วันนี้ (8 ตุลาคม) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน)
โดย พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2561 และขณะนี้การก่อสร้างและติดตั้งระบบในภาพรวมมีความก้าวหน้า 96% แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 98% และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 92%
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การจัดส่งขบวนรถและอุปกรณ์ต่างๆ ล่าช้า รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบทางขึ้นลงสถานีให้ตรงตามความต้องการของชุมชน ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนตุลาคม 2563 เป็นเดือนธันวาคม 2563
ทั้งนี้ หลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ได้รับมอบขบวนรถในโครงการมาครบแล้วทั้ง 3 ขบวน และขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถในเส้นทาง ซึ่งผลการทดสอบเป็นไปตามแผน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้กลางเดือนธันวาคมนี้ โดยยังกำหนดอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชาชนในย่านฝั่งธนบุรี ที่จะมีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะบริเวณสถานีคลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการศึกษา สำนักงานเขตคลองสาน และสถานีตำรวจนครบาลปากคลองสาน จะช่วยให้การเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนสะดวกมากขึ้น โดยรถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อการเดินทางระบบล้อ ราง เรือ รองรับผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงในอนาคต รวมทั้งยังเชื่อมการเดินทางของประชาชนที่ใช้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
อีกทั้งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าดังกล่าวยังช่วยเพิ่มมูลค่าของที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้า เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ และจะเป็นจุดไฮไลต์อีกแห่งหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ได้ทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้กรุงเทพมหานครได้มอบหมายบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ แต่ใช้รายได้ล่วงหน้าจากการให้สิทธิพื้นที่โฆษณาบนรถไฟฟ้ามาลงทุนก่อสร้างโครงการ เป็นรูปแบบการแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนากรุงเทพฯ ไปด้วยกัน จึงทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว ไม่ต้องรอกระบวนการวิธีงบประมาณจากทางภาครัฐ และทรัพย์สินในโครงการนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานครทั้งหมด ขอยืนยันว่าโครงการนี้เป็นความตั้งใจดีที่ทางกรุงเทพมหานครมอบแก่ให้ประชาชน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง มีระยะทางรวม 2.75 กิโลเมตร 4 สถานี วิ่งตามแนวถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในปัจจุบันเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 มีระยะทาง 1.80 กิโลเมตร เชื่อมต่อ 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3)
โดยระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบ Automated Guideway Transit (AGT) หรือระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ หรือรถไฟฟ้าระบบ Automated People Mover (APM) เป็นระบบล้อยาง โดยรถที่นำมาใช้เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คนต่อตู้ ตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยวต่อคนต่อวัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์