×

ถอดรหัส BTS ศิลปินเคป๊อปจากเกาหลีใต้ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงฮอลลีวูด

20.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • BTS ก่อตั้งโดย Big Hit Entertainment ค่ายเพลงขนาดเล็กที่มีแนวเพลงหลักๆ คือเคป๊อปและฮิปฮอป ชื่อวง BTS แต่เดิมย่อมาจาก Bangtan Boys ซึ่งมีความหมายว่า Bulletproof Boy Scouts ต่อมาเมื่อเริ่มบุกตลาดเพลงสหรัฐฯ จึงปรับเปลี่ยนเป็น Beyond the Scene
  • BTS เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 ด้วยอัลบั้มเพลงประกอบซีรีส์ School Trilogy ในชื่อ 2 Cool 4 Skool พร้อมซิงเกิลดังอย่าง No More Dream ก่อนจะตามมาด้วยผลงานเด่นๆ อีกมากมาย
  • BTS กล้าหยิบยกประเด็นทางสังคมหรือการเมืองนำมาแต่งเป็นเพลง เช่น เรื่องสุขภาพจิต ชนชั้นทางสังคม การทำร้ายกลั่นแกล้ง (Bullying) อภิชนนิยม (Elitism) และประเด็นต้องห้ามอีกมากมาย
  • BTS เป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวที Billboard Music Awards ประจำปี 2018 สำหรับอัลบั้ม Love Yourself: Tear ซึ่งสร้างสถิติขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต U.S. Billboard Top 200 ซึ่งถือเป็นศิลปินสัญชาติเกาหลีกลุ่มแรกที่ทำได้

 

 

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากกล่าวถึงกำลังหลักที่คอยขับเคลื่อนวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาก็คงหนีไม่พ้นวัฒนธรรมเพลงแนวเคป๊อป ซึ่งทรงอิทธิพลมหาศาลทั้งในแถบเอเชียตะวันออกรวมทั้งเอเชียอาคเนย์อย่างบ้านเรา หากให้ลองเอ่ยชื่อศิลปินเกาหลีที่รู้จัก เราอาจร่ายยาวได้เป็น 10-20 ชื่อ แต่ถ้าหากให้พูดถึงศิลปินเคป๊อปที่สามารถว่ายน้ำข้ามทะเลไปโด่งดังในฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นถิ่นฐานของอุตสาหกรรมดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างตลาดเพลงสหรัฐฯ คงมีเพียงไม่กี่ชื่อให้เอ่ยถึง เพราะมีอุปสรรคนับไม่ถ้วนให้ก้าวข้ามผ่าน ทั้งภาษา วัฒนธรรม ตัวเพลง และฐานแฟนคลับที่ต่างออกไป


และล่าสุดซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เมื่อ BTS ศิลปินเคป๊อป ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่ขึ้นแสดงบนเวที American Music Awards เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 และเป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวที Billboard Music Awards ประจำปี 2018 ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้

 

BTS ก่อตั้งโดย Big Hit Entertainment ค่ายเพลงขนาดเล็กที่มีศิลปินอยู่ในสังกัดไม่มากนักหากเทียบกับค่ายใหญ่ๆ อย่าง YG Entertainment, JYP Entertainment หรือ SM Entertainment โดยมีแนวเพลงหลักๆ คือเคป๊อปและฮิปฮอป ชื่อวง BTS แต่เดิมย่อมาจาก Bangtan Boys ซึ่งมีความหมายว่า Bulletproof Boy Scouts ต่อมาเมื่อเริ่มบุกตลาดเพลงสหรัฐฯ จึงปรับเปลี่ยนเป็น Beyond the Scene ซึ่งมีความหมายสะท้อนถึงการก้าวข้ามกรอบขนบเดิมๆ ของสังคม ซึ่งก็ยังเชื่อมโยงถึงสไตล์เพลงของวงอีกด้วย



สมาชิกของวงมีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย อาร์เอ็ม (RM) หัวหน้าวงและแรปเปอร์หลัก, จิน (Jin) นักร้องหลักและภาพลักษณ์ของวง, ชูก้า (Suga) แรปเปอร์หลัก, เจโฮป (J-Hope) นักเต้นหลัก นักร้องเสริม และแรปเปอร์ของวง, จีมิน (Jimin) นักเต้นหลักและนักร้องหลัก, วี (V) นักร้องหลักและภาพลักษณ์ของวง และจองกุก (Jungkook) นักร้องหลัก นักเต้นหลัก และแรปเปอร์เสริม



โดยช่วงก่อนเดบิวต์ อาร์เอ็ม (ชื่อเดิมคือ Rap Monster) ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฮิปฮอปของบังทันบอยส์และปล่อยผลงานตั้งแต่ปี 2010 แต่เนื่องจากสมาชิกในโครงการที่ถูกวางตัวไว้เพื่อตั้งวงถอนตัวไปหมด เหลืออาร์เอ็มเพียงคนเดียว โครงการจึงต้องถูกพับไป เป็นเหตุให้ทาง Big Hit Entertainment ต้องเปิดการออดิชันชื่อ Hit It เพื่อเฟ้นหาสมาชิกใหม่เข้าวง ซึ่ง ชูก้า แรปเปอร์ใต้ดินจากเมืองแทกูก็สามารถผ่านการออดิชันได้ ก่อนที่ เจโฮป สมาชิกสตรีทแดนซ์จากวง Neuron จะผ่านการออดิชันเช่นเดียวกัน กลายเป็นสมาชิกตั้งต้น 3 คนแรก ก่อนที่สมาชิกคนอื่นๆ จะตามมาอย่าง จิน ที่ผ่านการแคสติ้งขณะเดินทางไปเรียน จองกุก หลังจากเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ Superstar K ที่ปูซานก็ได้มีหลายบริษัทเข้ามาติดต่อเซ็นสัญญา แต่เขาเลือก Big Hit Entertainment หลังจากที่เห็นการแรปของอาร์เอ็ม ส่วน วี ผ่านการออดิชันขณะศึกษาอยู่มัธยมปลาย กระทั่งท้ายสุดคือ จีมิน ที่เข้ามาทดสอบความสามารถตามคำแนะนำของครูสอนเต้นจนได้รับการคัดเลือกเข้าวงเป็นคนสุดท้าย

 

 

BTS เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 ด้วยอัลบั้มเพลงประกอบซีรีส์ School Trilogy ในชื่อ 2 Cool 4 Skool พร้อมซิงเกิลดังอย่าง No More Dream ก่อนจะตามมาด้วยผลงานเด่นๆ อีกมากมาย เช่น Blood Sweat & Tears, Spring Day, DNA  และผลงานร่วมกับดีเจชาวอเมริกัน Steve Aoki อย่างเพลง Mic Drop (Steve Aoki Remix) เป็นต้น โดยผลงานล่าสุดที่ออกมาสู่สายตาแฟนคลับ ได้แก่ อัลบั้ม Love Yourself: Tear ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างงดงาม



ความสำเร็จของ BTS นอกจากที่ได้เอ่ยถึงไปข้างต้นอย่างการขึ้นแสดงบนเวที American Music Award เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาแล้ว BTS ยังสร้างสถิติอีกมากมายที่กลายเป็นปรากฏการณ์น่าจับตา ทั้งการเป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่มีเพลงติดอันดับใน Top 40 ของชาร์ต Billboard Hot 100 อันได้แก่ เพลง Mic Drop (Steve Aoki Remix) ที่ฟีเจอริงกับดีเจ Steve Aoki คว้ารางวัล Top Social Artist จากเวที Billboard Music Awards ประจำปี 2017 และ 2018 เฉือนตัวเต็งอย่าง จัสติน บีเบอร์ ไปได้

https://www.youtube.com/watch?v=NDO3qkXRj7Y&feature=youtu.be


นอกจากนี้ BTS ยังเป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต iTunes ของสหรัฐฯ ก่อนจะได้รับเกียรติเป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวที Billboard Music Awards ประจำปี 2018 สำหรับอัลบั้ม Love Yourself: Tear ซึ่งสร้างสถิติขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต U.S. Billboard Top 200 ซึ่งถือเป็นศิลปินสัญชาติเกาหลีกลุ่มแรกที่ทำได้ รวมไปถึงการปรากฏตัวตามสื่อใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการทอล์กโชว์ชื่อดังต่างๆ อย่าง The Ellen Show ของเอลเลน ดีเจนเนอเรส, Jimmy Kimmel Live ของจิมมี คิมเมล หรือ The Late Late Show ของเจมส์ กอร์ดอน และสื่ออเมริกันอีกหลายสำนัก



ด้วยความสำเร็จเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า BTS คือหนึ่งในศิลปินเคป๊อปที่โด่งดังที่สุด ณ เวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอ่ยถึงชื่อเสียงทางฝั่งตะวันตกที่แม้จะมีศิลปินเคป๊อปหลายกลุ่มเคยพยายามพิชิต แต่ก็ไม่มีศิลปินกลุ่มไหนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและได้รับการยอมรับมากเท่า BTS นำมาซึ่งคำถามใหญ่ข้อหนึ่งว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ BTS แตกต่างจากศิลปินเคป๊อปกลุ่มอื่น ซึ่งทำให้บอยแบนด์โนเนมจากค่ายเพลงเล็กๆ ที่เหมือนจะมีศิลปินในสังกัดอยู่แค่วงเดียวโด่งดังเป็นพลุแตกแซงหน้าเพื่อนร่วมวงการไปอย่างก้าวกระโดด

 

ประการแรกคงต้องยกความดีความชอบให้กับกลยุทธ์การจัดการกับโซเชียลมีเดียของต้นสังกัดที่เปิดโอกาสให้สมาชิกในวงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความส่วนตัวของศิลปิน, การลงรูปภาพ, มี Animoji ของสมาชิกแต่ละคนให้แฟนคลับได้เลือกใช้, ช่องในยูทูบชื่อ ‘Bangtan TV’ หรือกระทั่งการไลฟ์สตรีมขณะทัวร์คอนเสิร์ต สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้แฟนคลับยิ่งรู้สึกใกล้ชิดกับตัวศิลปินที่พวกเขาโปรดปราน และทำให้ BTS กลายเป็นไอดอลติดดินที่พวกเขาสัมผัสและเชื่อมโยงได้ในทุกขณะของชีวิตประจำวัน



สำนักข่าว BBC ประจำกรุงโซล ได้สัมภาษณ์ คิมเฮินซิก นักวิจารณ์วัฒนธรรมกรุงโซลในประเด็นดังกล่าว โดยคิมให้ความเห็นว่า “วงเคป๊อปที่ถูกฟูมฟักโดยเอเจนซีใหญ่ๆ มักจะมีวิธีการโปรโมตทางการตลาดขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนนักร้องเหล่านี้ให้กลายเป็นไอดอล พวกเขาเป็นระบบและเข้มงวดมาก ดังนั้นปฏิสัมพันธ์กับแฟนๆ จึงเป็นสิ่งที่ถูกห้าม สไตล์ของการสื่อสารมันเลยออกมาค่อนข้างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามมันไม่ได้เป็นแบบนั้นกับ BTS ซึ่งมีการจัดการโดยเอเจนซีที่ขนาดเล็กกว่า พวกเขาได้รับเสรีภาพในการปฏิสัมพันธ์กับแฟนๆ บนโซเชียลมีเดีย และไม่ได้ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบ แต่เหมือนมนุษย์จริงๆ มากกว่า”

 

อีกปัจจัยความสำเร็จที่ปฏิเสธไม่ได้เลย นั่นคือสไตล์การแต่งเพลงของ BTS ที่ค่อนข้างแหกกรอบขนบแนวทางเดิมๆ สมชื่อ Beyond the Scene เทียบย้อนไปถึงศิลปินเคป๊อปที่เคยเข้ามาโลดแล่นในวงการเพลงสหรัฐฯ กลุ่มแรกอย่าง Wonder Girls ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การทำการตลาดเป็นหลักโดยเปลี่ยนเพลง Nobody ให้เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไรนักจากตลาด หรือรายถัดมาอย่าง Gangnam Style ของเจ้าพ่อแรปเปอร์ Psy ที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาลถึงขนาดกลายเป็นมิวสิกวิดีโอบนยูทูบที่มีผู้รับชมมากที่สุดในโลกอยู่ช่วงหนึ่ง ด้วยความแปลกของท่าเต้นและแนวเพลง แต่ Psy ก็ไม่สามารถรักษาความสม่ำเสมอได้มากพอที่จะยึดเหนี่ยวแฟนคลับไว้ได้ จนในที่สุดความนิยมใน Gangnam Style ก็เลือนหายไปตามกาลเวลาพร้อมทั้งอันดับยอดวิวในยูทูบที่ถูกเบียดแซงไปเป็นที่เรียบร้อย



ในขณะที่ BTS ซึ่งไม่ได้มุ่งแต่งเพลงภาษาอังกฤษหรือพยายามประดิดประดอยแนวดนตรีท่าเต้นให้แปลกพิสดาร แต่พวกเขากลับโฟกัสไปที่เนื้อหาและสไตล์เพลงที่แท้จริงทั้งเคป๊อปและฮิปฮอป อย่างในปี 2014 ที่ BTS ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลอสแอนเจลิสเพื่อศึกษาและฝึกฝนแนวเพลงฮิปฮอปด้วยความช่วยเหลือจากแรปเปอร์ชื่อดังอย่าง Coolio และ Warren G หรือในแง่เนื้อหาของเพลงที่พวกเขากล้าหยิบยกประเด็นทางสังคมหรือการเมืองนำมาแต่งเป็นเพลง เช่น เรื่องสุขภาพจิต ชนชั้นทางสังคม การทำร้ายกลั่นแกล้ง (Bullying) อภิชนนิยม (Elitism) และประเด็นต้องห้ามอีกมากมาย ทำให้แต่ละเพลงของ BTS นั้นมีทั้งเอกลักษณ์และในขณะเดียวกันก็สะท้อนสังคมไปด้วย

 

ประการสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้เลยนั่นคือเหล่าแฟนคลับซึ่งเรียกตนเองว่า ARMY โดยย่อมาจาก Adorable Representative M.C. for Youth ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นมากที่สุด และที่สำคัญคือไม่ได้มีเพียงแค่ในแถบเอเชียเท่านั้น แต่กระจายตัวอยู่ทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ด้วยผลพวงจากปฏิสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของวงเผยแพร่ไปสู่อีกซีกโลกได้ภายในเวลาไม่นาน จึงเป็นเหตุให้ BTS เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

ศาสตราจารย์คิมซุกยัง แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้กำลังทำวิจัยศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า “การปรากฏตัวบนรายการโทรทัศน์ยังคงเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับแนะนำไอดอลคนใหม่สู่สายตาสาธารณชน แต่ Big Hit Entertainment (ต้นสังกัดของ BTS) เริ่มจากการให้ความสำคัญต่อโซเชียลมีเดียและมุ่งเน้นไปที่ฐานแฟนคลับต่างประเทศเป็นหลักแทน”



ศาสตราจารย์คิมขยายความต่อว่า กลยุทธ์นี้นอกจากจะทำให้แฟนคลับรู้สึกใกล้ชิดกับตัวศิลปินมากยิ่งขึ้นแล้วยังเป็นการทำลายอุปสรรคด้านภาษาที่มีความแตกต่าง โดยเมื่อมีฐานแฟนคลับชาวเกาหลีที่เหนียวแน่น กลุ่มแฟนเหล่านี้จะช่วยแปลข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลง บทสัมภาษณ์ หรือคำพูดของศิลปินให้เป็นภาษาอื่นๆ ทำให้กลุ่มแฟนคลับที่ไม่สามารถพูดภาษาเกาหลีเข้าใจตัวตนของ  BTS และพัฒนาไปเป็นฐานแฟนคลับตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกดังที่เห็นในปัจจุบัน

 

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีศิลปินจากแดนกิมจิไม่น้อยที่พยายามก้าวข้ามปราการด่านสำคัญเพื่อให้ได้เฉิดฉายในตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ มีศิลปินไม่น้อยที่ล้มเหลว ไม่ได้รับการยอมรับ หรือโด่งดังเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะถูกลืมเลือน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ BTS ด้วยวิสัยทัศน์ของต้นสังกัดซึ่งต้องการให้ศิลปินมีภาพลักษณ์ที่จับต้องได้และมุ่งสร้างฐานแฟนคลับในต่างแดน ความตั้งใจแน่วแน่ของสมาชิกในวงที่ต้องการคงเอกลักษณ์ของสไตล์ดนตรี รวมทั้งการหยิบยกประเด็นทางสังคมมาสะท้อนผ่านบทเพลง



สิ่งเหล่านี้จึงทำให้วง BTS ก้าวขึ้นไปสู่จุดที่ไม่เคยมีศิลปินเคป๊อปกลุ่มไหนทำได้ ตลอดจนแฟนคลับทั่วโลกที่ก่อตัวอย่างเหนียวแน่น เป็นหนึ่งในเครื่องรับประกันว่าบอยแบนด์เล็กๆ กลุ่มนี้จะยังคงเป็นที่นิยมไปอีกนาน

 

???BTS ??? So great meeting you!! You’re killing it!!

A post shared by Taylor Swift (@taylorswift) on

 

Photo: Courtesy of Billboard Music Awards

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X