กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยธุรกิจตั้งใหม่ไตรมาสแรกปี 2568 มี 23,823 ราย ขณะที่ธุรกิจปิดกิจการ 3,107 ราย จากพิษสงครามการค้า-ภาษีทรัมป์ ชี้ภาวะ ธุรกิจ 3 เดือน อยู่ในภาวะทรงตัว เหตุนักลงทุนยังรอดูท่าทีสถานการณ์การค้าโลก ที่ยังมีทิศทางไม่แน่ชัด จึงชะลอความเสี่ยงเอาไว้ก่อน และรัฐปรับแผนปราบ 6 ธุรกิจเสี่ยงนอมินี ทุนสีเทา
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจัดตั้งใหม่ในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 23,823 ราย ลดลง 1,180 ราย (-4.72%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 (25,003ราย) ทุนจดทะเบียน 79,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น11,980 ล้านบาท (17.63 %) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 (67,941 ล้านบาท)
ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,892 ราย ทุนจดทะเบียน 4,113ล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,608 ราย ทุนจดทะเบียน 6,266 ล้านบาท
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 973 ราย ทุนจดทะเบียน1,960 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.94%, 6.75% และ 4.09% จากจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2568 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวนรวมทั้งสิ้น 5 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 20,979 ล้านบาท
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 298 ราย (10.61%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 (2,809 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 11,859 ล้านบาท ลดลง 85 ล้านบาท (-0.71%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 (11,944 ล้านบาท)
ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 307 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 542 ล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 137 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 496 ล้านบาท
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 129 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 341 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.88%, 4.41% และ 4.15% จากจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2568 ตามลำดับ
โดยช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีนิติบุคคลเลิกประกอบกิจการที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย รวมทุนจดทะเบียนเลิกทั้งสิ้น 4,128 ล้านบาท ได้แก่ บจ.ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,568 ล้านบาท และบจ.คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,560 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดชื่อ 20 บริษัทในวงการ ‘ขายตรง-ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต’ ที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย
- เปิด 3 อันดับธุรกิจที่ปิดกิจการมากสุด! วิเคราะห์ทำไม 7 เดือนทุนจดทะเบียนเลิกกิจการสูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แม้แต่ ‘ข้าวไทย’ ยังเสี่ยงพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งเวียดนามและอินเดีย
- ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน สัญญาณอันตรายกำลังบอกอะไร
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,988,655 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.49 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตัวเลขการจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2568 ที่พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งมีจำนวนที่ลดลงเล็กน้อย
“ปัจจัยทางจิตวิทยาที่นักลงทุนรอดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs) ที่จะชี้ทิศทางของการค้าและเศรษฐกิจโลกประกอบกับกังวลว่า ถ้าจัดตั้งธุรกิจในช่วงนี้อาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงธุรกิจ รวมไปถึงปัจจัยความเข้มงวดในการปราบปรามธุรกิจนอมินีหรือธุรกิจทุนสีเทา”
ทั้งนี้ อัตราส่วนการจัดตั้งธุรกิจต่อการจดเลิกในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังคงอยู่ที่ 7:1 หรือตั้ง 7 ราย เลิก 1 ราย
6 ธุรกิจเข้าข่ายนอมินี
อรมนระบุอีกว่า ปีนี้กรมฯ ได้ปรับแผนตรวจสอบ ‘นอมินี’ ปี 2568 โดยเน้น 6 กลุ่มธุรกิจน่าสงสัยว่าอาจจะมีชาวต่างชาติใช้คนไทยเป็นนอมินีเข้ามาประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมาย ได้แก่
- ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2. ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์
- ธุรกิจ e-Commerce ขนส่ง และคลังสินค้า
- ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต
- ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร
- ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป
รวมเป้าตรวจสอบ 46,918 ราย โดยจะลุยลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานฯ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จับมือ ปปง. เตรียมออกกฎหมายยึดทรัพย์
5 ทุนต่างชาติลงทุนในไทยไตรมาสแรก
ส่วนการลงทุนของชาวต่างชาติไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) ในไตรมาสแรกของปี 2568 รวม 272 ราย เพิ่มขึ้น 94 ราย (53%) มูลค่า 11,131 ล้านบาท (31%) โดยมี 5 อันดับแรก ได้แก่
- ญี่ปุ่น 57 ราย 21% เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ แท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ รถ EV, รับจ้างผลิตสินค้า
- สหรัฐอเมริกา 35 ราย 13% เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล, รับจ้างผลิต
- จีน 34 ราย 12% เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรม
- สิงคโปร์ 31 ราย 11% เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- ฮ่องกง 22 ราย 8% เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า, Data Center, รับจ้างผลิตสินค้า
ภาพ: Busà Photography / Getty images