เข้าสู่ช่วงกลางปี 2021 การลงทุนต่างๆ ก็เริ่มแสดงผลตอบแทนที่ฉีกจากกันตามเรื่องราวของเศรษฐกิจ พื้นฐาน และความคาดหวังของนักลงทุน
สำหรับตลาดการเงิน คติพจน์ประจำเดือนนี้อย่าง Sell in May and Go Away ทำให้นักลงทุนหลายท่านกังวลกับหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากทุกดัชนีหลักทะยานขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ไม่หยุด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดสหรัฐฯ เช่นกันที่มีทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 การแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็ว และนโยบายกระตุ้นขนาดใหญ่ต่อเนื่อง จนนักลงทุนช่างสงสัยถามว่า ถ้าตลาดปรับตัวลงจริงควรที่จะ Buy in May and Stay Invest แทนหรือไม่
ซึ่งผมประเมินจากนโยบายเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาดก็เห็นด้วยว่า Buy in May and Stay Invest อาจเหมาะสมกับหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ อย่างไรก็ดีเรื่องที่น่าสนใจยังอยู่ที่ What to Buy or Sell in May มากกว่า
1. Sell the Early, Buy the Late (Cycle)
เนื่องจากวัคซีนและนโยบายกระตุ้นที่มากมายทำให้สหรัฐฯ ผ่านช่วง ‘ต้น’ ของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว
ล่าสุดวาณิชธนกิจใหญ่อย่าง Goldman Sachs ประเมินกำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนี S&P 500 ปี 2021 ที่ระดับ 181 ดอลลาร์ สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตปี 2019 แล้วถึง 9.6% ชี้ว่าผลประกอบการของบริษัทสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วง ‘กลาง’ ของการเติบโตแล้ว สไตล์การลงทุนจึงเปลี่ยนจาก Cyclical Value ไปเป็น Cyclical Growth ในไตรมาสแรก
ถ้าไม่ใช่แค่นั้น ถ้าตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเพิ่ม รายได้ก็จะเริ่มชะลอตัว ตลาดอาจเข้าสู่ช่วง ‘ท้าย’ ของวัฏจักรขาขึ้นไปด้วย สไตล์การลงทุนอาจเปลี่ยนไปเป็น Secular Growth ที่ไม่อิงไปกับเศรษฐกิจ
ดังนั้นถ้าสนใจลงทุนในสหรัฐฯ ก็ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เรา Buy สามารถตอบโจทย์มุมมองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ได้
2. Sell the Rumor, Buy the Fact (Tax)
โดยในปีนี้ มีทั้ง Corporate Tax และ Capital Gains Tax ที่ต้องระวัง
นโยบายภาษีที่มีชื่อว่า Made in America คาดว่าจะมาพร้อมกับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Job Plan) แม้ทั้งคู่จะเป็นนโยบายระยะยาว แต่การขึ้นภาษีจาก 21% ไปเป็น 28% จะกระทบกำไรของบริษัทสหรัฐฯ ทันทีที่มีการขึ้นภาษีกลับราว 9% โดยบริษัทในธุรกิจบริการด้านการสื่อสาร (Communication Services), เทคโนโลยี (Technology) และสุขภาพ (Health Care) ซึ่งรายได้ปรับตัวขึ้นมากที่สุดจากการลดภาษีในปี 2017 จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ส่วนในฝั่ง Capital Gains Tax ที่คาดว่าจะมาพร้อมกับ American Families Plan ก็สามารถกดดันตลาดระยะสั้นได้ไม่แพ้กัน ย้อนกลับไปดูการขึ้นภาษี Capital Gains ในปี 1987, 1988 และ 2013 ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยภาษีส่งผลในเชิงลบกับตลาดในช่วง 6 เดือนก่อนจะมีผลบังคับใช้ และหุ้นสไตล์ Momentum เป็นกลุ่มที่ราคาร่วงลงมากที่สุดถึงเกือบ 10% ในอดีต
ดังนั้นถ้าภาษีมาตามนัด ก็ต้องไม่ลืม Sell หลบแรงกระแทกระยะสั้นไว้ด้วย
3. Sell the Monetary, But the Fiscal (Policy)
นโยบายการเงินเป็นประเด็นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ระวัง เนื่องจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ มักส่งสัญญาณว่า Fed จะผ่อนคลายต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเงินเฟ้อสูงเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว
แต่ถ้าติดตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ดีจะพบว่าแม้เงินเฟ้อจะไม่สูงแต่ก็มากกว่าดอกเบี้ย 0% อยู่ดี ขณะที่วัคซีนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้แรงงานกลับเข้าสู่ระบบเร็วกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั่วไปอย่างมาก ด้วยความเร่งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ พลิกกลับไปต่ำกว่า 5% ได้ตั้งแต่ปีนี้ หมายความว่าในทางทฤษฎี นโยบายการเงินไม่ได้มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายกว่าปกติตั้งแต่ต้นปี 2022
ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง (Taper) สิ่งที่จะตามมาทันทีคือสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดจะปรับฐาน และเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วง ‘ท้าย’ ของวัฏจักรขาขึ้น นักลงทุนจึงควรลดการลงทุนที่เคยได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ และเลือกการลงทุนที่มีตัวช่วยอื่นอย่างนโยบายการคลังเข้ามาเติมในพอร์ต
ทั้งหมดคือ What to Buy or Sell in May ที่ต้องติดตามให้ดี เพราะในอนาคตหุ้นสหรัฐฯ จะนำตลาดทุนอื่นของโลกต่อหรือไม่ หรือนำแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ส่วนตัว ผมเชื่อว่าหมดยุค Sell in May and Go Away ไปแล้ว แม้จะไม่ได้หมายความว่าเราสามารถหยั่งรู้อนาคตมากขึ้น แต่สำหรับหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ที่นโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ค่อนข้างเพียงพอสำหรับการสร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุนในระยะยาว Buy in May and Stay Invest ก็อาจเป็นคติพจน์ที่ดีเช่นกันครับ
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ