×

‘Bubble and Seal’ ส่อสะเทือนภาคการผลิต กระทบกลุ่มส่งออก นักวิเคราะห์แนะ ‘คัดหุ้น’ ลงทุนมากขึ้น

02.08.2021
  • LOADING...
Bubble and Seal

จากมาตรการควบคุมโควิดของรัฐบาลล่าสุด ที่กำหนดให้สถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงงาน แคมป์คนงาน และบริษัทต่างๆ ต้องทำ Bubble and Seal หรือรูปแบบมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะพื้นที่ แม้ว่าพื้นที่นั้นๆ จะไม่มีผู้ติดเชื้อหรือการระบาดเลยก็ตาม โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่ามาตรการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการผลิตที่ชะลอตัว 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นน่าจะทำให้ภาคการผลิตชะลอตัวลงค่อนข้างแน่นอน ซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตบางอย่าง เช่น การแบ่งสายพานการผลิตเพื่อลดการกระจุกตัวของแรงงาน 

 

นอกจากภาคการผลิตในประเทศไทยแล้ว สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือการชะลอตัวของภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งสะท้อนจากตัวเลข PMI ของโลก หลังจากกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็น่าจะหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปีนี้ หลังจากที่จีนรายงานตัวเลขออกมาชะลอตัว ส่วนยุโรปและสหรัฐฯ จะประกาศออกมาในคืนนี้ (2 สิงหาคม) 

 

“การลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออกน่าจะต้อง Selective มากขึ้น คงจะไม่สามารถหว่านแหแบบเดิมได้ เพราะในบางอุตสาหกรรมน่าจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม” 

 

ทั้งนี้ภาคการผลิตและส่งออกน่าจะยังถูกกดดันต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์โควิดทั่วโลกจะผ่านจุดสูงสุด ทำให้ตัวเลขเกี่ยวกับการส่งออกหลังจากนี้น่าจะมีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลง เช่นเดียวกับตัวเลข GDP ที่มีโอกาสจะถูกปรับลงเช่นกัน

 

“ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้มีโอกาสจะถูกปรับลง เพราะการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่าที่คาดกันไว้ และโอกาสที่ GDP ปีนี้อาจจะไม่โตเลยก็ยังเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้ความหวังเดียวของเราคือการส่งออก” 

 

อย่างไรก็ตาม เรายังประเมินเป้าหมายดัชนี SET ที่ 1,600 จุดเท่าเดิม เนื่องจากระดับดังกล่าวอิงกับคาดการณ์กำไรปีหน้าที่ 95.5 บาทต่อหุ้น และ P/E 16.8 เท่า ส่วนเหตุการณ์ปัจจุบันจะกระทบต่อประมาณการต่างๆ ในปีนี้มากกว่า 

 

กลุ่มส่งออกอาหารแช่แข็งเริ่มเห็นผลกระทบ

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการล็อกดาวน์และมาตรการควบคุมภาคการผลิตยังประเมินได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นมาตรการที่ยังไม่เคยมีมาก่อน แต่เบื้องต้นเชื่อว่าจะทำให้การผลิตและส่งออกของปีนี้มีความเสี่ยงที่จะทำได้แย่กว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกอาหารแช่แข็งที่เริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ยังไม่เห็นมากนัก 

 

ทั้งนี้เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้บริษัทต่างๆ ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน แต่อาจเห็นการลดชั่วโมงการทำงานลง แต่ก็มีส่วนที่จะทำให้การเติบโตของ GDP ปีนี้มีความเสี่ยงที่จะลดต่ำกว่า 1% 

 

“เดิมทีตลาดประเมินกันว่า GDP ปีนี้มีโอกาสจะเติบโตเพียง 1-1.5% บนการล็อกดาวน์เข้มข้นตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม แต่ตลาดยังไม่ได้รวมผลกระทบในเรื่องของการผลิตและส่งออกที่ยังคาดว่าจะทำได้ 10-15% และหากการล็อกดาวน์ลากยาวไปถึงเดือนตุลาคม การเติบโตของ GDP ปีนี้อาจจะถึงขั้นติดลบได้”

 

ในมุมของการลงทุน ล่าสุดเราได้ปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลง พร้อมกับปรับเป้าหมายดัชนีปีนี้จาก 1,680 จุด มาเหลือ 1,610 จุด อิงจากคาดการณ์กำไร 12 เดือนข้างหน้า 

 

“ที่ผ่านมาเราอยู่ในช่วงของการปรับเพิ่มประมาณการกำไรมาตลอด 7 เดือน แต่หลังจากนี้จะเป็นภาพของการปรับลดคาดการณ์กำไรแทน เบื้องต้นคาดว่ากำไรปีนี้จะถูกปรับลดลง 3-5% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ค้าปลีก จะถูกปรับลง 15-20% แบงก์ 5% พลังงาน 1-3% และอสังหาริมทรัพย์ 1-5%”

 

‘โนมูระ’ เผยยืดล็อกดาวน์กระทบ 3 กลุ่มหลัก 

ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า หุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์รอบนี้ ได้แก่ 3 กลุ่มหลักคือ ค้าปลีก ร้านอาหาร และท่องเที่ยว

 

สำหรับกลุ่มค้าปลีก มีมุมมองเป็นลบจากการประกาศขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด จากเดิมที่ 13 จังหวัด รวมถึงการล็อกดาวน์เพิ่มอีก 1 เดือน ทั้งนี้ประเมินว่าทุก 14 วันของการล็อกดาวน์จะทำให้ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และพื้นที่เช่ามีความเสี่ยงจะถูกปรับลงมาขึ้น โดยหุ้นหลักที่ถูกกระทบ เช่น CRC, ILM, BJC, HMPRO และ CPALL ส่วน GLOBAL และ DOHOME ได้รับผลกระทบน้อยสุดจากมาตรการดังกล่าว ยกเว้นในบางจังหวัดที่เข้มงวดการให้บริการ 

 

กลุ่มร้านอาหาร คาดว่าแนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปีนี้จะขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปีก่อน ซึ่งห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน 45 วัน และขาดทุนมากกว่าไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน 15 วัน และนั่งทางอาหารในร้านได้ราว 25-50% ประมาณ 45 วัน โดยผลกระทบจากการล็อกดาวน์รอบนี้น่าจะอยู่ที่ราว 60 วัน ทั้งนี้คาดว่า M จะได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีสัดส่วนสาขาใน 16 จังหวัด เพิ่มเติมในพื้นที่สีแดงสูงสุด ส่วน ZEN และ AU ได้รับผลกระทบรองลงมา 

 

กลุ่มท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมที่มีธุรกิจร้านอาหารด้วยคือ CENTEL และ MINT หลังการเพิ่มพื้นที่จังหวัดสีแดงมากขึ้นเป็น 29 จังหวัด แต่ผลกระทบยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากภาครัฐผ่อนปรนให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถจำหน่ายผ่านเดลิเวอรีได้ ทั้งนี้คาดว่าตลาดจะกลับมากังวลต่อฐานะการเงินของกลุ่มโรงแรมอีกครั้ง เพราะภาพรวมการท่องเที่ยวไทยฟื้นช้าลง และนักท่องเที่ยวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อการกลับมาท่องเที่ยวไทย โดยผู้ประกอบการที่น่ากังวลมากสุดคือ ERW ซึ่งมีพอร์ตโรงแรมในไทย 96% 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising