หลายอย่างกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2018/19 ที่เห็นกันง่ายๆ คือการเซ็นสัญญาดึงนักเตะมาร่วมทีมที่อาจทำให้ทีมต่างๆ ในพรีเมียร์ลีกต้อง ‘ควักกระเป๋า’ จ่ายมากกว่าเดิม
ปัจจัยสำคัญมาจากกฎระเบียบหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการ Brexit แยกตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักร เนื่องจากจะไม่มีกฎจากยูฟ่ามาเป็นตัวกำหนดอย่างที่เคยเป็น
เดวิด เบ็คแฮม อดีตซูเปอร์สตาร์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเรอัล มาดริด เคยแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ผ่านโลกออนไลน์ว่าอังกฤษควรเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป เพราะโลกวันนี้เป็นโลกแห่งโลกาภิวัตน์แล้ว
แม้กระทั่ง ริชาร์ด สคูดามอร์ ประธานบริหารของพรีเมียร์ลีก ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้อยู่หลายหน พร้อมแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า จากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าแม้จะมีข้อดีแฝงอยู่ แต่ข้อเสียด้านอื่นๆ ที่ตามมาถือว่าไม่คุ้มค่าเลยจริงๆ ซึ่งนั่นจะทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“เมื่ออังกฤษหลุดจากเกณฑ์รองรับของสหภาพยุโรปจะทำให้นักเตะยุโรปที่เล่นในอังกฤษทั้งพรีเมียร์ลีก, แชมเปียนชิพ, ลีก วัน และลีก ทู ประมาณ 332 คนต้องเก็บกระเป๋าออกจากประเทศอังกฤษทันที”
นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าความไม่แน่นอนของ Brexit กำลังสร้างผลกระทบหลายอย่างที่ไม่เว้นแม้แต่วงการฟุตบอล ซึ่งเราจะมาดูว่าสิ่งใดบ้างที่จะเกิดกับพรีเมียร์ลีก การแข่งขันกีฬาที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก หากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์แบบ
ถึงเวลานักเตะเยาวชนอังกฤษฉายแสง
แม้ว่าสหราชอาณาจักรเตรียมก้าวขาออกจากสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาคมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะออกจากสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เพียงแต่ต้องรอให้ทั้สองฝ่ายทำข้อตกลงต่างๆ ให้ลงตัวเสียก่อน โดยมีผู้คนบางส่วนกังวลว่าอาจถึงขั้นตัดสิทธิ์ทีมจากพรีเมียร์ลีกในการแข่งรายการยุโรปหรือไม่ ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนั้นไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะเกิดขึ้น
หากแต่มีอีกนัยสำคัญอีกอย่างที่อยู่ภายใต้กฎของฟีฟ่า นั่นคือเรื่องการเซ็นสัญญานักเตะดาวรุ่งต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยทีมฟุตบอลจากสหราชอาณาจักรจะไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้อีกต่อไป เนื่องจากกฎการเซ็นนักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปีดังกล่าวใช้ได้เฉพาะทีมที่มีสัญญาภายในสหภาพยุโรปเท่านั้น
นั่นเท่ากับว่าเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นนักเตะเยาวชนจากต่างแดนที่เข้ามาชุบตัวในลีกอังกฤษแล้วเฉิดฉายเหมือนนักเตะรุ่นพี่อย่าง เชสก์ ฟาเบรกัส, อันเดรียส คริสเตนเซน หรือแม้แต่พอล ป็อกบา ที่เคยมาอยู่ตั้งแต่ตอนเป็นเยาวชนจนพัฒนาทักษะเป็นนักเตะระดับโลกในปัจจุบันอีกต่อไป
หากมองอีกมุมหนึ่ง นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่นักเตะเยาวชนของอังกฤษทั้งหลายจะได้รับโอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในเมื่อไม่สามารถดึงนักเตะเยาวชนจากอคาเดมีสโมสรอื่นๆ ที่ต้องทำคือต้องลงมือปลุกปั้นด้วยตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ นักเตะเยาวชนของอังกฤษถือว่าไม่ได้ด้อยความสามารถเลยเมื่อเทียบกับทีมชาติโซนยุโรปด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานที่สร้างชื่อจากปีก่อนของทัพสิงโตคำรามรุ่นเยาว์อย่างการคว้าแชมป์ยุโรปของชุด U19 ไปจนถึงการคว้าแชมป์โลกของชุด U20
บางทีนี่อาจเป็นสัญญาณให้หลายทีมในอังกฤษเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนานักเตะท้องถิ่นมากขึ้น แถมยังเป็นประโยชน์ต่อทีมในอังกฤษเอง ซึ่งจะสอดคล้องกับกฎสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องมีนักเตะที่มาจากกฎ Home-Grown (นักเตะสัญชาติท้องถิ่น) จำนวน 8 คนเป็นอย่างน้อย ท่ามกลางผู้เล่นในทีม 25 คน
อย่างไรก็ตาม หลายทีมจากโซนยุโรปคงได้ยิ้มมุมปากจากกรณีนี้ เพราะกิตติศัพท์เรื่องของการฉกเด็กปั้นหรือดาวรุ่งไปร่วมทีมจากหลายสโมสรในอังกฤษถือว่าขึ้นชื่อลือชายิ่งนัก โดยเฉพาะเรื่องของการกดค่าตัวดาวรุ่ง รวมไปถึงค่าชดเชยต่างๆ โดยเหตุการณ์เหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว
การเซ็นสัญญานักเตะด้วยราคาที่แพงขึ้น
สำหรับกรณีนี้น่าจะมีหลายทีมในอังกฤษโดนมาบ้างแล้วจากตลาดซื้อขายที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับความตกต่ำของค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงจากความไม่แน่นอนของปัญหาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป
ยกตัวอย่างกรณีของลิเวอร์พูลตามรายงานของ Bwin ที่พบว่าหลังจากช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ยอดทีมแดนเมอร์ซีย์ไซด์ทำการเซ็นสัญญา อลิสสัน เบ็คเกอร์ จากต้นสังกัดเดิมอย่างโรมาด้วยราคาที่แพงเป็นสถิติโลกของช่วงเวลานั้นด้วยเม็ดเงิน 67 ล้านปอนด์ ซึ่งจากการประเมินพบว่าลิเวอร์พูลต้องจ่ายเงินเกินความเป็นจริงไปมากถึง 9.6 ล้านปอนด์
และหากย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 2016 ลิเวอร์พูลได้รับผลกระทบจากการเสริมทัพแบบนี้และทำให้สูญเงินเกินความจำเป็นไปกว่า 35.91 ล้านปอนด์เลยทีเดียว ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าไม่เยอะ แต่หากคิดเล่นๆ ถ้าพวกเขาเอาเงินตรงนี้มาบวกเพิ่ม 4 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลสามารถซื้อโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ เพิ่มได้อีกคนเลยก็ว่าได้
ตรงกันข้าม ทีมจากนอกลีกอังกฤษที่ลูบปากรอกับการที่สามารถเซฟเงินจำนวนมากในการซื้อตัวผู้เล่นจากพรีเมียร์ลีกด้วยราคาที่ถูกลง เพราะค่าเงินยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ ซึ่งหากลองเทียบกับดีลที่บาร์เซโลนากระชากตัวคูตินโญด้วยราคา 160 ล้านยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้เห็นว่าเจ้าบุญทุ่มสามารถเซฟเงินจากดีลดังกล่าวได้มหาศาล
นี่จึงทำให้เห็นได้ชัดว่าราคาค่าตัวนักเตะต่างชาติที่จะย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ลีกจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ และสวนทางกับนักเตะที่จะถูกซื้อออกไป นั่นจึงทำให้หลายทีมจากเกาะอังกฤษที่จะควักเงินลงทุนเสริมทัพครั้งต่อๆ ไปต้องพบกับความปวดหัวที่มากขึ้นในการรับมือกับกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ หากสโมสรต้องการคว้านักเตะต่างชาติร่วมทีม
ความเหลื่อมล้ำระหว่างสโมสรน้อย-ใหญ่
อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงพรีเมียร์ลีกที่กำลังกังวลอยู่ หากแต่เป็นบรรดาสโมสรขนาดกลางๆ ไปจนถึงเล็กที่กลัวจะเกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเซ็นสัญญาผู้เล่น
อย่างที่เราบอกไปว่าปัญหาความไม่แน่นอนของ Brexit ส่งผลกระทบเรื่องของค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักเตะที่สโมสรจากพรีเมียร์ลีกจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้นกว่าความเป็นจริง รวมถึงเงื่อนไขการดึงนักเตะเข้าสู่ลีกอังกฤษที่พบว่านักเตะต่างชาติที่จะมาค้าแข้งยังถิ่นผู้ดีจะต้องเป็นผู้เล่นที่มีสถิติการลงสนามในนามทีมชาติอย่างต่อเนื่อง
หากนักเตะขาดคุณสมบัติดังกล่าว ทางสโมสรก็ต้องทำเรื่องยื่นไปยังสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ในการทำเรื่องยกเว้นเพื่อเดินเรื่องผ่านระบบการสะสมคะแนนต่อไป
โดยระบบของคะแนนนี้ หากยกตัวอย่างให้เข้าใจคือกรณีของจอร์จินโญที่รับใช้ทีมชาติอิตาลีไปเพียง 8 นัดก็อาจจะดูขัดกับกฎที่ว่าต้องเล่นให้ทีมชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่ค่าตัวของเขามีมูลค่าถึง 57 ล้านปอนด์ในการย้ายจากนาโปลีสู่เชลซี รวมถึงนักเตะยังเคยเล่นรายการใหญ่อย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกกับทีมเก่าอย่างนาโปลี จึงทำให้ถูกทบไปอยู่ในกฎของระบบคะแนนแทน
แน่นอนว่าปัญหานี้คงไม่ระแคะระคายบรรดาทีมอย่างเชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอีกหลายทีมที่ถือว่าเป็นทีมเงินถุงเงินถังอยู่แล้ว แต่กับทีมที่มีสถานะการเงินไม่โอเวอร์มากจะได้รับผลกระทบตรงจุดนี้เต็มๆ หรือพูดง่ายๆ คือทีมเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสได้เสริมผู้เล่นที่มีชื่อเสียงเลย และการที่ไม่อาจเสริมผู้เล่นมีฝีมือที่มาพร้อมราคาแพง นั่นอาจจะทำให้หลายทีมไม่สามารถต่อกรกับบิ๊กทีมได้เลย ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ พรีเมียร์ลีกในอนาคตก็อาจมีรูปแบบที่คล้ายกับบุนเดสลีกาของเยอรมนีนั่นเอง
แม้แต่ ไมค์ การ์ลิก เจ้าของทีมเบิร์นลีย์ ยังเคยให้ความเห็นกับประเด็นนี้ว่า
“มันจะถ่างช่องว่างของพรีเมียร์ลีกให้กว้างขึ้นกว่าเดิม และจะทำให้ภาพลักษณ์พรีเมียร์ลีกแย่ลง ทีมใหญ่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้น้อยกว่า เพราะว่าพวกเขาสามารถซื้อนักเตะระดับท็อปได้ และผู้เล่นที่ดีที่สุดเกือบทุกคนมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ในการขอเวิร์กเพอร์มิตอยู่แล้ว”
สร้างความลังเลให้นักลงทุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังเกิดกับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปย่อมไม่ส่งผลดีต่อลีกฟุตบอลอังกฤษเป็นแน่แท้ เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาเยือนอังกฤษล้วนแล้วแต่มาเพื่อชมการแข่งขันฟุตบอลทั้งนั้น
แม้ข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในฤดูกาล 2016-17 ฉบับใหม่นั้นจะสร้างกำไรให้กับสโมสรได้มากกว่าเดิม โดยล่าสุดมีการเปิดเผยว่าพรีเมียร์ลีกสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์รวมไปถึงสปอนเซอร์ต่างๆ ในฤดูกาล 2017/18 มากถึง 2,500 ล้านปอนด์ (180,000 ล้านบาท) ถึงขนาดที่ทีมบ๊วยของตารางอย่างเวสต์บรอมวิชฤดูกาลที่ผ่านมายังได้เงินที่พรีเมียร์ลีกปันมาถึง 94.6 ล้านปอนด์
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยหากนักลงทุนอยากที่จะหาช่องทางต่างๆ เพื่อเข้ามาลงทุนสร้างกำไร ไม่ว่าจะเป็นเพียงสปอนเซอร์ไปจนถึงการก้าวขึ้นเป็นเจ้าของสโมสร
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามามันคือความคิดเมื่อครั้งสหราชอาณาจักรยังอยู่ในสหภาพยุโรป เพราะปัญหาของ Brexit ในปัจจุบันกำลังทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง ลามไปถึงกำไรจากการซื้อขายสโมสรที่จะลดลงพอสมควร ซึ่งนั่นจะทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลใจหากคิดจะลงทุนกับพรีเมียร์ลีกในอนาคต
จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกจึงเลือกโหวตให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญที่ยังรักษาให้พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก รวมไปถึงกฎการเซ็นนักเตะต่างๆ ที่เป็นสีสันให้ผู้คนทั่วโลกจับตามองมาที่ลีกแดนผู้ดีแห่งนี้เสมอในทุกซัมเมอร์
ดังนั้นเราต้องตามกันต่อไปว่าหลังจากนี้หน้าตาของพรีเมียร์ลีกจะเป็นอย่างไร หากสหราชอาณาจักรก้าวขาออกจากรั้วของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ แม้เราจะไม่รู้ผลล่วงหน้า แต่เชื่อเหลือเกินว่าสิ่งนี้จะสร้างผลกระทบต่อพรีเมียร์ลีกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ภาพ: MIKE EGERTON/PA / Getty / Liverpool Fc / Reuters / Matt Dunham/AP Photo / WSN
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/business/2018/oct/21/brexit-premier-league-side-wanting-to-be-relegated-wto-internal-market
- www.goal.com/en/news/how-brexit-will-affect-premier-league-football/cwp6p3hhmuxx119cm1syhwyi2
- www.bbc.com/sport/football/46038799
- www.thisisanfield.com/2018/09/the-premier-leagues-brexit-concerns-that-could-impact-liverpools-future-transfer-plans/
- sport.trueid.net/detail/161799