×

‘บีทีเอส’ เตรียมยื่นฟ้อง กทม. หากไม่มีแนวทางแก้ปัญหาหนี้ 3 หมื่นล้านบาท กรณีเลวร้ายอาจต้องหยุดเดินรถส่วนต่อขยาย

26.04.2021
  • LOADING...
‘บีทีเอส’ เตรียมยื่นฟ้อง กทม. หากไม่มีแนวทางแก้ปัญหาหนี้ 3 หมื่นล้านบาท กรณีเลวร้ายอาจต้องหยุดเดินรถส่วนต่อขยาย

จากกรณีที่ ‘บีทีเอส’ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอชี้แจงกรณีที่ กทม. ติดค้างชำระหนี้แก่บีทีเอสเป็นเงินราว 3 หมื่นล้านบาท

 

ล่าสุด สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากกรณีดังกล่าวผ่าน THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้บริหารของ กทม. ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม เพื่อจะขออนุมัติงบประมาณมาชำระหนี้และเพื่อจะดำเนินโครงการต่อ 

 

อย่างไรก็ตาม สภา กทม. ไม่เห็นชอบ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอ โดย กทม. ได้เสนอแนะให้แก้ปัญหาโดยการร่วมทุนกับเอกชนแทน ซึ่งยึดตามคำสั่งของ คสช. เมื่อเดือนเมษายน 2562 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ส่วนการเสนอให้ต่อสัมปทานแทนการชำระหนี้นั้น อยากชี้แจงว่าเป็นการเสนอจากคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเจรจาแก้ปัญหาเรื่องหนี้และค่าโดยสาร ไม่ได้เป็นการเสนอจากบีทีเอสแต่อย่างใด

 

“หากไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทคงต้องดูว่าสิทธิตามสัญญาและตามกฎหมายทำอย่างไรได้บ้าง หลังจากที่บริษัทได้ทำหนังสือทวงหนี้ 2-3 ครั้งแล้ว แต่ท้ายที่สุดไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดๆ เราจึงจำเป็นต้องชี้แจงต่อประชาชนให้ทราบผ่านคลิปวิดีโอ เพราะท้ายที่สุดหากต้องเข้าสู่ชั้นศาล หรือจำเป็นต้องหยุดเดินรถ ประชาชนจะได้รับทราบก่อน อย่างไรก็ตาม หากมีการหยุดเดินรถจะกระทบเฉพาะส่วนต่อขยายสายสีเขียว ซึ่งปัจจุบันมีแต่ค่าใช้จ่าย ยังไม่มีรายได้เข้ามา” 

 

สำหรับประเด็นค่าโดยสารแพง อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างที่คมนาคมประเมินว่าราคาสูงสุดที่ 50 บาทต่อเที่ยวก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่การคำนวณดังกล่าวยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายบางส่วนเข้ามา เช่น งานโยธาและงานระบบ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างที่สัมปทานเดิมยังไม่หมด 

 

ทุกวันนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของบีทีเอสยังขาดทุนอยู่ราว 5-6 พันล้านบาทต่อปี แม้ว่าค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่ 59 บาท เพราะฉะนั้นค่าโดยสารสูงสุดที่ 50 บาทต่อเที่ยวไม่มีทางเป็นไปได้ 

 

และหากพิจารณาเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าค่าโดยสารบีทีเอสแพงกว่า ซึ่งในส่วนนี้บีทีเอสก็อยากให้ค่าโดยสารถูก แต่ด้วยต้นทุนที่สูงและที่สำคัญคือการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต่างกัน ทำให้ค่าโดยสารต่างกัน 

 

“อย่างกรณีของสายสีเขียว ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนเอง 100% ขณะที่ส่วนต่อขยายมี กทม. เข้ามาช่วยลงทุนบ้าง แต่ต่างประเทศให้การสนับสนุนมากกว่านั้น” 

 

ตัวอย่างของนิวยอร์ก ซึ่งภาครัฐจะมีการเก็บภาษีจากพื้นที่รอบๆ สถานี คิดเป็นเงินราว 7 พันล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาช่วยอุดหนุนรถไฟฟ้า หรืออย่างการประมูลรถไฟฟ้าที่ปักกิ่ง ซึ่ง ณ ขณะนั้นเรียกเก็บค่าโดยสารราว 2 หยวน แต่รัฐบาลออกค่าก่อสร้างให้ทั้งหมด และยังมีส่วนสนับสนุนค่าเดินรถให้เพิ่มเติมอีก 6 หยวน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X