×

มท.1 แถลงความคืบหน้า 7 วัน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตึก สตง. ถล่ม เผยยังฟันธงสาเหตุไม่ได้ คาดสารตั้งต้นมาจากแบบ ต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกระยะ

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2025
  • LOADING...
building-collapse-update

วันนี้ (4 เมษายน) ที่กระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมด้วย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, พิศุทธิ์ สุขุม วิศวกรใหญ่, พรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร, เอนก ศิริพานิชกร ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง ถึงความคืบหน้าการสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักรถล่ม 

 

อนุทินกล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มีประชุมครบ 1 สัปดาห์ตามกรอบที่ได้วางไว้ เพื่อต้องการหาสาเหตุเบื้องต้น แต่สภาพหน้างานที่ยังต้องทำงานกอบกู้ชีวิตและหาผู้เสียชีวิต ในการเก็บตัวอย่างวัสดุเพื่อไปทดสอบยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และขณะเดียวกันใน 7 วันนั้นยังไม่สามารถจะหาข้อสรุปเกี่ยวสาเหตุที่ตึกถล่มแบบฟันฉับได้ และต้องให้ความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

 

ส่วนสาเหตุเบื้องต้นที่อาจจะเป็นสารตั้งต้นและนำไปสู่การตรวจสอบเชิงลึกต่อไป ในทางวิศวกรรมต้องไปดูที่การออกแบบ ต้องใช้เวลาวิเคราะห์เชิงลึก คงต้องจะใช้เวลาอีกสักพัก ขอให้มั่นใจว่ามาตรฐานทางวิศวกรรมที่มีการออกแบบให้อยู่ภายใต้กฎหมายแผ่นดินไหวและรับแรงสั่นสะเทือน เราตั้งเกณฑ์ไว้สูงมาก การออกแบบทุกประการที่มีอยู่ในประเทศไทย มีความเพียงพอที่จะทนต่อแผ่นดินไหว 

 

ขณะที่คุณภาพในการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลให้มากที่สุด แต่ภาวะตอนนี้ยังไม่สามารถนำชิ้นส่วนบางอย่างออกมาได้อย่างเต็มที่ ได้บอกกับหน้างานไว้ว่า วัสดุใดก็ตาม เช่น เหล็กที่ต้องการเก็บ เหล็กจะต้องอยู่ในเนื้อคอนกรีต ซึ่งได้แจ้งกับหน้างานไว้แล้วว่าควรจะเก็บชิ้นส่วนใดไว้ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อและสืบค้น จึงอาจจะต้องใช้เวลาอีกนิด

 

อนุทินยังกล่าวย้ำถึงการเยียวยาว่า ได้แจ้งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไว้แล้ว ให้หาการยกเว้นหลักเกณฑ์ เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้เสียชีวิตได้รายละ 29,700 บาท ผู้บาดเจ็บได้รายละ 4,000 บาท อาจจะเป็นกฎหมายเก่า จึงต้องขอยกเว้นหลักเกณฑ์

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้หารือกับอธิบดีกรมบัญชีกลางนอกรอบ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าการเยียวยาแบบนี้เรารับไม่ได้ เรามีงบช่วยเหลือฉุกเฉิน ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมเชียงราย บ้านเมืองเสียหายยังชดใช้ 10,000 บาทต่อครัวเรือน ขนาดบ้านยัง 50,000 บาท คนก็ต้องสูงกว่านั้น ท่านก็ทราบดี จะต้องไปหาช่องที่ให้การช่วยเหลือมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้น ตนเองคงจะเติม 0 อีกหลายตัว

 

ทั้งนี้จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงวิศวกรรมเพื่อหาสาเหตุ ตึกนี้ได้รับการออกแบบให้คอลิฟต์อยู่ข้างหลังแทนที่จะอยู่ตรงกลาง ทำให้เกิดแรงบิด ดังนั้นการใส่ค่าสัดส่วนความปลอดภัย (Safety Factor) ต้องได้รับการตรวจสอบว่าใส่เพียงพอหรือไม่ หากไปบอกว่าเขาใส่ไม่เพียงพอ บริษัทเขาจะยุ่ง ซึ่งก่อนจะกล่าวหาอะไรใครต้องไปคำนวณว่าแต่ละชั้นใส่ Safety Factor ถูกหรือไม่ การต่อต้านแรงบิด แรงเฉือน รวมถึงทุกแรงที่มีทำถูกหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบนานระดับเดือน

 

ขณะที่ เอนก ศิริพานิชกร ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ กล่าวว่าการประชุมในวันนี้มี 4 ประเด็น 

 

  1. การให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยมีกฎหมายมาตรฐานที่จะคุ้มครองอาคารจากเหตุแผ่นดินไหว

 

  1. การตรวจสอบออกแบบอาคาร สตง.ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

 

  1. การตรวจสอบการก่อสร้างนั้น เนื่องจากอาคารนั้นได้พังถล่มลงมาหมดแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถทราบว่าการออกแบบเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ แต่หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบผ่านเอกสาร รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

 

  1. ส่วนการตรวจสอบวัสดุ เช่น คอนกรีต ที่ใช้ล้วนมีกำลังที่แตกต่างกัน รวมถึงเหล็ก จะต้องดูว่าผลิตจากที่ไหน ได้รับใบอนุญาตหรือไม่

 

ส่วนกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเหล็กไปตรวจก่อนหน้านั้น เอนกกล่าวว่า ไม่ว่ากัน 

แต่การเก็บวัสดุจากด้านนอกอาจเป็นเหล็กที่มีการโค้งงอ อาจทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการออกแบบรวมถึงวิศวกรของไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising