สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่กลับมารุนแรงจน ศบค. ต้องใช้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ และ ‘เคอร์ฟิว’ ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง เริ่มส่งผลกระทบมายังภาคธุรกิจต่างๆ โดยนักวิเคราะห์ เริ่มประเมินว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ช่วงไตรมาส 2 จะลดลงจากไตรมาสแรกราว 5-8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่การระบาดซึ่งยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดนี้อาจทำให้กำไรของ บจ. ต่ำกว่าประมาณการเดิมประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งยังปรับคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ลงด้วย
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่าผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท บวกลบเล็กน้อย ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ประมาณ 2.57 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 5-8 หมื่นล้านบาท
การลดลงของกำไรสุทธิดังกล่าวเนื่องจาก บจ. ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีมีกำไรส่วนต่างจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง รวมทั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2564 เริ่มเกิดการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด ทำให้ ศบค. ต้องออกมาตรการแบ่งโซนสีและขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน หยุดการเดินทาง เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกำไรในไตรมาส 2 ของปีนี้กับช่วงเดียวกัน ปีก่อน ที่ประเทศไทยใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดระลอกแรกในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่ง บจ. ได้รายงานผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 1.07 แสนล้านบาทแล้ว ถือว่าในปีนี้ บจ. มีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นอย่างมาก
“ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรของ บจ. ไตรมาส 2 ปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้วมาก แค่กำไรของกลุ่มแบงก์ที่แจ้งออกมาก็สะท้อนแล้วว่ายังมีความสามารถในการทำกำไรได้เยอะ ยังเติบโตได้ดี กำไรของกลุ่มแบงก์ที่ประกาศออกมาเป็นกลุ่มแรกถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ด้วย” มงคล กล่าว
ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปีนี้ มีกำไรสุทธิรวม 5.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.15% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 9.94% จากไตรมาส 1 ปีนี้ ที่มีกำไรสุทธิรวมกัน 4.66 หมื่นล้านบาท
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะโชว์ผลงานได้อย่างโดดเด่นในไตรมาส 2 นี้ มี 3 คือ 1. กลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก และการจัดหาจัดจำหน่ายวัคซีนทางเลือกถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของกำไร บจ. นี้ ดังนั้นนักลงทุนจึงเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลอย่างหนาแน่น ผลักดันให้ดัชนีกลุ่มการแพทย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นถึง 467.65 จุด เพิ่มขึ้น 9.30% มีมูลค่าการซื้อขายรวม 1.39 แสนล้านบาทสูงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งสถานการณ์โควิดไม่รุนแรง
- กลุ่มโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มได้รับประโยชน์จากกิจกรรมการค้าของโลกปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ปริมาณการซื้อขายและการขนส่งสินค้ามีมากขึ้นด้วย รวมทั้งค่าระวางเรือ BDI ล่าสุดอยู่ที่ 3,199 เพิ่มขึ้น 76.74% และค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ขยับสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน
- กลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากตัวเลขส่งออกของไทยที่ปรับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ต่างทยอยฟื้นตัวภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อปรับตัวลดลง โดยการส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัว 13.09% สูงสุดรอบ 36 เดือน ขณะที่เดือนพฤษภาคมขยายตัว 41.59% สูงสุดรอบ 11 เดือน และล่าสุดเดือนมิถุนายนตัวเลขส่งออกทำนิวไฮใหม่เติบโต 43.82% สูงสุดในรอบ 11 ปี 1 เดือน กลุ่มส่งออกที่เติบโตมากที่สุดคือกลุ่มสินค้าเกษตร นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญกับการส่งออกด้วย
ด้าน ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังคงจับตาผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของ บจ. ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อยาวนาน โดยเตรียมทบทวนปรับลดเป้าหมายการเติบโตของกำไร บจ. ลง
“หลังการแจ้งงบไตรมาส 2 ของ บจ. แล้วเสร็จฝ่ายวิเคราะห์จะทำการทบทวนปรับลดเป้าหมายการเติบโตของกำไร บจ. ในปีนี้ลง เราประเมินว่ามาตรการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มจะส่งผลต่อกำไรของ บจ. ในไตรมาสที่ 3 นี้ สะท้อนได้จากการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของแบงก์ชาติลงเหลือ 1.8% จากเดิม 3% ล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับลด GDP ไทยเหลือ 2.2% จากการประเมินครั้งก่อนที่ 3.4% ส่วนมุมมองของฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์หลายสำนักมองในทิศทางสอดคล้องกันว่า GDP ของไทยจะเติบโตอยู่ในกรอบ 1.5%”
สำหรับอัตราผลกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดหลักทรัพย์นั้น ในปีนี้คงต้องปรับลดลงมาอย่างแน่นอน แต่ต้องรอผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาหมดก่อน เบื้องต้นมองว่าจะต่ำกว่า 80 บาท ถ้ามองเป็นกรอบน่าจะเป็นช่วง 78-79 บาทต่อหุ้น ส่วนเป้าหมาย SET ประเมินว่าจะอยู่ในกรอบ 1,630 จุด ซึ่งลดลงแล้ว จาก 1,700 จุด ถ้าไตรมาส 2 ออกมาแย่กว่าคาดการณ์ก็คงจะปรับลงอีก
ด้าน กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานของ บจ. ในไตรมาสที่ 3 จะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อว่าการล็อกดาวน์จะยาวนานมากกว่า 14 วัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำไร บจ. ราว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นตั้งสมมติฐานเทียบเคียงการล็อกดาวน์ของประเทศอินเดียในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดรุนแรงใช้เวลาล็อกดาวน์ยาวนานถึง 2 เดือน
“เรามองกำไร บจ. ในปีนี้ไว้ต่ำที่ 76.6 บาทต่อหุ้น ส่วนปีหน้า 87.3 บาทต่อหุ้น แต่ถ้าการล็อกดาวน์ยังไม่จบเร็ว การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังควบคุมไม่ได้ การฉีดวัคซีนยังล่าช้าต่อไปก็มีแนวโน้มว่าเราจะปรับประมาณการลงไปอีก”