จากข่าวรุ่นพี่ ม.2 รุมทำร้ายร่างกายเด็กหญิง ป.4 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พะเยา สะท้อนให้เห็นว่าการกลั่นแกล้งรังแกไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ของเด็กๆ เท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อย้อนไปดูสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนที่ก่อนหน้านี้กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า ‘มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น’
โดยเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันเด็กที่รังแกกันมีตั้งแต่ระดับอนุบาล และที่น่าห่วงคือ ขณะนี้เด็กเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียง่าย พ่อแม่และครูมีเวลาให้เด็กน้อย เด็กจึงเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่างๆ และไปใช้กับเพื่อน
โดยข้อมูลผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศพบว่า ร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ อีกร้อยละ 43 บอกว่า เคยถูกคนอื่นรังแก
“การรังแกกันหรือล้อเลียนกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้น และเป็นการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน มีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจร่างกายและคุณภาพชีวิตในระยะยาว นักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ทางด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สถาบันฯ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนไทย โดยจะเน้นที่กลุ่มเด็กระดับชั้นประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องเพื่อน การพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านศีลธรรมและการอยู่ในสังคมที่สำคัญ โครงการพัฒนาโปรแกรมครั้งนี้ มุ่งเน้นเพื่อการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เหมาะกับบริบทไทย สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร มีความเชื่อมต่อระหว่าง สธ. กับสถานศึกษา ครู ผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบ พร้อมใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษาหน้านี้
พญ.มธุรดากล่าวอีกว่า ในการลดปัญหาการรังแกในโรงเรียน จะต้องให้ความสำคัญทั้งกลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกรังแกสูงด้วย เช่น เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า เด็กพิการ กลุ่มเด็กนักเรียนเพศทางเลือก ซึ่งมีรายงานมักถูกรังแกมากเป็นพิเศษ และเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น ซึ่งมักพบว่า เป็นเด็กกลุ่มที่เป็นผู้รังแก ที่ผ่านมาประเทศไทยเองมีต้นทุนการดำเนินงานในเรื่องนี้อยู่บ้างแล้วจากองค์กร Path2 Health ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่ยังเป็นการดำเนินงานนำร่องในบางโรงเรียน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล