จากมติของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ระบุห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน และให้ซื้ออาหารกลับบ้าน ระหว่างช่วงเวลา 19.00-06.00 น. ของวันถัดไป ส่วนช่วงเวลาต่อจาก 06.00 น. สามารถเปิดขายแบบนั่งทานที่ร้านได้ แต่จะมีมาตรการที่เข้มงวดในการเฝ้าระวังโควิด-19 หากมีการระบาดในวงกว้างอาจมีการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น โดยจะมีผลในเวลา 06.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่าได้เรียกนายกสมาคมภัตตาคารและผู้ประกอบการร้านอาหารมาให้ข้อมูล โดยนายกฯ ได้สั่งยกเลิกการห้ามขายอาหารแบบนั่งทานในร้านตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น. เป็นให้นั่งทานได้ถึง 21.00 น. แต่ตัองมีมาตรการป้องกัน หากไม่ทำก็จำเป็นต้องสั่งปิด
สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หากพิจารณาให้ปิดโดยห้ามนั่งทานในร้านตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น. ตามประกาศของ กทม. ซึ่งถือเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของร้านอาหาร ดังนั้นร้านอาหารที่ขายสินค้าผ่านการเดลิเวอรีได้ยากที่สุดจะถูกกระทบหนักที่สุด
ทั้งนี้หากพิจารณาจากช่วงเวลาตามที่ กทม. ระบุไว้ มองว่า 3 หุ้นร้านอาหาร ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M), บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) และ บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU)
ส่วนหุ้นอย่าง บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ซึ่งมีร้านอาหารในเครือ ส่วนมากจะขายผ่านช่องทางเดลิเวอรีเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารจากพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นประมาณ 50-60% ของยอดขายรวม
นอกจากนี้ ส่วนห้างสรรพสินค้าอาจจะมีผู้ใช้บริการลดลง เมื่อไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ตั้งแต่เวลา 19.00 น. และอาจทำให้ห้างสรรพสินค้าจำเป็นต้องลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้เช่าต่อเนื่องไปอีก
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหุ้น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ไม่ได้ปรับตัวลงมากนักในช่วงแรก และสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ สะท้อนว่านักลงทุนอาจจะมองข้ามไปแล้วว่ามาตรการที่ออกมาดังกล่าวน่าจะเป็นจุดพีกของสถานการณ์ในรอบนี้ไปแล้ว และไม่น่าจะมีการล็อกดาวน์แบบเต็มที่อย่างก่อนหน้านี้
“เชื่อว่าผลกระทบในรอบนี้ต่อตลาดจะไม่รุนแรงมาก ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในรอบนี้อาจจะเป็นเวลาเพียง 1-2 เดือน และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงได้ ขณะเดียวกันจะเห็นว่าคนเริ่มกลัวน้อยลง เมื่อดูจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ไม่ได้หดหายไปเท่ากับการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้”
ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุนด้านกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า การจำกัดระยะเวลาการทานอาหารที่ร้านในช่วงเวลาที่ กทม. ระบุไว้เดิม น่าจะกระทบต่อหุ้นกลุ่มอาหารบ้าง โดยเฉพาะ 3 บริษัทหลัก ได้แก่ ZEN, AU และ M ที่น่าจะถูกกระทบมากสุด โดยบริษัทคงต้องมุ่งเน้นการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อภาพรวมตลาดนั้น ก่อนหน้านี้นักลงทุนกังวลกับเรื่องของการล็อกดาวน์แบบเข้มงวด เมื่อมาตรการที่ออกมาเป็นการล็อกดาวน์เพียงบางส่วน ทำให้ตลาดจะเป็นลักษณะของการค่อยๆ รับรู้ปัจจัยลบ ขณะเดียวกันก็จะตอบสนองต่อปัจจัยบวกภายนอกที่เข้ามาได้
“อย่างในวันนี้ตลาดหุ้นสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงบ่าย ตามทิศทางตลาดโลกที่เป็นบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ ในระยะนี้ตลาดน่าจะมีลักษณะแกว่งตัวออกข้าง และสลับหุ้นเล่นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัดจากโควิด-19”
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นทั้ง 3 ตัวที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยหุ้น M ปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงเช้าที่ 47.75 บาท -3.05% จากวันก่อนหน้า ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาปิดที่ 51.75 บาท +2.50%
ขณะที่ ZEN ลดลงไปต่ำสุดที่ 10.50 บาท -3.7% จากวันก่อนหน้า ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาปิดที่ 10.80 บาท -0.92% ส่วน AU ลดลงไปต่ำสุดที่ 10.10 บาท -5.6% จากวันก่อนหน้า และฟื้นตัวกลับมาปิดที่ 10.40 บาท -2.80%
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล