×

พุทธศิลป์ในอัฟกานิสถาน และปัญหาที่น่ากังวลจากตาลีบัน

18.08.2021
  • LOADING...
Buddhist art in Afghanistan

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การเข้ายึดกรุงคาบูลของกลุ่มตาลีบันนี้ เสี่ยงที่ศิลปวัตถุและโบราณสถานต่างๆ จะถูกทำลายและถูกโจรกรรม แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาที่ตาลีบันบุกเข้าเมืองต่างๆ จะไม่มีการทำลายวัตถุในพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่มีใครไว้ใจ เพราะมีตัวอย่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่พระพุทธรูปแห่งบามิยันถูกระเบิดทำลายจากกลุ่มตาลีบัน 

 

  • ศิลปะคันธาระถือกำเนิดขึ้นจากการปะทะสังสรรค์กันระหว่างศิลปะและความเชื่ออันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำประติมากรรมเทพเจ้าของกรีกในยุคเฮเลนเนสติก ศิลปะจากเปอร์เซีย และความเชื่อในศาสนาพุทธของอินเดียในสมัยราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยเป็นพระพุทธรูปที่มีหน้าตาและเครื่องแต่งกายเป็นแบบกรีก

ในแวดวงโบราณคดีต่างเป็นกังวลและห่วงใยเป็นอย่างมากต่อการยึดกรุงคาบูลของพวกตาลีบัน เพราะเมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เต็มไปด้วยศิลปวัตถุอันล้ำค่าจำนวนถึง 8 แสนชิ้น และพื้นที่บางส่วนของอัฟกานิสถานยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรคันธาระ ซึ่งเป็นอาณาจักรแรกเริ่มที่สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย 

 

ดังนั้น การเข้ายึดนี้จึงเสี่ยงที่ศิลปวัตถุและโบราณสถานต่างๆ ถูกทำลายและถูกโจรกรรม แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาที่ตาลีบันบุกเข้าเมืองต่างๆ จะไม่มีการทำลายวัตถุในพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่มีใครไว้ใจ เพราะมีตัวอย่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่พระพุทธรูปแห่งบามิยันถูกระเบิดทำลายจากกลุ่มตาลีบัน 

 

ผมยังไม่เคยมีโอกาสเข้าไปอัฟกานิสถาน เพราะอย่างที่ทราบกัน มีความเสี่ยงอยู่มาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เห็นจากข่าวดราม่ากันไปแล้ว แต่พื้นที่ของอาณาจักรคันธาระที่เคยไปสัมผัสคือที่อยู่ในเขตประเทศปากีสถาน ซึ่งในช่วงที่ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนนั้น บางจุดต้องมีทหารคุ้มกัน เพราะพวกตาลีบันเคยเข้ามายึดเป็นที่มั่น แม้ว่าในช่วงที่ไปนั้นจะสงบแล้วก็ตาม แต่ทหารคุ้มกันก็บอกว่าเราไม่อาจไว้ใจใครได้ ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถานดีขึ้นจะได้มีโอกาสไปสักครั้ง แต่ดูแล้วคงยากและใช้เวลาอีกนาน 

 

ทำไมศิลปะพุทธศาสนาแรกเริ่มจึงถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งพระองค์ได้กรีฑาทัพเข้ามายังดินแดนนี้เมื่อ 327 ก่อนคริสตกาล คราวนี้เวลาที่จะเดินทางเข้าอินเดียจำต้องเดินผ่านช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) ซึ่งเป็นช่องเขาหลักที่ใช้กัน โดยตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศอัฟกานิสถานและปากีสถาน คือ ระหว่างกรุงคาบูลและกรุงเปชวาร์ และช่องเขานี้ก็เป็นของเทือกเขาฮินดูกูช และมีแม่น้ำสินธุเป็นแม่น้ำสำคัญ จึงกลายมาเป็นชื่อของประเทศอินเดียในที่สุด

 

Buddhist art in Afghanistan

พระพุทธรูปแบบคันธาระ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน (อ้างอิง: christophe amory / Pinterest)

Buddhist art in Afghanistan

พระพุทธรูปแบบคันธาระในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน (อ้างอิง: www.buddhistdoor.net/news/exquisite-ancient-buddha-image-from-mes-aynak-to-be-exhibited-at-national-museum-of-afghanistan)

 

นอกเหนือไปจากความรู้สึกที่อยากเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แล้ว แรงจูงใจที่ทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงต้องการยึดครองอินเดียอีกส่วนหนึ่งคือ การเข้าควบคุมเส้นทางการค้าสายไหม (Silk Roads) ที่คึกคักระหว่างอินเดีย จีน เปอร์เซีย และชนเผ่าเร่ร่อน ซึ่งสินค้าที่พวกกรีกและอียิปต์รับไปก็มาจากเส้นนี้ ทำให้ในเขตเมืองคาบูล และเมืองพักห์แมน (ติดกับคาบูล) หรือที่พวกกรีกเรียกว่า ‘บากรัม’ (Begram) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์กุษาณะ เต็มไปด้วยโบราณสถานสมัยคันธาระ 

 

เช่นเดียวกันกับทางเหนือของกรุงคาบูล เมื่อข้ามภูเขาฮินดูกูชไปจะเป็นเขตเมืองบักห์ลาน (Baghlan) ซึ่งมีเมืองโบราณสำคัญคือ ไอคานุม (Ai Khanum) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของนครรัฐแบกเตรีย เจริญขึ้นมาได้จากเส้นทางการค้าสายไหมที่ลงมาจากทางเหนือที่เชื่อมต่อกับจีนทางมณฑลซินเจียง โดยมีปลายทางที่กรุงซีอาน บริเวณนี้จึงพบศิลปวัตถุล้ำค่ามากมาย และยังเป็นเหมืองทองคำ ทับทิม และอื่นๆ อีกมาก 

 

Buddhist art in Afghanistan

หัวเข็มขัดที่พบที่เมืองไอคานุม เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน (อ้างอิง: AiKhanoumPlateSharp / wikipedia

Buddhist art in Afghanistan

หัวเสาแบบโครินเธียน พบที่เมืองไอคานุม เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถาน (อ้างอิง: CapitalSharp / wikipedia)

 

ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ศิลปะคันธาระถือกำเนิดขึ้นจากการปะทะสังสรรค์กันระหว่างศิลปะและความเชื่ออันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำประติมากรรมเทพเจ้าของกรีกในยุคเฮเลนเนสติก ศิลปะจากเปอร์เซีย และความเชื่อในศาสนาพุทธของอินเดียในสมัยราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยเป็นพระพุทธรูปที่มีหน้าตาและเครื่องแต่งกายเป็นแบบกรีก กำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6-10 หรือหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วราว 500 ปี (หมายเหตุ ประเด็นอาณาจักรใดสร้างพระพุทธรูปเป็นครั้งแรกนี้มีการถกเถียงกันในวงวิชาการ แต่ผู้เขียนโน้มเอียงไปทางคันธาระ) 

 

ด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมระดับโลกนี้ นักอนุรักษ์และนักโบราณคดีจึงเป็นกังวลกันว่าศิลปวัตถุพวกนี้จะถูกลักลอบนำไปขายยังตลาดค้าโบราณวัตถุ หรือสถานประมูล (Auction House) เพราะถ้าชิ้นสวยๆ อาจมีราคาหลักล้านหรือหลายสิบล้าน ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้นจริงๆ อย่างแน่นอน เพราะตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมาที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปตั้งฐานทัพอยู่ในอัฟกานิสถานและสู้รบกับตาลีบันนั้นได้มีโบราณวัตถุนี้หลุดเข้าไปในตลาดพวกนี้ กระทั่งในไทยเราเองก็ได้ข่าวว่ามีหลุดเข้ามาเช่นกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และมักเกิดขึ้นเสมอในสงครามและพื้นที่ของความขัดแย้ง 

 

อย่างไรก็ตาม อาจมีโชคดีอยู่บ้างที่ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่เทคโนโลยีและโลกดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีภาพถ่ายและภาพเสมือนจริงของศิลปวัตถุและโบราณสถานในอัฟกานิสถานไว้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการเร่งสำรวจทางโบราณคดีและเก็บกู้ศิลปวัตถุไว้ได้จำนวนหนึ่ง ทำให้มนุษยชาติในอนาคตไม่ต้องสูญเสียอารยธรรมไปอย่างน่าเสียดาย 

 

เท่าที่ดูจากข่าว เห็นว่ามีหน่วยงานของสหประชาชาติและอื่นๆ พยายามเจรจากับกลุ่มตาลีบัน เพื่อขอนำโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถานไปเก็บรักษาไว้ แต่ในความเห็นส่วนตัวนั้นก็คงยาก เพราะเคยมีการเจรจาทำนองนี้มาก่อนแต่ไม่สำเร็จ ด้วยความเชื่อของกลุ่มคนพวกนี้ที่ต้องการสร้างรัฐศาสนาใหม่ จึงจำเป็นต้องทำลายร่องรอยของศาสนาเก่าทิ้งเสีย อีกทางหนึ่งที่มีคือเจรจากับกลุ่มทุนชาติต่างๆ ที่เข้าไปทำเหมืองแร่ในเขตนั้นเผื่อจะมีช่องทางเจรจาได้บ้าง แต่ก็ดูจะเป็นเพียงความหวังอันริบหรี่ 

 

แต่ทั้งหมดนี้เองที่ช่วยสะท้อนให้เห็นว่างานด้านโบราณคดีและอนุรักษ์เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรให้การสนับสนุนและเร่งทำให้เร็วขึ้น เพราะทุกวันนี้นอกไปเหนือจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างกรณีของอัฟกานิสถานแล้ว สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากปัญหาโควิดและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการทำลายแหล่งโบราณคดีขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่แพ้กันครับ 

 

อนึ่ง บทความนี้ไม่ได้มีความต้องการชี้ให้เห็นว่าศาสนาอิสลามเป็นสาเหตุของการทำลายวัตถุทางศาสนาของศาสนาพุทธ เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตัวศาสนา แต่เป็นกลุ่มบุคคลที่ตีความทางศาสนา และปัญหาทางการเมืองภายในของอัฟกานิสถานเองที่มีความซับซ้อน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X