World Bank หรือ ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลก Global Economic Prospects ฉบับล่าสุด เมื่อวันอังคาร (11 มกราคม) ที่ผ่านมา โดยได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ลงเหลือ 4.1% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่ทางธนาคารโลกเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 4.3%
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การตัดสินใจหั่น GDP โลกในครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิดตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เกิดปัญหาติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และความเป็นไปได้ที่รัฐบาลนานาประเทศจะไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถควักเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
ขณะที่เมื่อมองเป็นรายประเทศ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 3.7%ในปีนี้ ปรับลดลงจากคาดการณ์ที่ 5.6% เมื่อปีก่อน ด้านจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 5.1% ลดลงจากระดับ 8% เมื่อปีที่แล้ว และทิศทางเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินหลักจะเติบโตได้ 4.2% ในปีนี้ ลดลงจากตัวเลขประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 5.2% เมื่อปีที่แล้ว
ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้ 2.9%ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดิมที่ 1.7% เมื่อปีก่อน ส่วนคาดการณ์ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ธนาคารโลกคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 4.6% ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่ 6.3% เมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดซึ่งตรวจพบครั้งแรกในปี 2020 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกในปีดังกล่าวหดตัวถึง 3.4% ก่อนที่จะฟื้นกลับมาได้ในปี 2021 หลังรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด บวกกับข่าวดีในเรื่องของวัคซีนโควิด ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งเมื่อปีก่อน ก่อนที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มย่ำแย่อีกครั้งในปี 2022 นี้
เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก ได้ออกโรงเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัจจัยท้าทายต่างๆ มากมาย ทั้งสถานการณ์การระบาดของโควิดกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินการคลังในสภาวการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะนี้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง: