×

รองอธิบดีอัยการฯ ชี้ ลุงเปี๊ยกมีสิทธิแจ้งเอาผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ตำรวจที่บังคับสารภาพคดีป้าบัวผัน

โดย THE STANDARD TEAM
19.01.2024
  • LOADING...
คดีฆาตกรรมบัวผัน

จากกรณีที่ปรากฏข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บังคับขู่เข็ญให้ปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก รับสารภาพในคดีฆาตกรรมบัวผัน ภรรยาของตนเอง 

 

วันนี้ (19 มกราคม) ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ถึงความเห็นข้อกฎหมาย เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยตรง ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า 

 

ถ้าเป็นข้อเท็จจริงตามข่าว หลักการของการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยเฉพาะบทนิยามที่มีคำว่าควบคุมตัว ก็คือการจับ การควบคุมตัว ขัง การกักขังหรือกักตัว หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล 

 

ฉะนั้นต้องไปดูว่ากรณีนี้เป็นการจับกุมควบคุมตัวหรือไม่ หากเป็นการทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องแจ้งการจับกุมให้อัยการจังหวัดสระแก้วและนายอำเภอทราบตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 22 แต่ถ้าไม่ได้ดำเนินการก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องต่อกฎหมาย 

 

เมื่อถามว่า หากเป็นการเชิญตัวมาแล้วไปแจ้งข้อหาแล้วไปกักขัง ถือเป็นการจับกุมแล้วหรือไม่

 

วัชรินทร์กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 โดยหลักต้องแจ้งการจับ ประเด็นที่ 2 คือถ้ามีการจับมาแล้ว หรือมีการควบคุมตัวแม้จะบอกว่าไม่ได้จับก็ตาม แต่เมื่อมีการกระทำโดยการทำให้เขาถูกจำกัดเสรีภาพในร่างกาย ถ้ามีการกระทำดังกล่าวแล้วถามว่าจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ ต้องไปดูมาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้กระทำผิด อย่างนี้ก็อาจถือได้ว่าเข้าข้อกฎหมาย มาตรา 5  

 

วัชรินทร์กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือทางผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีได้ถ้ามีการกระทำความผิด โดยใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 31 คือ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน หรือไปแจ้งต่อปลัดอำเภอ นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ และแจ้งต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 

 

ซึ่งในมาตรา 31 บัญญัติว่า ต้องส่งเรื่องให้อัยการเข้ามากำกับและตรวจสอบการสอบสวน แต่ถ้าผู้เสียหายไปแจ้งที่อัยการจังหวัดนั้นๆ ทางอัยการจะมีอำนาจสอบสวนได้เองตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย ดังนั้นข้อเท็จจริงต้องปรากฏชัดก่อนว่ามีการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามีก็ถือว่าเข้าข้อกฎหมาย

 

ทั้งนี้ในการร้องตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เนื่องจากเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน สามารถดำเนินคดีได้เลย แต่โดยหลักการเราต้องพาผู้ที่เป็นผู้เสียหายไปให้การ ตัวอย่าง นักข่าวเป็นผู้ไปร้อง ไปให้การว่ามีเหตุเกิด แต่ไม่มีการพาผู้ที่ถูกกระทำไป เขาก็ไม่สามารถสอบได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางผู้เสียหายว่าให้ความร่วมมือหรือไม่ ฉะนั้นถ้าลุงเปี๊ยกไม่ให้ความร่วมมือว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ทุกอย่างก็ดำเนินการอะไรไม่ได้  

 

วัชรินทร์กล่าวถึงประเด็นความรับผิดของผู้ปกครอง ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรา 420 และมาตรา 429 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุว่า ผู้ปกครองหรือคนที่เป็นบิดา-มารดาจะต้องดูแลผู้เยาว์เพื่อไม่ให้ไปเกิดการละเมิดขึ้นมา เว้นแต่จะพิสูจน์ว่าได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว 

 

ในปัจจุบันนี้หากอัยการยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาล อัยการสามารถขอตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 44/1 ได้ โดยผู้เสียหายสามารถยื่นขอค่าเสียหาย ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าทำศพได้เลย ไม่ต้องไปฟ้องทางแพ่งแยก 

 

โดยวิธีการปฏิบัติ อัยการจะแจ้งญาติว่าจะเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือความเสียหายต่อชีวิตเป็นจำนวนเท่าไร แล้วอัยการจะฟ้องไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพื่อให้ศาลลงโทษจำคุก พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 44/1 เรียกค่าเสียหายที่ทำให้เกิดความตายเกิดขึ้นได้ ส่วนผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายคือผู้ปกครอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising