การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) หรือ เวชศาสตร์จีโนม คือโฉมหน้าใหม่ของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทั่วโลก โดยเป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์หลากแขนงทั้งจากพันธุศาสตร์ ชีววิทยา และการแพทย์เข้าด้วยกัน มุ่งเน้นการศึกษาและวิเคราะห์ DNA ที่ปรากฏในเซลล์และโครโมโซมของสิ่งมีชีวิต กลายเป็นคลื่นเมกะเทรนด์ใหญ่ระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ เนื่องจากศักยภาพในการสร้างมูลค่าและคุณค่าในหลายมิติ
วานนี้ (9 สิงหาคม) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เปิดเวทีระดมผู้นำเทรนด์ด้าน Genomics ระดับโลกไว้ที่งานสัมมนาวิชาการเวชศาสตร์จีโนม ภายใต้หัวข้อ ‘หนทางสู่ชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี’ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์จีโนมใหม่ๆ โดยศาสตราจารย์ชั้นนำระดับโลก 4 ท่าน จากสถาบันที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา
ดร.จอร์จ เชิร์ช ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ขึ้นบรรยายในหัวข้อ ความพยายามและเทคโนโลยีด้านการฟื้นพันธุ์หรือการลบล้างการสูญพันธุ์ (De-Extinction Efforts and Technologies) ด้วยเทคโนโลยีพันธุศาสตร์ Genomics ถอดรหัสพันธุกรรมของช้างแมมมอธขนยาว แล้วนำไปใส่ในพันธุกรรมของช้างเอเชีย เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะทางชีวภาพคล้ายคลึงช้างแมมมอธ มีขนหนาขึ้น มีใบหูที่เล็กลง และทนความหนาวเย็นได้ดีขึ้น แถมยังสามารถทำให้งาช้างสั้นลงเพื่อป้องกันปัญหาการล่างาช้างได้อีกด้วย โดยลูกผสมระหว่างช้างและแมมมอธอาจมีชื่อว่า ‘Elemoth’ หรือ ‘Mammophant’
ความพยายามฟื้นคืนและปล่อยช้างแมมมอธที่ทนความหนาวเย็นได้ให้กลับเข้าไปในพื้นที่เขตทุนดรา อาร์กติก บริเวณขั้วโลกเหนืออีกครั้งของโครงการ Colossal นั้น เป็นไปด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการพยายามฟื้นคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศ และช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกรวน (Climate Change)
ในหัวข้อที่สอง ดร.โรเบิร์ต ซี. กรีน ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ (พันธุศาสตร์) Birgham and Woman’s Hospital and Harvard Medical School ขึ้นบรรยายต่อเรื่อง Newborn Whole Genome Sequencing หรือการอ่านลำดับ DNA ของทารกแรกเกิด เทคโนโลยีสุดล้ำที่ใช้อ่านรหัสพันธุกรรมและโครโมโซมทั้งหมดที่อยู่ในเซลล์ของทารก
ดร.โรเบิร์ต พยายามศึกษาและวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งหมดในเด็กแรกเกิดอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรคในอนาคตตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของชีวิต
ดร.โรเบิร์ต เปิดเผยข้อมูลจากโครงการ The BabySeq Project ว่า ในสหรัฐอเมริกามีเด็กราว 10.8 ล้านคนที่เป็นโรคทางพันธุกรรม แต่กลับกลายเป็นว่าเด็ก 98% ไม่ได้รับการระบุวินิจฉัยโรคตั้งแต่แรกเกิด
เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing) นี้ จึงปูทางให้เกิดการวางแผนการดูแลสุขภาพของทารกตั้งแต่แรกเริ่ม และใช้ข้อมูลพันธุกรรมจำเพาะบุคคลเพื่อป้องกันโรค ถือเป็นก้าวสำคัญของความก้าวหน้าทางการแพทย์เชิงป้องกัน (Preventive Medicine)
ดร.คริสโตเฟอร์ อี. เมสัน ศาสตราจารย์ด้านจีโนมิกส์ สรีรวิทยา และชีวฟิสิกส์ ที่ Weill Cornell Medicine ให้การบรรยายต่อในหัวข้อ การบำบัดไมโครไบโอมที่อาศัย Metagenomics เป็นหลัก เพื่อสุขภาพทางเดินอาหาร (Metagenomics-Guided Microbiome Therapies for GI Health) กล่าวคือ การวิเคราะห์และตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในลำไส้ของผู้ป่วย ด้วยเทคนิคเมตาจีโนมิกส์ (Metagenomics) เพื่อช่วยในการพัฒนาและการรักษาที่เกี่ยวกับระบบลำไส้ (GI Health) หรือระบบทางเดินอาหารในร่างกาย ทำให้รู้แนวทางในการรักษาและปรับสภาพของระบบลำไส้ ช่วยลดอาการของโรคทางเดินอาหาร ป้องกันโรคต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพทางเดินอาหารในระยะยาว
ดร.จีวุน ปาร์ค นักวิจัยปริญญาเอกสาขาสรีรวิทยา ชีวฟิสิกส์ และชีววิทยาระบบ ที่ Weill Cornell Graduate School ขึ้นเวทีพูดต่อในประเด็นเรื่อง การบูรณาการ Spatial Omics กับ Multi-Omics (Spatial Omics และ Multi-Omics Integration) เป็นสองกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม (Omics Data) ของเซลล์และเนื้อเยื่อในมิติที่แตกต่างกัน มุ่งเน้นการทำความเข้าใจความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตในมิติของพันธุกรรมและโปรตีนอย่างละเอียด เป็นศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาการแพทย์และการรักษาโรคเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้น
งานเสวนาครั้งนี้นับเป็นอีกเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทย จากการต่อยอดองค์ความรู้ด้านจีโนมิกส์ สู่การพัฒนาด้านเวชศาสตร์การป้องกัน รวมถึงการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
อ้างอิง: