ไม่ใช่พีระมิดที่อียิปต์ ไม่ใช่กำแพงเมืองจีน ไม่ใช่วัดพุทธโบราณที่อจันตา อโรลาในอินเดีย ไม่ใช่เส้นทางสายไหม ไม่ใช่สถาปัตยกรรมโบราณยุคเมโสโปเตเมีย ไม่ใช่ปราสาทนครวัดในกัมพูชา ไม่ใช่เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ที่บ่งบอกอารยธรรมของโลก
แต่ศาสตราจารย์มาร์กาเรต มี้ด (Margaret Mead) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจโดยชี้ว่า ‘กระดูกขาที่หักและหายเป็นปกติ’ คือสัญญาณแรกแห่งอารยธรรมของมนุษย์
งานวิจัยนี้น่าสนใจมาก
ใครที่ดูภาพยนตร์เรื่อง Schindler’s List สร้างโดยผู้กำกับหนังยอดฝีมือ สตีเวน สปีลเบิร์ก เมื่อหลายปีก่อน คงจำกันได้ว่าในระหว่างสงครามโลกที่นาซีฮิตเลอร์ปฏิบัติการฆ่าชาวยิวชนิดล้างเผ่าพันธุ์นั้น
นักธุรกิจผู้มีนามว่าชินด์เลอร์ ได้ตั้งโรงงานผลิตข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่งให้กับนาซีเยอรมนี โดยขอซื้อตัวชาวยิวจำนวนนับพันคนมาเป็นคนงานในโรงงานเพื่อผลิตสินค้า แต่แล้วในที่สุดธุรกิจของโรงงานนี้เจ๊ง ทั้งๆ ที่ธุรกิจขาดทุนย่อยยับ แต่ชื่อของชินด์เลอร์ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของโลกในฐานะ ‘ผู้ให้’ ที่ยิ่งใหญ่ ประวัติศาสตร์หน้านี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีคนดูทั่วโลก
ภาพที่ติดตราตรึงใจผู้เขียนยิ่งนักคือ ฉากเกือบสุดท้ายของภาพยนตร์ที่ชินด์เลอร์มองดูชาวยิวที่เขาช่วยให้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ของนาซี
จังหวะที่เขามองดูคนงานชาวยิวที่รอดตายขณะที่พวกเขากำลังเดินออกจากที่คุมขัง เขาตรงรี่ไปลูบคลำรถยนต์ของเขาด้วยมือไม้ที่สั่นเทาด้วยความรู้สึกเสียดายโอกาส พลางพูดว่า
“ถ้าผมใช้รถยนต์คันนี้ติดสินบนนายทหารนาซี ผมคงจะช่วยชาวยิวได้อีก 4-5 คน”
ชินด์เลอร์เอามือแตะเข็มกลัดรูปเครื่องหมายสวัสติกะที่อยู่บนปกเสื้อ ซึ่งเขาใช้ติดเสื้อตลอดเวลาในขณะที่นาซีเรืองอำนาจ ชินด์เลอร์น้ำตาไหลอาบแก้มแล้วพูดว่า
“เข็มกลัดนี้ทำด้วยทองคำและเพชร มันมีค่ามากพอที่จะช่วยชีวิตชาวยิวได้อีกหนึ่งหรือสองคน”
ชินด์เลอร์ร้องไห้เสียดายโอกาส มันเป็นโอกาสที่เขาควรจะทำได้ แต่เขาพลาดโอกาสที่จะทำ
นี่คือภาพด้านตรงข้ามระหว่างการทำธุรกิจเพื่อค้ากำไรกับการเสียสละทรัพย์สิน กำลังกาย และกำลังใจเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ ทั้งๆ ที่ชินด์เลอร์ได้ช่วยชีวิตคนยิวไปมากแล้ว แต่คุณธรรมอันสูงส่งยิ่งกลับทำให้เขาต้องหม่นหมองใจที่ละเลยโอกาสที่สามารถช่วยชีวิตคนได้อีกราว 6-7 คน
ในโลกนี้มีตัวอย่างมากมาย ที่คนช่วยคน คนแสดงน้ำใจต่อคน Schindler’s List เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่สะท้อน ‘การให้’ ที่รับรู้กันในระดับโลก
กลับมาดูปฏิบัติการ ‘การให้’ เป็นปรากฏการณ์กู้ชีวิต 13 หมูป่าที่ประเทศไทยระบายยิ้มให้กับคนทั่วโลก ผู้เขียนเรียงร้อยกวีไว้บทหนึ่งว่า
ถึงฟ้าก็เถอะฟ้า จะสั่งฝนใส่นางนอน
ถึงสูงสุดสิงขร ยังต่ำเตี้ยกว่าใต้ตีน
ถึงลึกสุดลึกล้ำ ไม่พ้นน้ำมือหน่วยซีล
ถึงแคบจะป่ายปีน จะเล็ดลอดสู่ที่หมาย
ถึงมืดสุดมืดมิด จะประชิดประชันกาย
ถึงน้ำจะมากมาย จะสูบสู้ไม่รู้ถอย
10 กรกฎาคม 2561 เป็นวันปิดฉากการกู้ 13 ชีวิตหมูป่าคืนสู่บ้านอย่างสำเร็จสมบูรณ์แบบ และประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก
นักข่าวพันกว่าคนจากสำนักข่าวทั่วโลกมากกว่า 800 สำนักรายงานเหตุการณ์อย่างเกาะติดในระดับนาทีต่อนาที
หน่วยซีลของสหรัฐฯ ยกย่องว่า ‘ภาวะการนำของไทยเป็นที่สุดของความยอดเยี่ยม’ (The Thai Leadership has just been tremendous.)
นี่คือจารึกหน้าประวัติศาสตร์ของไทยและของโลก ที่ต้องบันทึกไว้เป็นตำนานแผ่นดิน
การกู้ชีวิต 13 หมูป่า
เป็นปรากฏการณ์เหลือเชื่อที่ยากจะเอาชนะได้ แต่ประเทศไทยร่วมกับนานาชาติทำได้ ภายใต้ข้อจำกัด ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่มืดมิด น้ำฝนไต่ระดับสูงขึ้นตลอดเวลา มีออกซิเจนน้อยมาก พื้นที่คับแคบ สุดแสนจะหฤโหด นักดำน้ำอังกฤษบอกว่า “เป็นการท้าทายใหญ่หลวงที่สุดในการค้นหา”
โรงครัวผลิตอาหาร 3 มื้อหล่อเลี้ยงผู้คนนับหมื่นคน ร้านซักรีดที่รับซักรีดฟรีให้กับ เสื้อผ้าเจ้าหน้าที่ซึ่งเลอะเปื้อนโคลน ต้องรับเสื้อผ้าตอน 21.00 น. และต้องนำเสื้อผ้าไปส่งตอน 04.00 น. รถมอเตอร์ไซค์อาสารับส่งผู้คนไปยังจุดหมายที่ต้องการ รวมไปถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน หลายร้อยองค์กร ที่ทุ่มเทพลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตลอดจนชาวนาที่ยอมให้ที่นาของตนเป็นที่รองรับน้ำที่สูบออกมาจากถ้ำ “ขอแต่ให้เด็กๆ หมูป่าอยู่รอดปลอดภัย” เป็นน้ำใจอันประเสริฐที่คนไทยมีให้แก่กันและกัน
ความเสียสละของ จ.ส.อ. สมาน กุนัน ที่เอาชีวิตตัวเองเข้าแลกกับชีวิตของเด็กๆ
ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นพฤติกรรมที่สะเทือนใจคนทั่วโลก เป็นปรากฏการณ์เหลือเชื่อ ที่คนไทยร่วมกับคนต่างชาติบรรลุภารกิจได้อย่างน่าอัศจรรย์
เป็น ‘การให้’ แม้ในระยะเวลาสั้นเพียง 18 วัน แต่มีขนาดใหญ่ที่สร้างแรงบันดาลใจมหาศาล
อีกปรากฏการณ์หนึ่งในช่วงโควิดระบาดหนัก ตั้งแต่ต้นปี 2563 นั้น เราระลึกถึงภาพ หมอ พยาบาล คลุมร่างราวมนุษย์อวกาศ เฝ้าดูแลคนไข้แบบประชิดตัวอย่างหามรุ่งหามค่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ทุกนาที
เราได้เห็นข่าว อสม. ที่เสียสละ คาดหน้ากาก นำอาหารและยาไปเคาะประตูบ้าน ส่งเสียงเรียกคนไข้ที่ถูกกักตัวให้ออกมารับ
เราเห็นหน้าร้านและเรือนชานบ้านช่อง นำอาหาร น้ำ เสื้อผ้า ของกินของใช้มาวางมาแขวนหน้าบ้าน เพื่อให้คนทุกข์เข็ญได้กินได้ใช้
เป็นน้ำใจคนไทยที่ลือลั่นไปทั่วโลก ไทยจึงไม่มีสภาพคนติดโควิดตายเป็นเบือถึงขนาดขุดหลุมฝังศพกันไม่ทันแบบบางประเทศ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ ที่แก้ปัญหาโควิดระบาดได้ดีที่สุด
ศาสตราจารย์มาร์กาเรต มี้ด นักสังคมวิทยาอเมริกันซึ่งมีชื่อเสียงกระเดื่องโลก ผู้ล่วงลับไปแล้วตั้งแต่ปี 1978 เธอบันทึกไว้ว่า
ในชั้นเรียนครั้งหนึ่ง เธอถูกนักศึกษาถามว่า
“อะไรคือสัญญาณแรกของอารยธรรมมนุษย์”
นักศึกษาคาดว่าคำตอบจะเป็นแบบว่า…พบเบ็ดตกปลา พบเครื่องปั้นดินเผา หินลับมีด หรือสิ่งของอะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่…ครูมี้ดตอบว่า
“สัญญาณแรกของอารยธรรมของมนุษย์ในยุคโบราณ นานมากมาแล้วก็คือ “กระดูกขาที่หักและหายเป็นปกติแล้ว”
เหตุผลคือ ในยุคโบราณโน้น…สัตว์อื่นรวมถึงมนุษย์ ชีวิตไหนที่บาดเจ็บขาหักจะต้องตายอย่างแน่นอน
เพราะสัตว์หรือคนที่ขาหักจะอดตาย เพราะวิ่งหนีภัยไม่ทัน ไม่มีน้ำกิน ไปหากินน้ำที่แหล่งน้ำไม่ได้ ออกหาอาหารเองไม่ได้
จึงกลายเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นจนตัวเองตาย ตามวัฏจักรห่วงโซ่อาหาร และตามกฎของธรรมชาติ
“ไม่เคยมีสัตว์ตัวใดที่ขาหัก แล้วมีชีวิตอยู่รอดมาจนกระดูกขากลับมาเชื่อมต่อกันจนสนิทได้เหมือนคน”
การพบกระดูกคนหักแล้วเชื่อมต่อกัน จึงเป็นหลักฐานว่า
- มีคนที่อยู่ดูแลใครอีกคนที่บาดเจ็บ และคอยดูแลรักษาแผลให้
- มีคนคอยแบกร่างของคนเจ็บหนีภัย
- คนคนนี้ต้องเป็นคนคอยดูคนกระดูกหักด้วยเวลานาน…จนกว่ากระดูกจะเชื่อมต่อกัน
กระดูกต้นขาเป็นกระดูกที่ใหญ่มาก จะต่อกันเองได้สนิทต้องใช้เวลา 6 สัปดาห์ หรือ 40+ วัน
ศาสตราจารย์มี้ดจึงสรุปว่า
“มนุษย์เราจะประเสริฐที่สุด เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือใครสักคนในยามทุกข์ยาก นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์”
นี่เป็นสาระสำคัญของงานวิจัยของ มาร์กาเรต มี้ด ที่ชื่อว่า ‘Coming of Age in Samoa’ เป็นการอธิบายให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายที่ช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันและกัน แล้ววิวัฒน์เป็นการเติบโตพัฒนาของแต่ละสังคม
พลังแห่ง ‘การให้’ เป็นรากอารยธรรมที่มีอานุภาพยิ่งใหญ่ ขยายผลเป็นวิวัฒนาการของมนุษยชาติ
ผู้เขียนมีข้อคิดเพิ่มเติมว่า ในการให้นั้น คนทั่วไปอาจคาดหวังผลตอบแทนโลกธรรม ที่เรียกว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
นี่เป็นเรื่องเข้าใจได้ ทำดีก็อยากให้มีคนเห็นคนชม ไปทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ยกช่อฟ้าใบระกาก็อยากถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กให้คนเห็น ทำงานก็อยากมีเงิน เล่นหุ้นก็อยากรวย ซื้อหวยอยากถูกรางวัลที่หนึ่งด้วยกันทั้งนั้น นี่ไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไร
แต่ในโลกนี้ ยังมีการให้ที่ประเสริฐกว่า
ชินด์เลอร์ ชาวยิวเอาชีวิตและทรัพย์สินของตนเองเข้าแลกกับชีวิตคนยิวที่กำลังประสบชะตากรรมโดยสังหารหมู่ด้วยการรมแก๊ส
จ.อ. สมาน กุนัน อาสาปฏิบัติการช่วยชีวิต 13 หมูป่า โดยไม่คำนึงถึงชีวิตตนเอง ดุจเดียวกับนักดำน้ำต่างชาติหลายคนที่ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ในเหตุการณ์กู้ชีพ 13 หมูป่า
แพทย์ พยาบาล อสม. ที่สัมผัสผู้ป่วยโควิดใกล้ชิด มีสภาพแบบเป็นตายเท่ากัน
เป็น ‘การให้’ อันประเสริฐ
ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
ให้โดยไม่มีเงื่อนไข
ให้โดยไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นรู้ว่าให้
ใช่หรือไม่ว่า ‘น้ำไหลลอดใต้ทราย’ เมื่อเล็ดลอดสู่ปลายทางย่อมเอื้อต่อสรรพชีวิตได้ดื่มกิน ‘เดือนหงายกลางป่า’ ไม่ต้องให้คนเห็น ไม่ต้องให้คนชม เดือนก็ยังทำหน้าที่หงายอยู่อย่างนั้น
จึงมีผู้เปรียบเปรยว่า ‘แต่น้ำยังไหลลอดใต้ทราย เดือนยังหงายกลางป่าลับตาคน’
ขอบคุณศาสตราจารย์มาร์กาเรต มี้ด ที่ค้นพบสัจจะอันยิ่งใหญ่ว่า
‘กระดูกขาที่หัก เป็นอารยธรรมของมนุษย์’
‘มนุษย์เราจะประเสริฐที่สุด เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น’