×

เจาะเวลาหาอดีต ประชามติแบบ Brexit เคยเกิดขึ้นเมื่อ 44 ปีก่อน และมติมหาชนคือ ‘อยู่ต่อ’

17.10.2019
  • LOADING...
Brexit

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การลงประชามติ Brexit เมื่อปี 2016 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวสหราชอาณาจักรโหวตกำหนดอนาคตว่าจะ ‘อยู่’ หรือ ‘ไม่อยู่’ ในกลุ่มการรวมตัวของภูมิภาคยุโรป แต่เมื่อ 44 ปีก่อน หรือปี 1975 ก็เคยมีการลงประชามติว่าจะแยกตัวออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) หรือไม่มาแล้ว ซึ่งทั้งสองครั้งเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้

เหลือเวลาเพียงครึ่งเดือนสุดท้ายสู่เส้นตาย Brexit 

 

ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ในค่ำคืนวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2019 ตามเวลาท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร หรือเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย ทีมเจรจาทั้งของสหภาพยุโรปและของสหราชอาณาจักรยังคงหารือกันอย่างเข้มข้นที่กรุงบรัสเซลส์ ท่ามกลางการท่องคาถาของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรว่าจะ ‘Get Brexit Done’ (ทำ Brexit ให้สำเร็จ) ภายในสิ้นเดือนตุลาคม และความเคลื่อนไหวของเขาที่ยังคงหารือกับตัวแทนจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟและ DUP อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาเสียงโหวตสนับสนุนดีลของเขาให้ผ่านสภา 

 

ส่วนฝ่ายของ มิเชล บาร์เนียร์ หัวหน้าทีมเจรจาเรื่อง Brexit ของสหภาพยุโรปก็ยังคงคำเดิมเช่นกันว่า “ยังอยู่ระหว่างการทำงานในเรื่องนี้” 

 

Brexit

 

อีกด้านหนึ่ง การประชุมสุดยอดของ EU กำลังจะเกิดขึ้นในวันถัดไปและวันศุกร์ (17-18 ตุลาคม) ซึ่งฝั่งสหราชอาณาจักรหมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับ EU ให้ได้ในการประชุมดังกล่าว มิฉะนั้น บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็อาจต้องเป็นผู้ส่งหนังสือไปขอขยายเวลา Brexit ออกไปจนถึง 31 มกราคม 2019 ตามกฎหมายแทน ส่วนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ก็กล่าวชัดเจนว่า เขาเองอยากจะเชื่อว่าดีลนี้กำลังถูกทำให้สำเร็จ และจะมีการลงนามในที่ประชุมสุดยอดของ EU

 

แต่ระหว่างที่เรากำลังจับตาและรอผลจากที่ประชุมกันอย่างใจจดใจจ่อ เราขอชวนคุณผู้อ่านย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์กันสักเล็กน้อย เพราะแม้ว่า 3 ปีที่แล้ว เสียงของมหาชนชาวสหราชอาณาจักรจะโหวตให้ ‘ออก’ จากสหภาพยุโรป แต่หากถอยหลังไปอีกจะพบว่า เมื่อปี 1975 ก็เป็นเสียงของชาวสหราชอาณาจักรนี่แหละที่เคยโหวตให้ประเทศของพวกเขา ‘อยู่ต่อ’ ในองค์กรแห่งการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคยุโรปมาก่อน

 

เกิดอะไรขึ้นในครั้งนั้น อะไรคือความเหมือน และอะไรคือความต่างเมื่อเวลาผ่านไป 41 ปี

 

Brexit

 

2016: คนสหราชอาณาจักรโหวต ‘ให้ออก’

1975: คนสหราชอาณาจักร (เคย) โหวต ‘ให้อยู่’

 

การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคยุโรปเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มจากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป (ECSC) ในปี 1952 ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี 1958 และที่สุดก็กลายเป็นสหภาพยุโรป (EU) ในปี 1993 

 

เส้นทางของสหราชอาณาจักรในการเข้าเป็นสมาชิกการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคยุโรปไม่ได้ง่ายดายนัก แรกเริ่มเดิมทีนั้นรัฐบาลสหราชอาณาจักรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของ คลีเมนต์ แอตลี จากพรรคเลเบอร์ไม่ได้สนับสนุนการรวมตัวกันเป็น ECSC แต่ต่อมา ฮาโรลด์ แมคมิลแลน จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1957-1963 และได้นำสหราชอาณาจักรแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกของ EEC อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม แผนของแมคมิลแลนกลับถูกวีโต้โดยประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล  แห่งฝรั่งเศส

 

และนี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ชาร์ลส์ เดอ โกล วีโต้การขอเข้าเป็นสมาชิก EEC ของสหราชอาณาจักร เพราะในอีก 4 ปีถัดมา เมื่อสหราชอาณาจักรขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก EEC เป็นหนที่สอง ในยุคของนายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ วิลสัน จากพรรคเลเบอร์ ชาร์ลส์ เดอ โกล ก็ยังวีโต้คำขอนี้เช่นเดิม กว่าที่ เอ็ดเวิร์ด ฮีท ในฐานะนายกรัฐมนตรีจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ จะสามารถนำสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกของ EEC ได้สำเร็จก็ล่วงเลยไปถึงปี 1973 แล้ว แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขในการเข้าร่วม EEC ในขณะนั้นถูกเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเลเบอร์คัดค้านมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 (แม้ว่าภายในพรรคเลเบอร์เองจะเกิดปรากฏการณ์ ‘เสียงแตก’ อยู่บ้าง) แนวคิดการทำประชามติเพื่อตัดสินใจว่าจะ ‘เข้าร่วม EEC หรือไม่’ จึงเกิดขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม หลังสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิก EEC ได้สำเร็จ พรรคเลเบอร์ภายใต้การนำของ ฮาโรลด์ วิลสัน จึงเปลี่ยนทิศทางใหม่มาเป็นการประกาศว่าหากพรรคเลเบอร์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล จะมีการเจรจาเงื่อนไขการเข้าร่วม EEC ใหม่ และเลเบอร์ก็นำคำสัญญาว่าจะเปิดเจรจารอบใหม่นี้ไปเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 พร้อมประกาศว่าหากการเจรจาแก้เงื่อนไขการเข้าร่วม EEC สำเร็จ ประชาชนควรมีสิทธิ์ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปหรือการลงประชามติ 

 

Brexit

 

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏว่าเลเบอร์ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และวิลสันได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 กระบวนการเจรจาเพื่อแก้ไขเงื่อนไขต่างๆ จึงเริ่มขึ้นหลังจากนั้น โดยมีการเจรจารอบสำคัญสองรอบ ซึ่งใช้เวลามาจนถึงต้นปี 1975 ในประเด็นต่างๆ อาทิ เงินที่สหราชอาณาจักรจะต้องให้การสนับสนุนแก่ EEC, นโยบายเกษตรร่วม และเป้าหมายของสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน เป็นต้น

 

แต่ระหว่างนั้นเอง ในเดือนตุลาคม 1974 หรือเพียง 8 เดือนหลังการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า ก็มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกครั้งในสหราชอาณาจักร คราวนี้พรรคเลเบอร์หาเสียงชัดกว่าเดิมว่าทำประชามติแน่นอน และผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นวิลสันก็ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปด้วยเสียงข้างมาก 

 

ส่วนเงื่อนไขการเข้าร่วม EEC ที่ผ่านการเจรจาแล้วก็ได้ผ่านความเห็นชอบโดยเสียงส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรีและจากสภาล่าง ทั้งหมดนี้นำไปสู่การทำประชามติในวันที่ 5 มิถุนายน 1975 ด้วยคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าสหราชอาณาจักรควรอยู่ในประชาคมยุโรป (ตลาดร่วม) หรือไม่?” ซึ่งนับเป็นการลงประชามติในระดับ ‘ทั่วสหราชอาณาจักร’ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

ฝ่ายที่สนับสนุนให้โหวต ‘YES’ หรือเชียร์ให้ ‘อยู่ต่อ’ ใน EEC หลังการเจรจา ก็ได้แก่ฝั่งรัฐบาลของฮาโรลด์ วิลสัน และสมาชิกส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงเสียงส่วนใหญ่จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ, พรรคลิเบอรัล, พรรคโซเชียลเดโมแครติกแอนด์เลเบอร์, พรรคพันธมิตรแห่งไอร์แลนด์เหนือ และพรรคแวนการ์ดยูเนียนนิสต์โปรเกรสซีฟ โดยระบุเหตุผลต่างๆ ในการหาเสียงสนับสนุน อาทิ สหราชอาณาจักรไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป, การอยู่ใน EEC จะช่วยประกันการเข้าถึงอาหารในราคาที่เป็นธรรม เพราะประชาคมนี้จะมีอาหารอย่างพอเพียง ตลอดจนเหตุผลที่ว่า การออกจาก EEC อาจมีผลร้ายทางเศรษฐกิจ เช่น การค้า การลงทุน การจ้างงาน ตามมาอีกมาก เพราะสหราชอาณาจักรจะไม่ได้อยู่ในประชาคม ซึ่งมีข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ เป็นต้น 

 

แต่ก็มีสมาชิกคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง รวมถึงบางพรรคการเมืองที่เชียร์ให้โหวต ‘NO’ เช่นกัน โดยเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาสนับสนุนให้โหวต NO หลายข้อก็ดูจะขัดแย้งกับกลุ่มที่เชียร์ให้โหวต ‘YES’ อย่างสิ้นเชิง เช่น กลุ่มนี้เชื่อว่าราคาอาหารจะปรับตัวสูงขึ้นจากภาษี หรือจากกฎของ EEC หรืออาจมีผลต่อการจ้างงาน เพราะรัฐบาลอาจไม่สามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงฐานของอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่อื่นได้ เป็นต้น

 

แต่สุดท้าย เสียงโหวต ‘YES’ ก็เป็นฝ่ายชนะ เมื่อผลการลงประชามติครั้งนั้นปรากฏว่ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 64.03 หรือ 25,903,194 คน จากผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ 40,456,877 คน และผู้มาใช้สิทธิ์ร้อยละ 67.2 โหวตให้สหราชอาณาจักร ‘อยู่ต่อ’ ใน EEC ขณะที่ร้อยละ 32.8 โหวตให้สหราชอาณาจักร ‘ไม่อยู่ต่อ’ ซึ่งวิลสันขนานนามการลงประชามติครั้งนี้ว่าเป็น ‘การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์’ เลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่การเตรียมแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ฝ่ายโหวต ‘NO’ อาจได้รับชัยชนะ ซึ่งก็คล้ายๆ กับสถานการณ์ของ Brexit ที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลายคำถามที่เป็นประเด็นในแผนรองรับความไม่แน่นอนเมื่อปี 1975 ก็ไม่ได้ต่างจากประเด็นที่ถกเถียงกันในเวลานี้ ทั้งความซับซ้อนในกระบวนการถอนตัวจาก EEC (ทั้งที่ตอนนั้นสหราชอาณาจักรเพิ่งเข้าร่วม EEC ได้เพียง 2 ปี), วันที่จะเป็นกำหนดการถอนตัวอย่างเป็นทางการ หรือการเจรจาหลังการถอนตัวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EEC ต่อไป ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่อยากเห็น ‘Soft Withdrawal’ คือการถอนตัวแบบค่อยเป็นไปค่อยไป หรือกลุ่มที่อยากเห็น ‘Harder Withdrawal’ ที่จะมีระยะเปลี่ยนผ่านที่แน่นอนที่ 18 เดือน เป็นต้น

 

ดังนั้น ระหว่างสถานการณ์ในปี 2019 กับในปี 1975 จึงมีทั้งแง่มุมที่ ‘เหมือน’ และที่ ‘ต่าง’ กันอย่างเห็นได้ชัด

 

Brexit

 

สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองครั้งคือมีคำถาม (ที่ต้องหาคำตอบ) อยู่มากมายในกรณีที่เสียงโหวตจากมหาชนบอกว่าให้ ‘ออก’ 

 

แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ เมื่อครั้งนี้เสียงของมหาชนตัดสินใจให้ ‘ออก’ ขึ้นมาจริงๆ และคนในสหราชอาณาจักร ตลอดจนคนทั่วโลกกำลังรอดูอนาคตของ Brexit กันอยู่ แล้วผลลัพธ์จะลงเอยในแบบไหน (หรืออาจจะยังไม่ลงเอยในเร็ววันนี้)

 

อีกไม่เกินสองสัปดาห์คงได้เห็นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X