×

‘สีจิ้นผิง’ เชิญ ‘ประยุทธ์’ ประชุม BRICS สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-จีนยังคงแน่นแฟ้น

05.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ส่งคำเชิญให้นายกรัฐมนตรีของไทยและคณะ เดินทางเข้าร่วมประชุม BRICS ครั้งที่ 9 ที่จีนในปีนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า มหาอำนาจอย่างจีนยังคงให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่ให้กับไทยเสมอ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนยังคงแน่นแฟ้น และพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในทุกระดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ที่รัฐบาลไทยเร่งผลักดันให้เริ่มจัดสร้างภายในปีนี้

     พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมภริยาและคณะทำงาน เดินทางเข้าร่วมประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาตามคำเชิญของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เจ้าภาพการจัดการประชุมในครั้งนี้ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน

 

 

     นอกจากประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้ง 5 ประเทศอย่างบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ในปีนี้จีนยังเชิญประเทศนอกกลุ่มสมาชิกอีก 5 ประเทศได้แก่ เม็กซิโก, ทาจิกิสถาน, กินี, อียิปต์ และไทย เข้าร่วมหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ เพื่อการพัฒนาร่วมกัน (Mutually Beneficial Cooperation) รวมถึงการผลักดันหลักปฏิบัติให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals 2030) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองในเวทีระดับนานาชาติ

 

 

ทำไมไทยถึงได้รับเชิญ

     หากจะมองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแถบนี้ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ที่จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่จะเชิญเข้าร่วมการประชุม BRICS ครั้งที่ 9 นี้ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ที่มีอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง หรือ อินโดนีเซีย ประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แต่เพราะเหตุใด ประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้จึงได้รับคำเชิญจากผู้นำจีน

     เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะ ถึงแม้ไทยจะเผชิญสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างร้ายแรง นักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกยังคงเลือกให้ไทยเป็นอีกหนึ่งจุดหมายการเดินทางที่พวกเขาอยากจะมาเยือน จากรายงานของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อเดือนสิงหาคมพบว่า รายได้จากภาคการส่งออกกว่า 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด รวมถึงรายได้จากภาคการท่องเที่ยวถึง 12% ยังคงมีส่วนช่วยทำให้ไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น และยังคงสถานะการเป็นประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคไว้ได้

     นอกจากนี้จุดภูมิศาสตร์อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของไทยที่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบแล้ว ไทยเองก็ถือว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกับจีนมาตั้งแต่อดีต ทั้งในมิติความร่วมมือ การค้าการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ทางการทูต ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองประเทศยังมีโครงการและความร่วมมือที่จะหารือร่วมกัน ดังนั้น ผู้นำจีนอาจมองว่า นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยและจีนจะขยายความร่วมมือระหว่างกัน ผ่านเวทีการเจรจา BRICS Plus ในครั้งนี้

     การส่งคำเชิญผู้นำไทยเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของไทยภายในภูมิภาคนี้ที่จีนเล็งเห็น และเป็นเครื่องยืนยันว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนยังคงแน่นแฟ้นและแนบแน่น พร้อมทั้งทวีความร่วมมือมากยิ่งขึ้นในทุกระดับ’ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมผู้นำจีนถึงไม่เชิญผู้นำไทยเข้าร่วมการประชุมเส้นทางสายไหมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หรือไทยอาจจะกำลังตกขบวนความร่วมมือ One Belt One Road ที่จีนเร่งผลักดันเสียแล้ว

     ผศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านจีนศึกษา เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงข้อสังเกตดังกล่าวว่า “การตั้งข้อสังเกตว่าจีนไม่ให้ความสำคัญกับไทยนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ไทยไม่ได้ถูกมองข้าม เวลาที่มีการวิเคราะห์นอกลู่นอกทาง บางทีอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ เพราะจีนรู้ดีว่าไทยสนับสนุนในเรื่องนี้อยู่แล้ว”

 

 

รถไฟฟ้าความเร็วสูง หนึ่งในความคืบหน้า จากการเดินทางเข้าร่วมเจรจา BRICS

     การเดินทางเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากที่ผู้นำไทยจะใช้เวทีการประชุมนี้เป็นพื้นที่ในการแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเป็น ‘สะพานเชื่อม’ ระหว่างกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ครอบคลุมรอบด้านและยั่งยืนอีกครั้ง ต่อจากการเป็นประธานกลุ่ม G77 และมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เมื่อปี 2016 แล้ว ในโอกาสนี้ผู้นำไทยยังหารือทวิภาคีร่วมกับผู้นำของจีนในประเด็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีการคุยแผนงานกันคร่าวๆ แล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาการสร้างราว 4 ปีและจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการครั้งแรกในปี 2021

     หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไทยจะรับผิดชอบ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการก่อสร้างและงานโยธา รวมถึงการว่าจ้างผู้รับเหมาคนไทยและเลือกใช้วัสดุภายในประเทศแล้ว รัฐบาลไทยเร่งผลักดันโครงการนี้ เพื่อให้ทันต่อแผนงานที่จะเริ่มต้นจัดสร้างภายในปีนี้ การพบเจอกันระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศ จึงเปิดพื้นที่ให้กับการเจรจาทวิภาคีในประเด็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีน จะเข้ามาช่วยวางระบบ พัฒนาบุคลากร รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จีนมีให้กับไทย โดยทั้งสองประเทศได้มีการลงนามความตกลงร่วมกันถึง 4 ฉบับจากการเดินทางเข้าร่วมการประชุม BRICS Plus ในครั้งนี้

     โดยตัวแทนรัฐบาลไทยยืนยันว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้หากแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์แก่ไทย เส้นทางกว่า 1,800 กิโลเมตรจะเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางคมนาคมสายไหมที่เชื่อมต่อจีนกับทวีปยุโรป ที่กำลังเดินการสร้างไปมากกว่าครึ่งทางแล้ว นอกจากนี้โครงการนี้จะยังตอกย้ำความต้องการที่จะเป็น ‘Hub’ หรือ ‘สะพานเชื่อม’ ไปยังโครงข่ายอนุภูมิภาคอื่นๆ โดยรอบอีกด้วย

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X