วันนี้ (9 เมษายน) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 ดินแดง ในการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2568 นภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) บางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้รายงานสรุปคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในกรณีหนี้สินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2
ซึ่งกรุงเทพมหานครโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ค้างชำระอยู่ตั้งแต่ปี 2562 ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ประชุมพิจารณาปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลทุกด้าน มีการพิจารณาสัญญา ระเบียบ กฎหมาย คำฟ้อง คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด และแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อสภากรุงเทพมหานครและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
นภาพลกล่าวว่า หนี้ค้างชำระกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส มีทั้งหมด 3 ส่วน ซึ่ง กทม. ควรเร่งดำเนินการจ่ายทั้งหมด
โดยแบ่งเป็นส่วนที่ 1 หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงปี 2564-2565 ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสฟ้องศาลปกครองกลางแล้ว จำนวนกว่าหมื่นล้านบาท ส่วนที่ 2 หนี้ที่ยังได้ฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2565-2567 และส่วนที่ 3 หนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นมา
ดังนั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่าผู้บริหาร กทม. ควรเร่งชำระหนี้ส่วนที่ 1 และหนี้ส่วนที่ 2 เพราะหนี้ส่วนดังกล่าวรวมกันเป็นเงินประมาณสองหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กทม. และ KT ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยตกประมาณวันละ 5 ล้านบาทเศษ ซึ่งหากจะต่อสู้ทางคดีปกครองต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อทางราชการ
นภาพลกล่าวว่า สำหรับหนี้ส่วนที่ 3 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นมา ที่ต้องชำระในวันที่ 20 ของเดือนถัดไปนั้น กทม. ควรนำเงินค่าโดยสารที่เก็บมาแล้ว ทยอยจ่ายสมทบเป็นค่าจ้างส่วนที่ขาด ส่วนจะจ่ายได้กี่เดือนก็จ่ายไปตามนั้น ที่ยังขาด กทม. ก็ควรตั้งเสนอสภา กทม. เพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งผู้บริหาร กทม. ควรเจรจากับรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อหาข้อยุติและต่อรองเรื่องเงินต้นและดอกเบี้ยในลำดับต่อไป