×

กมธ.อว. พบพิรุธปมซื้อขายวุฒิการศึกษา ม.พิษณุโลก ทำหนังสือถึง อว. ชี้จุดน่าสงสัย เร่งสอบขยายผลขบวนการ

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2024
  • LOADING...

วานนี้ (11 กรกฎาคม) ที่ห้องประชุม อาคารรัฐสภา ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม กมธ.อว. 

 

โดยได้พิจารณาในกรณีเชิญ ดร.ประภาพรรณ รักเลี้ยง อธิการบดีมหาวิทยาลัยพิษณุโลก มาชี้แจงต่อ กมธ.อว. ในประเด็นที่มีการกล่าวหาถึงการซื้อขายวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดย ดร.ประภาพรรณ แจ้งว่าป่วย มอบหมายให้ มานพ เกตุเมฆ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยพิษณุโลก และ ชาตรี จำลองกุล นิติกรของมหาวิทยาลัยพิษณุโลก เป็นผู้แทนเข้าชี้แจง

 

มานพชี้แจงว่า กรณีของ วิไลลักษณ์ ใชยชาญ หรือ ซ้อลักษณ์ ที่มีการกล่าวหาว่าซื้อวุฒิการศึกษาผ่านประธานมูลนิธิท่านหนึ่ง มหาวิทยาลัยยืนยันว่ามหาวิทยาลัยพิษณุโลกไม่มีการขายวุฒิการศึกษา และได้ตรวจสอบพบว่า วิไลลักษณ์สมัครเข้าเป็นนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 

 

มหาวิทยาลัยพิจารณาให้เรียนหลักสูตร 3 ปีครึ่ง เนื่องจากอายุ 42 ปี และมีประสบการณ์การทำงาน เป็นหลักสูตรเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้งนี้ เมื่อมีข่าวเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจึงตรวจสอบพบว่า วิไลลักษณ์ไม่เคยเข้าเรียนตามเงื่อนไขการศึกษา จึงได้พูดคุยสอบถาม 

 

วิไลลักษณ์ไม่ประสงค์ศึกษาต่อแล้ว จึงตกลงคืนเงินค่าเล่าเรียนที่ชำระแล้วทั้งสิ้น 130,000 บาท เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เว้นค่าแรกเข้า 1,500 บาทที่ไม่คืนให้ ขณะเดียวกัน วิไลลักษณ์ได้ออกมาขอโทษมหาวิทยาลัยแล้ว กรณีที่กล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับการขายวุฒิการศึกษา

 

ชาตรีชี้แจงต่อว่า มหาวิทยาลัยพิษณุโลกไม่เกี่ยวข้องกับการขายวุฒิการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยพิษณุโลกได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง จนพบว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตรักษาการคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่าเป็นผู้โอนเงินชำระค่าเล่าเรียนแทนวิไลลักษณ์ 

 

และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 อาจารย์ท่านนี้ได้ยอมรับแล้วว่าทำจริง เพื่อรับเงินส่วนต่างค่าเล่าเรียน ทำไปเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะ ต้องผ่อนรถและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยมหาวิทยาลัยได้พิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย และสั่งให้อาจารย์ท่านนี้ออกจากมหาวิทยาลัยไปแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากทำผิดวินัยร้ายแรง

 

ฐากรกล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.อว. ได้สอบถามผู้แทนมหาวิทยาลัยพิษณุโลกหลายประเด็น ประกอบกับได้ตรวจสอบเอกสารที่มหาวิทยาลัยพิษณุโลกส่งมาในเบื้องต้นก่อนพิจารณาร่วมกัน เห็นพ้องกันว่ามีข้อพิรุธหลายประเด็น 

 

จากการเข้าให้ข้อมูลของมหาวิทยาลัย กมธ.อว. ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น โดยสันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจดำเนินการเป็นขบวนการหรือไม่ อาจารย์เพียงคนเดียวอาจไม่สามารถทำได้ จากนี้อาจจำเป็นต้องตรวจสอบย้อนหลัง รวมทั้งตรวจสอบในสถาบันการศึกษาอื่นๆ ว่ามีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้หรือไม่ 

 

กรณีนี้มีจุดที่ต้องตั้งข้อสังเกต เช่น การให้ชำระค่าเล่าเรียนแบบเหมาจ่าย แทนที่จะชำระตามหน่วยกิตที่ลงทะเบียน โดยกรณีนี้สมัครเข้าศึกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 แต่กลับเร่งรัดชำระค่าเล่าเรียนทั้งหลักสูตรในเดือนธันวาคม 2566, มกราคม 2567 และกุมภาพันธ์ 2567 จ่าย 3 งวด รวม 130,000 บาท ขณะที่พบว่าผู้สมัครเรียนจ่ายเงินถึง 199,500 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเกิดขึ้น และยังพบมีการให้ค่าตอบแทนหรือค่าคอมมิชชันแก่ผู้ที่แนะนำผู้อื่นมาเรียนที่มหาวิทยาลัยพิษณุโลก

 

แต่เมื่อ กมธ.อว. สอบถาม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ อีกทั้งการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องซื้อขายวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็ล้วนแต่เป็นบุคลากรหรือผู้มีส่วนได้รับค่าตอบแทนของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ทั้งที่ควรมีบุคคลภายนอกร่วมด้วยในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม

 

ฐากรกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่อยากให้มีคำที่ว่าจ่ายครบจบแน่ ปริญญาซื้อได้ โดย กมธ.อว. จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และปลัดกระทรวง อว. เพื่อชี้แจงประเด็นพิรุธ และเร่งรัดให้ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก ขยายผลให้รอบด้าน สำหรับกรณีมหาวิทยาลัยพิษณุโลก และ อว. ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยมหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดย อว. ต้องมีมาตรการเรื่องนี้อย่างชัดเจน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising