×

‘กรมทะเล’ เผยผลชันสูตรซากวาฬบรูด้าเกยตื้น เกาะพะลวย สุราษฎร์ธานี คาดเจ็บป่วยตามธรรมชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
09.07.2024
  • LOADING...
วาฬบรูด้าเกยตื้น

วันนี้ (9 กรกฎาคม) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แถลงความคืบหน้ากรณีพบวาฬบรูด้าเกยตื้นบริเวณอ่าวสอง เกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง เร่งลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง, ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง, สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และอุทยานหมู่เกาะอ่างทอง ผ่าชันสูตรซากวาฬบรูด้าเกยตื้นดังกล่าว

 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นวาฬบรูด้าเพศผู้ วัยรุ่น ความยาว 9.6 เมตร น้ำหนักประมาณ 5 ตัน สภาพซากสด ผอม มีแผลถลอกตามลำตัว โดยผลชันสูตรพบฟองอากาศขนาดเล็กจำนวนมากในหลอดลม แขนงหลอดลมและปอด สาเหตุการตายสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ ทำให้เกยตื้นและเสียชีวิต ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำไปศึกษาหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดต่อไป

 

ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกสำรวจวาฬบรูด้า ทั้งทางเรือและทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินแนวโน้มจำนวนประชากรและจัดทำฐานข้อมูลสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสำคัญของการอนุรักษ์วาฬบรูด้า ควบคู่ไปกับการคุ้มครองตามมาตรการทางกฎหมาย รวมถึงดำเนินการช่วยชีวิตหากพบการเกยตื้น เพื่อรักษาฟื้นฟูสุขภาพวาฬบรูด้าก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ตลอดจนการชันสูตรหาสาเหตุและแนวทางป้องกันในการลดการสูญเสีย พร้อมทั้งเสริมสร้างและอบรมเครือข่ายในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น และลดอัตราการเสียชีวิต

 

ดร.ปิ่นสักก์ยังเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันปกป้อง คุ้มครอง และรักษาวาฬบรูด้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่นับวันจะสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย โดยสามารถเริ่มต้นจากการลดการทิ้งขยะลงในทะเล ทำประมงอย่างถูกกฎหมาย เดินเรือให้ห่างจากแหล่งอาศัยของวาฬบรูด้า และท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อวาฬบรูด้า ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลหากพบเจอวาฬบรูด้าหรือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ เพื่อจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบทันที หรือโทรไปที่ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

อ้างอิง:

  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X