป็นทางเลือกสำรองในกรณีที่มีบางอย่างเสียหายบน TikTok เช่น Lemon8 สามารถใช้เป็นทางเลือกสำหรับครีเอเตอร์ หาก TikTok ถูกแบนหนักขึ้นอีกระลอก
“การผลักดันด้านการตลาดโดยเฉพาะไปยัง Lemon8 อาจเป็นความพยายามในการเคลื่อนย้ายครีเอเตอร์ไปยังแพลตฟอร์มใหม่ หาก TikTok กำลังเผชิญกับการแบน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ ‘พูดง่ายทำยาก’ เพราะการอพยพหรือย้าย 150 ผู้ใช้ TikTok หลายล้านคนในสหรัฐอเมริกาจากแอปหนึ่งไปยังอีกแอปหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก” Gorman กล่าว
นักวิเคราะห์มอง Lemon8 ‘ไม่ใช่ทางออก’
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การสร้างแอปอื่นเพื่อแทนที่ TikTok ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็วสำหรับ ByteDance เพราะแอปของจีนจะยังคงถูกตรวจสอบโดยสหรัฐฯ ต่อไป เนื่องจากความตึงเครียดกับจีนยังไม่ยุติลง
“มันอาจเป็นทางเลือกสำรองในกรณีที่มีบางอย่างเสียหายบน TikTok แต่ฉันไม่เห็นว่ามันเป็นการสร้างโซลูชันสำหรับ ByteDance ในเรื่องนี้” Gerstell กล่าว
ขณะที่ Gorman กล่าวว่า ท่ามกลางความนิยมของ Lemon8 ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้น มันบ่งบอกถึงความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ จะต้องสร้างกรอบการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงของแอปอินเทอร์เน็ตของจีน และจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นก่อนที่จะควบคุมไม่ได้
“ปัญหานี้จะลุกลามมากขึ้น ท้ายสุดมันก็อาจจะเหมือนกับตุ๊กตาแม่ลูกดก (Matryoshka) ของรัสเซีย ที่พอเปิดแอปหนึ่งก็จะเจออีกแอปหนึ่งต่อไปไม่รู้จบ ดังนั้นเราจึงต้องการกรอบการทำงานเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ มิฉะนั้นเราจะเล่นเกมตีตัวตุ่น (Whack-A-Mole) จนกว่าจะหมดเวลา” Eric Noonan ซีอีโอของ CyberSheath ผู้ให้บริการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าว
อ้างอิง: