×

ภาคธุรกิจผนึกกำลังวอนรัฐ ‘ชะลอ’ ขึ้นค่าไฟ หวั่นทำต้นทุนผลิตพุ่งต้องปรับขึ้นราคาสินค้า-กระทบความสามารถในการแข่งขัน

23.12.2022
  • LOADING...
ค่าไฟ

กกร. วอนรัฐตรึงราคาค่าไฟฟ้าช่วยภาคธุรกิจ หวั่นสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทำต้นทุนการผลิตพุ่งต้องปรับขึ้นราคาสินค้าจนกระทบเงินเฟ้อ พร้อมเสนอ 5 แนวทางแก้ปัญหา

 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าที่จะมีการเรียกเก็บจากภาคธุรกิจจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 5.69 บาทต่อหน่วย โดยระบุว่า ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทำให้อาจจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าซึ่งจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้มีการติดตามถึงสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาโดยตลอด และจากการประชุม กกร. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft เดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

 

“ภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว

 

ด้าน สุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การปรับขึ้น-ลงค่าไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และโอกาสการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย การปรับค่า Ft แม้จะมีการปรับเพิ่มต่อเนื่องจนในปัจจุบันอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนรองรับได้ แต่การปรับที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3.0% อาจแตะที่ 3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น ดังนั้น นอกเหนือจากการส่งข้อเสนอไปยังภาครัฐบาลแล้ว ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จำเป็นต้องมีการปรับตัวในการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเช่นกัน

 

สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟในแต่ละภาคอุตสาหกรรมและการบริการ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ไทยกำลังประสบวิกฤติซ้อนวิกฤติ ในขณะที่เพิ่งฟื้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทุกภาคส่วน สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ที่ผ่านมา ได้พยายามปรับตัวมาตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที โดยในระยะสั้น ราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ 

 

ขณะที่ระยะยาว ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120% ขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจสถานการณ์และเห็นใจประชาชน จึงนำเรื่องการปรับค่า Ft มาพิจารณาอีกครั้ง ผมเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และทำให้ไทยยังคงมีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก

 

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในปีนี้ภาคค้าปลีกและบริการประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เพราะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น และค่าพลังงานที่เป็นค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งโดยปกติ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาคค้าปลีกและบริการเป็นสัดส่วน 20-50% แล้วแต่ประเภทธุรกิจ โดยปัจจุบันมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่จ่ายอยู่เป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่า Ft จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือประมาณ 6 พันล้านบาท 

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ SMEs 2.4 ล้านราย และการจ้างงานกว่า 13 ล้านคนในภาคค้าปลีกและบริการอยู่รอด จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนและพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ 

 

  1. ขอให้ภาครัฐมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการเหมือนกับที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันครั้งที่ผ่านมา เพราะไฟฟ้ามีความสำคัญเทียบเท่ากับน้ำมัน ซึ่งมีผลกับต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก  

 

  1. ขอให้มาตรการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน และงดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน 

 

  1. ขอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างการคิดค่า Ft ให้สอดคล้อง และถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวปีหน้ายังมีภาวะความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง กำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งค่าจ้าง วัตถุดิบ โดยค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% และก่อนสถานการณ์โควิด ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ซึ่งไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ แตกต่างจากธุรกิจอื่น หรือสายการบินในต่างประเทศ ที่มี Fuel Surcharge จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมให้ฟื้นตัว อาทิ ความเป็นไปได้ที่จะไม่ปรับขึ้นราคาไฟฟ้าเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ 

 

ทั้งนี้ กกร. ได้ยื่นเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม-เมษายน 2566 แล้ว ครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่

 

  1. ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทนและภาครัฐควรเจรจาลดค่า AP จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง

 

  1. ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ. ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

 

  1. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า 

3.1 ขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) แบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อยก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ให้จัดเก็บคนละอัตรา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ

 

3.2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น 

 

  1. เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อกเรื่องใบอนุญาต ร.ง. 4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์เช่น Inverter และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบ Net Metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ

 

  1. มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X