×

พระพุทธรูปคือผู้หญิง ไม่จำเป็นต้องเป็นชาย และยังเกี่ยวพันกับลัทธิบูชาบรรพบุรุษ

22.08.2022
  • LOADING...
พระพุทธรูปคือผู้หญิง

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ด้วยภาวะที่มีลักษณะที่ไร้เพศ ทำให้พระพุทธรูปสามารถเป็นตัวแทนบางอย่างได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงไปพร้อมกัน ดังนั้นเมื่อเข้ามาในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือ ‘แม่เป็นใหญ่’ (Matriarchy) จึงทำให้เกิดการผสมผสานความเชื่อใหม่เข้ากับความเชื่อดั้งเดิม และจัดวางลื่นไหลไปตามบริบทต่างๆ 
  • ถ้าพูดกันแบบรวบรัดย่อมสะท้อนความเชื่อเป็นพุทธปนผี ที่ผู้หญิงเคยถูกให้ความสำคัญในสังคมดั้งเดิม จนเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามา ส่งผลให้ผู้หญิงถูกกันไปในอีกปริมณฑลหนึ่ง ผู้หญิงจึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาแทน  
  • เป็นไปได้ว่าการประสานจิตวิญญาณของผู้หญิงไปยังพระพุทธรูปนี้เกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมในอุษาคเนย์ เพราะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้จิตวิญญาณ หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ขวัญ’ สามารถส่งผ่าน (Transmit) ไปสู่ ‘ร่าง’ (Body) ทำให้ร่างกายนั้นหมดความสำคัญ แต่วิญญาณกลับเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นการบูชาพระพุทธรูปที่เป็นพระลาก สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชาย-หญิงอีกทางหนึ่ง

มีอยู่วันหนึ่ง ผมเดินเข้าไปเที่ยวบริติช มิวเซียมที่กรุงลอนดอน มีเด็กคนหนึ่งถามแม่ว่า พระพุทธรูปนี้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แม่ก็ตอบหนูน้อยว่า เป็นผู้ชาย เด็กคนนั้นก็บอกว่าเป็นผู้ชายแล้วทำไมไม่มีตรงนั้น แม่ก็ตอบไม่ได้ ซึ่งสำหรับผมแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะทั้งสองเป็นชาวอังกฤษ สำเนียงมันบอก เดาว่าคงเป็นชาวคริสต์ 

 

เรื่องนี้ทำให้ผมต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองถึงความคุ้นชินกับพระพุทธรูปว่า ถ้าหากเราไม่รู้จักพระพุทธศาสนามาก่อนนั้น แท้จริงแล้วเราจะมองพระพุทธรูปเป็นชายหรือหญิง ประเด็นเรื่องความเป็นชายหรือหญิงนี้สำคัญ เพราะเป็นสิ่งกำหนดนิยามในเรื่องความงาม อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปในสังคมไทยอีกด้วย 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา รูปร่างหน้าตาของพระพุทธเจ้านั้นถือเป็นความงามตามอุดมคติ สร้างขึ้นตามคัมภีร์กำหนดให้มีลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการ และอนุพยัญชนะ (รายละเอียดย่อยๆ) อีก 80 ประการ ไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าความงามนี้มาจากไหน แต่หนึ่งในบรรดาลักษณะดังกล่าวคือ พระพุทธเจ้ามีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก หมายความว่า มีของลับเข้าฝัก ไม่ได้ปรากฏออกมาดังเช่นคนทั่วไป อีกทั้งยังมีรูปร่างที่บอบบางแต่แข็งแรงยิ่งกว่าวัวเหนือมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้รูปร่างของพระพุทธเจ้านั้นมีลักษณะที่เป็น ‘Non-Binary’ หรือคล้ายกับผู้หญิงมากกว่าจะเป็นผู้ชาย (John Powers, 2009) ความไร้เพศนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงภาวะของการพ้นจากกามราคะ หรือให้มีความสนใจกับจิต (Mind) มากกว่าร่างกาย (Body) ซึ่งถือเป็นหลักคิดสำคัญของการสร้างพระพุทธรูปอย่างหนึ่ง

 

เข้าใจว่าด้วยภาวะที่มีลักษณะที่ไร้เพศเช่นนี้เอง ทำให้พระพุทธรูปสามารถเป็นตัวแทนบางอย่างได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงไปพร้อมกัน ดังนั้นเมื่อเข้ามาในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือ ‘แม่เป็นใหญ่’ (Matriarchy) จึงทำให้เกิดการผสมผสานความเชื่อใหม่เข้ากับความเชื่อดั้งเดิม และจัดวางลื่นไหลไปตามบริบทต่างๆ 

 

ศาสตราจารย์ ดร.แอชลีย์ ทอมป์สัน (Ashley Thompson) แห่ง SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้ชี้ให้เห็นประเด็นว่าพระพุทธรูปที่เคารพบูชากันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นเพศชายอย่างเดียว แต่ยังเป็นรูปเคารพที่เป็นตัวแทนของเพศหญิงไปพร้อมกัน หรืออยู่ในภาวะที่เรียกว่า ‘Coexistence’ คือการอยู่ร่วมกันในเวลาเดียว ทำให้เกิดภาวะทวิลักษณ์ขึ้นมา 

 

กรณีที่น่าสนใจคือที่กัมพูชา มีศาลแห่งหนึ่งเรียกกันว่า ‘ศาลหลักเมือง’ หรือ ‘ศาลของพระองค์เจ๊กพระองค์จอม’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสององค์ โดยมีประวัติศาสตร์เล่ากันมาว่า องค์เจ๊กเป็นพี่ องค์จอมเป็นน้อง ทั้งคู่เป็นสุภาพสตรี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง อยู่มาวันหนึ่งหลังจากไปทำบุญ พอกลับมาบ้านนอนหลับไปเฉยๆ ไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย บิดา-มารดาเสียใจมาก ด้วยความอาลัยอาวรณ์ลูกสาวทั้งสองที่จากไปโดยมิได้สั่งเสีย ทั้งบิดา-มารดาจึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์ตามชื่อลูกสาว ด้วยตำนานดังกล่าวจึงทำให้พระรูปทั้งสองนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Neang Chek Neang Chum’ หรือ นางเจ๊กนางจุม 

 

ศาลของพระองค์เจ๊กพระองค์จอมตั้งอยู่หน้าพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในเมืองเสียมเรียบ นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกด้วยว่า ครั้งหนึ่งฝรั่งเศสต้องการจะยกพระพุทธรูปทั้งสองนี้ไป แต่ก็ไม่สามารถยกไปได้ และต่อมาในสมัยเขมรแดงก็ไม่ถูกทำลาย จึงยิ่งทำให้เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปนี้มากขึ้นไปอีก  

 

พระพุทธรูปคือผู้หญิง

ชาวกัมพูชากำลังบูชาพระองค์เจ๊กพระองค์จอม

 

เมื่อไม่นานมานี้ นพ.บัญชา พงษ์พานิช นักพัฒนาทางวัฒนธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ได้สร้างพระลากแม่ยุพาขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของ ยุพา บวรรัตนารักษ์ ผู้ล่วงลับ ซึ่งผมเฝ้าติดตามดูกระบวนการสร้างนี้มานาน ประกอบกับทุนเดิมที่สนใจประเด็นเรื่องพระลากด้วย เพราะมีความพิเศษที่สะท้อนประเด็นเรื่องเพศสภาวะ

 

ทางภาคใต้ของไทย มีพระพุทธรูปอยู่กลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘พระลาก’ ทำเป็นพระพุทธรูปประทับยืน โดยมากมักเป็นปางอุ้มบาตร สร้างกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเป็นอย่างช้า ทุกวันออกพรรษา หรือวันเทโวโรหณะ จึงจะทำออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาสักครั้งหนึ่ง โดยจะเชิญประทับในเบญจา (บุษบก) เพื่อสรงน้ำ จากนั้นจึงทำการชุมนุมเทวดา และอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอวยชัยให้พร เพื่อกล่าวสรรเสริญพระลาก ถวายเครื่องทรงและกระยาหาร เจิมพนมพระ (พาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก) และผูกผ้าคอพญานาคที่หัวเรือพระ เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระ ก่อนที่จะอาราธนาพระลากขึ้นพนมพระ อนึ่ง พระครูเหมเจติยาภิบาล วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ได้ให้ข้อสังเกตด้วยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระลากเป็นผู้หญิงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเรือที่ลากพระนั้นมีแม่ย่านางสถิตอยู่ 

 

แต่ที่พิเศษและน่าสนใจคือ ก่อนที่จะเชิญพระลากขึ้นเบญจา จะมีการแต่งตัวพระลากด้วยเครื่องแต่งกายแบบผู้หญิง มีเรื่องเล่าว่า การเปลี่ยนเครื่องทรงของพระลากนี้ไม่ใช่ใครจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ผู้เปลี่ยนจะต้องเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย ยศไกร กาญชนะชัย ช่างศิลป์รุ่นใหม่ชาวลานสกา ศิลปินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สาขาศิลปะไทย ให้สัมภาษณ์กับผมว่า “การจะนุ่งจะห่มในพิธีกรรมเดือนหกเดือนสิบเอ็ดนั้นต้องมีข้าพระเป็นผู้ทำ บางองค์ต้องขึงผ้าราวรอบมิให้ผู้ชายเข้าไปก็มี เพราะถือเป็นสตรีเพศแก้ผ้า เวลาผลัดก็ให้ผู้หญิงผลัดถวาย” เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้เครื่องแต่งกายของพระลากประกอบไปด้วยผ้านุ่งสวยงามวิจิตร เสื้อคลุมสีสันสดใส บางองค์เป็นลายลูกไม้ สวมผ้าคล่องคอยาวห้อยลง ที่คอและข้อมือเต็มไปด้วยเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอไข่มุก สร้อยทอง และกำไล 

 

การแต่งกายและประดับอะไรต่อมิอะไรเหล่านี้อาจทำให้ชวนให้นึกถึงคติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งเกี่ยวพันกับคติความเชื่อเรื่องจักรพรรดิราช หรือมหาชมพูบดี อันเป็นเรื่องกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชทรมานท้าวมหาชมพูผู้เป็นมิจฉาทิฐิ จนเลื่อมใสออกบวชเป็นพระอรหันต์ อย่างไรก็ตาม คติการสร้างพระลากนั้นไม่เกี่ยวกับคติจักรพรรดิราช 

 

พระพุทธรูปคือผู้หญิง

ภาพแสดงกระบวนการสร้างพระลากแม่ยุพา และเปรียบเทียบกับแม่ยุพาภายหลังสร้างพระลากแล้วเสร็จ

ภาพ: เฟซบุ๊กของ นพ.บัญชา พงษ์พานิช

 

พระพุทธรูปคือผู้หญิง

พระลากแม่ยุพาที่สร้างแล้วเสร็จ

ภาพ: เฟซบุ๊กของ นพ.บัญชา พงษ์พานิช

 

เมื่อแม่ยุพา บวรรัตนารักษ์ เสียชีวิต นพ.บัญชา พงษ์พานิช จึงได้สร้างพระลากขึ้นเพื่ออุทิศและเป็นตัวแทนของแม่ยุพา ขั้นตอนจึงเริ่มต้นจากการร่างแบบให้พระพุทธรูปมีเค้าโครงใบหน้าคล้ายกับแม่ยุพา จากนั้นจึงทำหุ่นขึ้นมา แล้วบุด้วยเงินเป็นชิ้นๆ นำมาประกอบกัน และมีรัศมีเคลือบด้วยทองคำบริสุทธิ์ ที่สำคัญยังมีการนำอัฐิของแม่ยุพาบรรจุไปในองค์พระลากอีกด้วย ตลอดกระบวนการสร้างนี้มีหลายฝ่ายร่วมกันทำบุญสนับสนุน ที่สำคัญด้วยคือ โครงการวิจัย ‘ช่างศิลป์ถิ่นนคร’ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรการวิจัย ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สถาบันของวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ‘ธัชชา’ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

 

พระพุทธรูปคือผู้หญิง

พระลาก พระแม่ชุม ที่วัดท่าช้าง จ.นครศรีธรรมราช 

ภาพ: https://www.facebook.com/104761147609574/photos/a.104795630939459/151973526221669/

 

มีอีกตัวอย่างหนึ่งเป็นตำนานของพระลากที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือ พระแม่ชุม แห่งวัดท่าช้าง ขอเล่าสั้นๆ นานมาแล้ว นางชุมและนายสุวรรณเป็นคู่รักกัน อยู่มาวันหนึ่งเกิดโรคระบาด ทำให้นางชุมตาย จากนั้นนายสุวรรณก็ตายตาม พ่อแม่ของทั้งสองที่เป็นเศรษฐีจึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของทั้งสองคน องค์หนึ่งเป็นพระทรงเครื่องน้อยแบบอยุธยาตอนปลาย เป็นตัวแทนของนายสุวรรณ อีกองค์เป็นพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง เป็นตัวแทนของนางชุม ทำให้พระลากพระแม่ชุมห่มสไบพร้อมกับเครื่องประดับต่างๆ 

 

ทั้งสองกรณีนี้ถ้าพูดกันแบบรวบรัดย่อมสะท้อนความเชื่อเป็นพุทธปนผี ที่ผู้หญิงเคยถูกให้ความสำคัญในสังคมดั้งเดิม จนเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามา ส่งผลให้ผู้หญิงถูกกันไปในอีกปริมณฑลหนึ่ง ผู้หญิงจึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาแทน แต่ในขณะเดียวกันด้วยความเชื่อดั้งเดิมก็ทำให้พระลากที่สร้างขึ้นเป็นตัวแทนของผู้หญิง คติความเชื่อนี้ไม่ปรากฏเฉพาะพระลาก แต่ยังพบได้จากพระพุทธรูปสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา ที่มักมีจารึกชื่อของผู้สร้างพระที่เป็นผู้หญิง 

 

เป็นไปได้ว่าการประสานจิตวิญญาณของผู้หญิงไปยังพระพุทธรูปนี้เกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมในอุษาคเนย์ เพราะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้จิตวิญญาณ หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ขวัญ’ สามารถส่งผ่าน (Transmit) ไปสู่ ‘ร่าง’ (Body) ทำให้ร่างกายนั้นหมดความสำคัญ แต่วิญญาณกลับเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นการบูชาพระพุทธรูปที่เป็นพระลาก สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชาย-หญิงอีกทางหนึ่ง 

 

ปรากฏการณ์นี้ไม่พบในอินเดียหรือลังกาที่เป็นต้นทางของพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงเป็นลักษณะเฉพาะบางอย่างของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นประเด็นสำคัญด้วยในทางศิลปะก็คือ เราไม่อาจจะพิจารณาเฉพาะรูปแบบของพระพุทธรูปแล้วอธิบายว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังสะท้อนสภาวะที่เป็นตัวแทนของผู้หญิง ที่เป็นพลังที่อยู่ร่วมกัน (Coexistence) กับผู้ชายในอุษาคเนย์ และลัทธิการบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor Worship) อีกด้วย 

 

อ้างอิง:

  • Powers, John. A Bull of a Man Images of Masculinity, Sex, and the Body in Indian Buddhism. London: Harvard University Press, 2009.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising