นักธุรกิจ ไทยให้ความเห็น กรณีแม้จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งก็ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่สถานการณ์ระยะข้างหน้ายังดูมืดมนนัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นสัญญาณ ‘ภาวะถดถอย’ จากมรสุมหลายๆ ลูกที่ก่อตัวขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะมาจากทั้งสหรัฐฯ ที่เผชิญเงินเฟ้อสูงจนธนาคารกลางต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่อนาคตเศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะถดถอย
นอกจากนี้สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่สร้างปัญหาด้านพลังงานให้กับกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะซบเซา และมีแนวโน้มแย่ลงหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านพลังงานได้
ขณะที่จีนเองกำลังเผชิญกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาซ้ำเติมวิกฤตโควิด ส่งผลให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าการคาดการณ์ค่อนข้างมาก และล่าสุดสถานการณ์บริเวณช่องแคบไต้หวันได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการค้าโลกที่สูงมากยิ่งขึ้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้กำลังก่อตัวขึ้นเป็น Perfect Storm หรือ ‘มหาพายุ’ ที่เข้ามาปั่นป่วนเศรษฐกิจโลก และอาจลามเข้าสู่เศรษฐกิจไทย
คำถามคือ เศรษฐกิจไทยที่เริ่มจะฟื้นตัวจากพิษโควิดจะรับมือกับมหาพายุลูกนี้ไหวแค่ไหน แล้วนักธุรกิจมองเรื่องนี้อย่างไร มีแผนสำรองอะไรในการรับมือบ้าง ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปสำรวจกัน
‘ธนา’ มองเศรษฐกิจระยะสั้นยังไร้แสงสว่าง ห่วงปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมไทยจากมรสุมลูกใหญ่
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม Robinhood ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวล้อไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าสำหรับไทยคือ การมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือภาวะ K-Shaped ที่รุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเท่ากับว่านอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ดีแล้ว ความเหลื่อมล้ำจะเป็นปัญหาที่สองของไทย
“ในช่วง 1-2 ปีนี้จะเป็นช่วงที่มีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ จึงอยากให้ทุกคนระวังตัวและปรับตัวหาทางดิ้นรนเอาตัวรอดกันไปก่อน คิดว่าแสงสว่างในระยะสั้นคงยังไม่มี” ธนากล่าว
ธนากล่าวอีกว่า ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาได้สอนบทเรียนสำคัญให้กับภาคธุรกิจเอาไว้ว่า Cash is King ใครที่มีเงินสดจะเป็นผู้อยู่รอด ดังนั้นเมื่อมีแนวโน้มว่าวิกฤตจะยังดำเนินต่อไป ใครที่ยังไม่มีเงินสดก็อาจต้องเตรียมหาเอาไว้ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การเพิ่มทุน ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังเรื่องการควบคุมต้นทุน ไม่ขยายธุรกิจเกินตัว
“มรสุมข้างหน้าใหญ่หลวงนัก และเป็นสภาพที่เราไม่เคยเจอมาก่อนคือ ต้นทุนสูง ดีมานด์ไม่มี ปกติเราจะเจอแค่ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่รอบนี้เจอศึกสองด้าน ทุกคนต้องประคองตัวให้รอดในช่วงน้ำลงนี้ไปให้ได้ก่อน เพื่อรอจังหวะน้ำขึ้นใหม่อีกครั้ง” ธนากล่าว
‘ฐากร’ แนะ ธุรกิจเก็บคอ งอเข่า กำเงินสด ลดค่าใช้จ่าย ในภาวะเงินเฟ้อสูง ตลาดเงินผันผวน
ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจลูกค้าบุคคล ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ประเมินว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเผชิญกับปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งจากสภาวะเงินเฟ้อและความผันผวนของตลาดเงิน แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจจะไม่ย่ำแย่จนเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำลังจะมาถึง จะช่วยชะลอเงินเฟ้อและลดความผันผวนของค่าเงินบาทได้ระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันการเปิดประเทศของไทยก็จะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การผลิตในภาคเกษตรของไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้พลวัตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของไทยในระยะต่อไปจะปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ในระยะที่ความผันผวนของตลาดการเงินและปัญหาเงินเฟ้อข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงยังไม่คลี่คลาย การดำเนินกลยุทธ์หรือวางแผนธุรกิจจะยังต้องทำด้วยความระมัดระวัง
“ผมมีคาถาสำหรับการปรับตัวไม่ว่าจะธุรกิจใหญ่หรือเล็กในช่วงนี้คือ เก็บคอ งอเข่า กำเงินสด ลดค่าใช้จ่าย จะใช้เงินทำอะไรต้องระมัดระวัง การลงทุนต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคุ้มค่าหรือเปล่า เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังมีความอ่อนไหว” ฐากรกล่าว
‘เศรษฐา’ แนะ ธุรกิจต้องมีวินัยการเงิน กังวลการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มภาระให้ประชาชน
เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) มองว่า อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการในสหรัฐฯ เพิ่มสูงมาก ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ต่อเนื่องกัน จนนำไปสู่ความกังวลเรื่อง Recession แต่ส่วนตัวมองว่าพื้นฐานธุรกิจของสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง
ผมไม่มั่นใจว่า Recession จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่จากการแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักธุรกิจหลายท่าน เชื่อว่าน่าจะยังหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการพีคของเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นจริงและทำให้ Recession ไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม Recession ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะโลกเราเชื่อมต่อกันหมด ขณะที่ไทยก็ยังต้องพึ่งพาต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวและส่งออก
การท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของเศรษฐกิจ หาก Recession เกิดขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวอาจกระทบบ้าง แต่ผมยังมองโลกแง่ดี เพราะโควิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้คนอยากออกไปท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกก็สำคัญ แม้ว่าสินค้าไทยจะเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ แต่หากเกิด Recession ก็อาจทำให้อุปสงค์ลดลงไปบ้าง แต่เงินบาทที่อ่อนค่าก็จะช่วยให้สินค้าไทยน่าดึงดูดมากขึ้น
ส่วนตัวยังมีความหวังต่อการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แม้ไตรมาส 3 จะเป็นโลว์ซีซัน แต่ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงพีคของการท่องเที่ยว
“การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ จะหยุดลงทุนเลยคงไม่ได้ แต่เรื่องของกระแสเงินสดหรือความไม่แน่นอนของธุรกิจก็เป็นอะไรที่ต้องจับตามอง และวินัยทางการเงินก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงละเอียดอ่อน
“เงินเฟ้อในต่างประเทศเกิดจาก Demand Pull การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ดีเช่นนั้น และเงินเฟ้อของไทยเกิดจาก Cost Push หลังจากที่มีภาวะสงครามและราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น เพราะฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะเพิ่มภาระให้กับประชาชน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องคิดเรื่องนี้ให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเดือดร้อนกันหนัก”
‘ณัฐพงศ์’ ยังมองบวกต่อเศรษฐกิจไทย จากการกลับมาเปิดเมือง
ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีทั้งความท้าทายและโอกาส ที่ผ่านมาประเทศไทยเจอพายุ 2 ลูก ลูกแรกคือการล็อกดาวน์ ซึ่งทั้งโลกเจอพร้อมกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
แต่เมื่อพายุทำท่าจะจบลง และทุกคนเตรียมวิ่งทะยานไปสู่การเติบโต พายุลูกที่สองก็เข้ามาคือ ‘พายุต้นทุน’ ทั้งด้านการเงินและวัตถุดิบที่สูงขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย แต่ผมคิดว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาสอนให้เราปรับตัวกับความไม่แน่นอนทั้งหลายที่เกิดขึ้น
ส่วนของโอกาสคือ การกลับมาเปิดเมือง เปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวกำลังจะกลับมาจำนวนมาก ช่วยให้ดีมานด์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทุกกลุ่มคงต้องขับเคลื่อนไปอย่างระมัดระวัง
“ส่วนตัวยังมองในเชิงบวก แต่ระมัดระวัง สำหรับภาคอสังหา บ้านเดี่ยวเป็นโซลูชันของผู้คนในช่วงโควิดที่ผ่านมา จากการที่คนต้องการพื้นที่มากขึ้น แต่ปีนี้ก็มีความท้าทายคือซัพพลายออกมามาก แต่ก็ยังมีกลุ่มบ้านราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทยังขายได้ดีอยู่”
‘บลูบิค กรุ๊ป’ แนะ ควบคุมค่าใช้จ่ายและรักษาเสถียรภาพบริษัท
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเกิด Recession เนื่องจากมองเห็นความอ่อนแอเชิงเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด ซึ่งกดดันในเรื่องการระดมทุนของภาคธุรกิจค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมาผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิด Supply Chain Disruption
รวมถึงนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศที่กำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้นมองว่าเป็นภาพเดียวกับเศรษฐกิจโลก เพราะปัจจุบันโลกเชื่อมต่อกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ามีโอกาสที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่เกิดขึ้น จากปัจจัยบวกที่เริ่มเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ดีมานด์ในหลายอุตสาหกรรมเริ่มดีขึ้น เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการที่ก่อนหน้านี้อ่อนแอลงอย่างมาก
ในการปรับตัวรับมือความเสี่ยงนี้ เรื่องแรกคือการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล แต่ต้องไม่ต่ำเกินไปจนทำให้องค์กรไม่สามารถลงทุนได้ โดยมองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การลงทุนเพื่อธุรกิจเดิมๆ ควรลดลง และเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อให้องค์กรสามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในระยะยาว
เรื่องที่สองคือ การรักษาเสถียรภาพของบริษัทให้ได้ เช่น การมีแผนสำรองสำหรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารองค์กรวางแผนให้รัดกุม เพื่อให้เกิดผลกระทบขึ้นกับบริษัทในเวลาเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด โดยอาจมีการจัดทำ Stress Test เพื่อดูว่าธุรกิจจะรับความเสี่ยงหรือผลกระทบต่างๆ ได้มากที่สุดแค่ไหน
เรื่องที่สามคือ การรักษาบุคลากรที่มีความสำคัญกับธุรกิจเอาไว้ แม้ว่าสถานกาณ์กำลังคับขันและกดดันให้บริษัทเร่งลดค่าใช้จ่ายก็ตาม
‘CPN’ หวังปลดล็อกโควิด ช่วยดันเศรษฐกิจฟื้นตัว ลุ้นเลือกตั้งปลุกกำลังซื้อ
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังรับแรงกดันจากปัจจัยลบที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อ และวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดหลักๆ ว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องเงินบาทอ่อนค่าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ก็มีทั้งเชิงบวกแและลบคือ เป็นผลบวกต่อกลุ่มส่งออก แต่เป็นปัจจัยลบต่อผู้นำเข้าที่อาจถูกซ้ำเติมจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ดังนั้นในระยะสั้นจึงมองว่า ยังต้องจับตามองเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปี 2565 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและเติบโตต่อได้
นอกจากนี้ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้ดีหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดในประเทศจีน ซึ่งหากปลดล็อกเรื่องการจำกัดการเดินทางได้ในปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทยก็จะดีขึ้นอย่างชัดเจน
“การท่องเที่ยวเป็นเอนจิ้นสำคัญในการเพิ่มรายได้ ก็มีแนวโน้มที่จะปลดล็อกในสิ้นปีนี้ ก็ต้องติดตาม” ดร.ณัฐกิตติ์ กล่าว
สำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือความเสี่ยงนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนควรทำเป็นสิ่งแรกคือ การประหยัด ลดต้นทุน และหารายได้จากทางอื่น ซึ่งทางกลุ่ม CPN ก็พยายามหารายได้เพิ่มจากหลายช่องทาง ทั้งนี้ กลุ่ม Shopping Mall ได้อานิสงส์เชิงบวกในตอนนี้ เพราะผู้คนอยู่บ้านมากว่า 2 ปี พอสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้คนก็กลับมา นักท่องเที่ยวก็กลับมา
“แต่เราก็ระมัดระวังเรื่องของต้นทุนสินค้า เรื่องของต้นทุนการให้บริการ เราจะคอนโทรลอย่างไรเพื่อจะเมนเทนในเรื่องของกำไรของเราไว้” ดร.ณัฐกิตติ์ กล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 4 อุปนิสัย’ ที่ทำให้คนรวย ‘รวยยิ่งขึ้น!’ บทสรุปจากการสัมภาษณ์เศรษฐี 225 คน
- เงินเฟ้อพุ่ง-ตลาดหุ้นซบเซา เอาเงินไปเก็บใน ของสะสม ชนิดไหนดี?
- ‘6 คนดัง’ กับคอลเล็กชันของสะสมส่วนตัวที่ราคาไม่ธรรมดา
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP