การหาคนมาร่วมงานที่มี DNA เข้ากับองค์กรได้นั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสามารถตัดสินชะตาความสำเร็จขององค์กรได้เลย และจะยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก หากเป็นองค์กรขนาดเล็กที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก
สมัยที่เบลค มายคอสกี (Blake Mycoskie) เจ้าของแบรนด์รองเท้าช่วยเหลือสังคมอย่าง TOMS ปลุกปั้นธุรกิจขึ้นมาจากศูนย์ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่งานล้นมือจนทำคนเดียวไม่ไหว เขาเลยต้องหาคนมาช่วย แต่ติดว่า ตอนนั้นเขาไม่มีเงินครับ ถามว่าเขาทำอย่างไร?
มายคอสกีประกาศหาคนมาช่วยงานเขาลงในเว็บไซต์แลกเปลี่ยนชื่อดังอย่าง Craigslist ซึ่งที่นี่นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนของระหว่างกันแล้ว ยังมีการแลกแรงกับของอีกด้วย เขาเลยใช้พื้นที่นี้ประกาศหาเด็กฝึกงาน เพราะไม่มีเงินจ้างใครทำงานประจำ ส่วนเนื้องานของเด็กฝึกงานที่เขาหาอยู่นั้น เรียกว่าหนักเสียยิ่งกว่างานประจำที่อื่นอีกครับ เพราะเด็กฝึกงานจะต้องทำหลายอย่างมากเท่าที่บริษัทก่อตั้งใหม่มีให้ทำ
แต่เชื่อไหมครับ ทั้งที่งานก็หนัก แถมไม่มีเงินให้ แต่ก็มีคนยอมมาทำงานกับเขาอย่างเต็มอกเต็มใจ คำถามคือมายคอสกีทำได้อย่างไร? คำตอบอยู่ในประกาศที่เขาเขียนครับ โดยเขาเขียนไว้แบบนี้
…..
หัวข้อ : (งานการตลาด) บริษัทรองเท้าสุดฮิปมองหาเด็กฝึกเจ๋งๆ!
ถ้าคุณเป็นคนฉลาด ครีเอทีฟ และมีหัวแบบผู้ประกอบการ นี่คือโอกาสสุดเจ๋งสำหรับคุณ
TOMS เป็นบริษัทรองเท้าที่มีแววไปได้ไกล อยู่ที่เวนิซ รัฐแคลิฟอร์เนีย รองเท้าของเราเป็นการผสมผสานระหว่างแฟชั่นอาร์เจนตินาและวัฒนธรรมโต้คลื่นสไตล์แคลิฟอร์เนีย ทุกครั้งที่เราขายรองเท้าได้คู่หนึ่ง เราจะบริจาคอีกคู่ให้แก่ผู้ยากไร้ในลาตินอเมริกาหรือแอฟริกา
บริษัทกำลังมองหาคนมาช่วยตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- เด็กฝึกงานด้านธุรกิจสุดเจ๋ง – คนที่ได้รับเลือกในตำแหน่งนี้จะทำงานขึ้นตรงกับซีอีโอ ซึ่งบอกไว้ก่อนเลยว่า ไม่มีเครื่องทำกาแฟให้ โดยคุณจะต้องดูแลงานแบบเต็มมือ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา การตลาด พัฒนาแบรนด์ และการจัดจำหน่าย
- เด็กฝึกงานออกแบบเว็บไซต์ – คุณจะต้องเป็นนักศึกษาที่มีประสบการณ์และต้องเจ๋ง เพราะงานของคุณมีผลต่อการเติบโตของบริษัท และนี่เป็นโอกาสอันดีเลิศที่คุณจะได้สร้างเรซูเม่เจ๋งๆ ไว้สมัครงาน
อย่างไรก็ตาม งานนี้ไม่มีค่าตอบแทน แต่คุณจะได้โอกาสของจริงที่จะช่วยให้คุณได้งานประจำที่ได้ผลตอบแทนงดงาม
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดส่งเรซูเม่มาที่ [email protected]
ขอบคุณ,
เบลค มายคอสกี
…..
ถ้าคุณเคยเห็นประกาศรับสมัครงานทั่วไปๆ คุณคงทราบดีว่า ประกาศชิ้นนี้ของมายคอสกีแตกต่างจากประกาศรับสมัครงานอื่นๆ ที่มักจะเป็นแบบแผน เขียนออกมาเป็นข้อๆ และดูทางการ ซึ่งคงไม่มีที่ไหนที่เขียนเล่าสภาพการทำงานที่ละเอียดและตรงไปตรงมาว่า ที่นี่ไม่มีเครื่องทำกาแฟให้ หรือเขียนคำว่า “เจ๋ง” (Fantastic) ลงไปกัน
แต่ทว่าประกาศไม่เหมือนใครชิ้นนี้แหละครับ ที่ทำให้มายคอสกีได้คนที่มีใจทำงานและเคมีตรงกันมาช่วยได้สำเร็จ ซึ่งถ้าจะให้อธิบายว่าทำไม ผมคิดว่าไซมอน ซีเน็ก (Simon Sinek) อธิบายไว้ได้ดี
คืออย่างนี้ครับ โดยทั่วไปธุรกิจหรือองค์กรมักสนใจคำถามว่า ‘อะไร’ และ ‘อย่างไร’ เช่นว่า จะขายอะไร จะขายอย่างไร แต่ซีเน็กพยายามชี้ให้เห็นว่า การตั้งต้นด้วยการถามคำถามว่า ‘ทำไม’ หรือ ‘ทำไปทำไม’ ก่อนสองคำถามว่าอะไร และอย่างไรต่างหาก ที่จะเป็นกรอบในการสร้างสินค้า แบรนด์และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ ‘Apple’ หากมองผิวเผินคนมักคิดว่า Apple ขายอุปกรณ์ไอทีที่มีดีไซน์สวยงาม แต่ความเป็นจริงสิ่งที่ลงลึกไปกว่านั้น คือ Apple ขายบุคลิกและความเชื่อ ‘ความเป็นขบถ’ พูดอีกอย่างคือ จุดมุ่งหมายว่าทำไปทำไมของ Apple คือสร้างความแตกต่างจากยักษ์ใหญ่หรือพี่เบิ้มในอุตสาหกรรมไอที ถ้าใครยังจำโฆษณา 1984 ของ Apple ได้ นั่นแหละครับคือภาพสะท้อนจิตวิญญาณของแบรนด์เลย
เมื่อรู้จุดมุ่งหมายหรือรู้ว่าทำไปทำไมแล้ว ซีเน็กบอกว่า เราก็จะรู้ว่า เราควรขายอะไรและขายอย่างไรที่จะสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายนั้น ดังนั้น เวลาที่ Apple ผลิตสินค้าหรือสื่อสารอะไรออกมา Apple จึงต้องพยายามทำให้ผู้คนรับรู้ได้ถึงความเป็นขบถและกล้าที่จะแตกต่าง ฉะนั้นต่อให้มีใครผลิตอุปกรณ์ที่มีสเปกหรือดีไซน์ใกล้เคียงกับ Apple ก็ไม่อาจทำให้คนหันไปซื้อได้ เหตุผลเพราะคนไม่ได้ซื้อเพราะแค่ของ แต่ซื้อเพราะเขารู้สึกว่าความเป็นขบถของ Apple ตรงกับตัวตนของเขาครับ
….
เช่นเดียวกับประกาศหางานของมายคอสกี ถ้าคุณสังเกตดีๆ สิ่งที่มายคอสกีพยายามบอก ไม่ใช่แค่บอกว่างานที่เปิดรับมีตำแหน่งอะไรหรือมีหน้าที่ (Job Description) อะไร แต่เขาใส่ข้อมูลและคำอธิบายที่ชี้ให้เห็น ‘จุดมุ่งหมาย’ หรือ ‘ทำไปทำไม’ ของ TOMS ด้วย
โดยเขาเกริ่นชัดแต่แรกเลยว่า TOMS ไม่ใช่บริษัททำรองเท้าเพื่อหากำไรเหมือนที่อื่นๆ แต่ TOMS เกิดมาเพื่อขายรองเท้าและบริจาคให้ผู้ยากไร้ ซึ่งแน่นอนครับว่า คนที่จะถูกดึงดูดอยากมาทำงานนี้ ก็ต้องเป็นคนที่มีค่านิยมอยากช่วยเหลือสังคมเหมือนกันกับ TOMS
ถัดมาคือ ยังต้องเป็นคนที่ชอบความท้าทาย เพราะงานที่มายคอสกีเขียนไว้ ใครเห็นก็รู้ว่าทำแทบทุกอย่างและเป็นงานที่หนัก แต่ว่ามันก็เป็นงานที่มีอะไรให้ลองทำเยอะมาก ฉะนั้นแทบไม่จำเป็นเลยครับที่มายคอสกีต้องเขียนระบุในประกาศว่า ต้องเป็นคนขยัน อดทน มีความรับผิดชอบ ชอบเรียนรู้ เพราะคุณสมบัติพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีในคนที่ชอบงานท้าทายความสามารถอยู่แล้ว
ทำนองเดียวกัน คนที่ชอบความท้าทายก็มักจะเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าคนที่ไม่ชอบความท้าทาย ฉะนั้นเรื่องที่จะทำงานให้ฟรีๆ เป็นสิ่งที่คนแบบนี้กล้าและยินดีอยู่แล้ว อีกอย่างถ้าเจ้าตัวทำผลงานได้ดี งานที่ดูเหมือนทำฟรีๆ ก็สามารถเป็นที่ที่ไว้เคลมผลงานหรือใช้ประโยชน์จากความสำเร็จนั้นได้อีกด้วย
ฉะนั้น ถ้าให้สรุป การดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานกับ TOMS ก็เหมือนกับกรณีของ Apple ครับ เหตุผลไม่ใช่ว่าเขาจะทำงานหน้าที่อะไร แต่นอกเหนือจากนั้นคือ เขาจะได้ทำงานที่ตรงกับความเชื่อและตัวตนของพวกเขาต่างหาก ในทางกลับกัน สิ่งที่คนจ้างหรือองค์กรจะได้ ก็คือได้คนที่มีเคมีและความเชื่อใกล้เคียงกันมาร่วมงาน
ผมชอบวิธีคิดนี้มากเลย หลายครั้งผมจะเขียนประกาศรับสมัครงานในเพจ Mission To The Moon ในลักษณะเดียวกับที่มายคอสกีทำ คือไม่ได้บอกแค่ว่าตำแหน่งอะไร มีหน้าที่อะไรเท่านั้น แต่ผมจะเล่าว่า ศรีจันทร์มีความเชื่อเรื่องอะไร มีเป้าหมายในอนาคตที่จะเป็นแบบไหน ตำแหน่งงานนั้นสัมพันธ์กับเป้าหมายอย่างไร และตัวคนที่มาทำจะได้อะไรบ้างในแง่ของแรงขับในการทำงาน
ทั้งนี้ก็เพื่อชี้ให้คนที่เห็นประกาศได้รู้และลองถามตัวเองก่อนว่า เขามีความเชื่อตรงกับศรีจันทร์หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการที่ผู้สมัครก็ได้เลือกเรามาก่อนด้วย เป็นการสกรีนกันทั้งสองฝ่ายได้ดีระดับหนึ่งเลยทีเดียว
สุดท้าย หากใครกำลังมองหาคนมาร่วมงานและอยากได้คนที่มี DNA ใกล้เคียงกันมาช่วย ลองนำหลักคิดนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ ไม่แน่ว่ามันอาจช่วยให้คุณได้เจอคนที่ใช่ได้ง่ายขึ้น