×

ลึกซึ้งเรื่องผ้า ม่วนซื่นโฮแซวกับเสน่ห์อีสานใต้ ณ ชุมชนต้นแบบ ‘บ้านสนวนนอก’ จังหวัดบุรีรัมย์

17.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ‘บ้านสนวนนอก’ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขต อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ พัฒนาต่อยอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ จนได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน’ จากกระทรวงมหาดไทย
  • คนในหมู่บ้านเชื่อว่า ลูกสาวบ้านไหนสาวไหมไม่เป็น หรือ ผู้ชายบ้านไหนทำเครื่องจักสานข้าวของใช้เองไม่ได้ เป็นอันตกพุ่มหม้าย ไม่ได้แต่งงานแน่นอน ดังนั้น ผู้หญิงในหมู่บ้านจึงทอผ้าเป็นทุกคน และทอใช้เองตั้งแต่สมัยยังสาว ทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไปจนถึงซักฟอกและถักทอ

     ตั้งแต่เล็กจนโตเวลาเอ่ยถึงจังหวัดบุรีรัมย์ ชื่ออันดับแรกที่เข้ามาในหัวเลย คือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคาที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ของจังหวัดซึ่งกำลังถูกพิจารณาเป็นมรดกโลก จนกระทั่ง 5 ปีให้หลัง ทีมฟุตบอล ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ติดโผร่วมมาด้วย ใครที่ติดตามหรือเคยมาจังหวัดบุรีรัมย์จะรู้เลยว่าจังหวัดนี้เปลี่ยนไปมาก มีทั้งสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ สนามแข่งรถ รวมไปถึงโรงแรมหลากหลายระดับเข้ามาตั้งรกราก สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงประดิษฐ์มากกว่าเชิงวัฒนธรรม

     THE STANDARD ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ไปเยี่ยมชม ‘บ้านสนวนนอก’ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พัฒนาต่อยอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ จนได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน’ จากกระทรวงมหาดไทย

 

บรรยากาศบ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี

 

     บ้านสนวนนอก เป็นชุมชนโบราณที่มีขนาดเล็กเพียง 150 ครัวเรือน เดิมพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเป็นผืนป่าทึบที่มีต้นสนวนขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก คนในหมู่บ้านและคนภายนอกจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า ‘บ้านสนวนนอก’ ตามชื่อต้นไม้

 

น้องควาย ต้อนรับแขกดีมาก ใครไปก็ทักทาย

 

     ชาวบ้านที่นี่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น และยังดำรงชีพด้วยงานเกษตรกรรม ทำไร่ไถนาเป็นหลัก หมดหน้าน้ำเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็อาศัยรายได้จากงานจักสาน หัตถกรรม และการทอผ้าเสริมเข้ามา คนในหมู่บ้านเชื่อว่า ลูกสาวบ้านไหนสาวไหมไม่เป็น หรือ ผู้ชายบ้านไหนทำเครื่องจักสานข้าวของใช้เองไม่ได้ เป็นอันตกพุ่มหม้าย ไม่ได้แต่งงานแน่นอน ดังนั้น ผู้หญิงในหมู่บ้านจึงทอผ้าเป็นทุกคน และทอใช้เองตั้งแต่ยังสาว ทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไปจนถึงซักฟอกและถักทอ

 

ล้อมวงกินข้าวกลางวัน

 

     เอกลักษณ์ของผ้าไหมบ้านสนวนนอก คือ ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง ผ้าไหมลายดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีลายยกดอกพิกุล เป็นลายเอกลักษณ์ของบ้านสนวนนอก ลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความประณีตและงดงาม โดยใช้เทคนิคการควบเส้นในการปั่นด้าย ตามความเชื่อเรื่องความกลมเกลียวสามัคคีในครอบครัว ซึ่งไหมที่ถูกควบแล้วจะนำไปถักทอ เมื่อนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นจะทำให้เกิดลายเหลื่อมกันเป็นสีเหลืองคล้ายหางกระรอก เรียกว่า ‘กะนีว’ หรือ ‘ผ้าหางกระรอก’ ลักษณะของผ้ากะนีวนี้ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับ เมื่อนำไปส่องกับแดดจะแยกสีได้ชัดเจน

 

เส้นไหมที่ผ่านการควบเส้นแล้ว

 

     ผู้ใหญ่บ้านพาเราชมขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเก็บใบหม่อน ณ สวนปลูกหม่อน ซึ่งอยู่ในสวนตามบ้านต่างๆ หลังจากนั้นจึงพาเราไปดูการเลี้ยงตัวไหม สาวด้ายออกรัง ลองต้มซักฟอกย้อมไหม ไปจนถึงการทอ เวลาดูคุณป้าคุณยายทั้งหลายทำแล้วรู้สึกว่าง่ายแสนง่าย แต่พอลองทำจริงก็รู้เลยว่าต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นสำคัญ

 

เดินชมสวนหม่อน และลองเก็บใบหม่อน

เมื่อได้ใบหม่อนแล้วก็เอามาเลี้ยงไหม ขุนจนโต จนตัวเป็นสีเหลืองสุก ก็จะเริ่มทำรังเป็นดักแด้

รังไหมที่เตรียมไว้สาวไหมเป็นเส้นๆ

เวลาสาวก็จะเอาต้มลงหม้อ แล้วก็ใช้เครื่องปั่นด้ายสาวขึ้นมา

พอได้ไหมดิบก็เอาไปซักฟอกให้นุ่ม พร้อมนำไปใช้

มัดหมี่ทำลวดลายก่อนเอาไปทอเป็นผืนใหญ่

 

     นอกจากดูการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า ที่หมู่บ้านยังมีฐานให้เยี่ยมชมอีก 3 จุด คือ ฐานทำกระดิ่งหรือกระดึงที่เอาไว้ห้อยคอวัวหรือควาย ฐานจักสาน ที่เอาไม้ไผ่ ไม้สารพัดประโยชน์มาจักตอกเป็นเส้นๆ และฐานบ้านนก ของแต่งบ้านที่ผลิตขึ้นจากการทำกะลามะพร้าวมาประยุกต์ดัดแปลง

 

งานหัตถกรรม จักสาน

พิธีบายศรีสู่ขวัญ

 

     ตกเย็น ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเลี้ยงต้อนรับเราด้วยอาหารพื้นถิ่นนานาชนิด อาทิ แกงกล้วย ต้มไก่ใบหม่อน บวชบุก ยำดักแด้ รวมถึง ‘ขนมตดหมา’ ขนมพื้นบ้าน ลักษณะคล้ายขนมจาก ชื่อไม่น่าภิรมย์ แต่รสชาติอร่อยขัดกับชื่อมาก ทั้งยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ และการแสดงพื้นเมือง ‘รำกันตรึม’ บรรยากาศเฮฮา สนุกสนาน และอาหารอร่อยมาก

 

ยำดักแด้ มีโปรตีนสูง และมีฤทธิ์เป็นไวอากร้า ถ้ากินเกิน 20 ตัว

 

     สำหรับผ้าทอ ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมและงานหัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ พัด ของประดับตกแต่ง ส่วนใหญ่จะถูกนำมาวางขายให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ ณ บริเวณ ‘ตลาดโบราณ’ ซึ่งเปิดขายทุกวันเสาร์ หรือเมื่อมีคณะดูงานมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน

 

ตักบาตรยามเช้า

พระอุโบสถหลังเก่า วัดสนวนนอก

 

     ตลอดการท่องเที่ยวในหมู่บ้านสนวนนอก นอกจากจะได้มาเห็นกระบวนการทอผ้าไหมและวิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้านแล้ว ยังสามารถเยี่ยมชมและทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรยามเช้า แวะสักการะ ‘ศาลหลวงปู่อุดม’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นดั่งผู้คุ้มครองหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ใครจะมาจะไปต้องมาไหว้และบอกกล่าว หรือจะชมความงามของพระอุโบสถ ‘วัดสนวนนอก’ วัดสำคัญของชุมชนที่มีหลวงพ่อพระไม้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังเก่า

 

ชาวบ้านกำลังเก็บผักตบตรงสะพานยายชุน

 

     ปกติเวลาเราไปเที่ยวหมู่บ้านโฮมสเตย์ ต้องมาเป็นหมู่คณะจึงสามารถสัมผัสประสบการณ์ที่เอ่ยอ้างขึ้นมาได้ แต่สำหรับบ้านสนวนนอกนั้นต่างออกไป บ้านทุกหลังทำกิจกรรมต่างๆ จริง ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบนั้นจริงๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินไปชมหรือคุยกับชาวบ้านคนไหนก็ได้ แค่พกรอยยิ้มและคำแนะนำตัวนิดหน่อย ซึ่งชาวบ้านทุกคนล้วนแล้วแต่มีมิตรไมตรีที่ดีงาม พร้อมจะแนะนำ ให้ความรู้ และยินดีเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้อย่างเต็มใจ ซึ่งฉันรู้สึกชอบมาก และรู้สึกว่าเราได้สัมผัสประสบการณ์นั้นจริงๆ มากกว่าไปนอนโฮมสเตย์เล่นๆ แบบงงๆ โดยไม่ได้รับประสบการณ์อะไรกลับมาเลย

 

Photos: พลอยจันทร์ สุขคง

FYI
  • ‘ม่วน’ เป็นคำอีสาน แปลว่า ไพเราะ สนุก เมื่ออยู่ในวลี ‘ม่วนซื่นโฮแซว’ จะหมายความว่า ‘สนุกสนานเบิกบานใจ’

 

Getting There

  • มีการสายการบินเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ – บุรีรัมย์ – กรุงเทพฯ หลักๆ 2 สายการบิน ได้แก่ Air Asia และ Nok Air
  • ตั้งอยู่บนทางหลวงชนบทสายห้วยราช-กระสัง (ทล. 2477) ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยราช 2 กิโลเมตร และตัวเมืองบุรีรัมย์ประมาณ 12 กิโลเมตร ผู้ท่องเที่ยวสามารถเช่ารถจากสนามบิน หรือติดต่อชุมชนเพื่อส่งรถรางไปรับที่บริเวณตัวเมืองบุรีรัมย์ได้ (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)
  • GPS 14.936699, 103.182377

 

More Info

  • ติดต่อท่องเที่ยวได้ที่ ผู้ใหญ่บ้านบุญทิพย์ โทร. 08 5411 4435 หรือ คุณสำเริง โทร. 08 0472 4435 และสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ที่ ททท. สำนักงานสุรินทร์ (ดูแลสุรินทร์, บุรีรัมย์) โทร. 0 4451 4447-8
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X