×

โค้งสุดท้าย Brexit ที่ดูไม่สดใส ทั้งเรื่องชวนปวดหัวเดิมๆ ที่แก้ไม่ตก กับการที่สหราชอาณาจักรเปิดประเด็นเรื่องไอร์แลนด์เหนืออีกครั้ง

22.09.2020
  • LOADING...
Brexit

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บอริส จอห์นสัน ยืนยันว่าไม่ว่าผลของการเจรจาข้อตกลงเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ฉบับใหม่ระหว่าง EU กับสหราชอาณาจักรจะเป็นเช่นไร สหราชอาณาจักรก็จะไม่อยู่ในระบบตลาดเดียวของ EU และกฎหมายของ EU ก็จะไม่มีผลบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรอีกต่อไป
  • ใกล้เส้นตายช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน Brexit เข้าไปทุกที แต่แทนที่สองฝ่ายจะขยับเข้าใกล้การบรรลุดีลสำคัญ กลับกลายเป็นว่าปัญหาเดิมๆ ก็ยังตกลงกันไม่ได้ มิหนำซ้ำสหราชอาณาจักรยังหยิบยกประเด็นไอร์แลนด์เหนือเข้ามาถกเพิ่ม ซึ่งทำให้การเจรจาซับซ้อนขึ้นไปอีก
  • ผู้นำสหราชอาณาจักรเสนอร่างกฎหมายตลาดภายใน (Internal Market Bill) ซึ่งมีเนื้อหาหลายข้อที่ขัดกับข้อตกลงถอนตัว (ในประเด็นไอร์แลนด์เหนือ) จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับของกฎหมายระหว่างประเทศกลับมีเจตนาจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเสียเอง   

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประกาศหนักแน่นว่าวันที่ 1 มกราคม 2021 นับเป็นการสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ของ Brexit ดังนั้นไม่ว่าผลของการเจรจาข้อตกลงเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ฉบับใหม่ระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับสหราชอาณาจักรจะเป็นเช่นไร สหราชอาณาจักรก็จะไม่อยู่ในระบบตลาดเดียวของ EU อีกต่อไป และกฎหมายของ EU ก็จะไม่มีผลบังคับใช้ในสหราชอาณาจักร  

 

ยิ่งใกล้วันขีดเส้นตายนี้ แทนที่เราจะได้ยินข่าวเรื่อง EU กับสหราชอาณาจักรใกล้บรรลุข้อตกลงกัน กลับกลายเป็นมีแต่ข่าวว่านอกจากทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีข้อตกลงในเรื่องเดิมๆ ที่ถกกันมานานแล้ว สหราชอาณาจักรยังเปิดประเด็นเรื่องไอร์แลนด์เหนือขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้แนวโน้มที่สหราชอาณาจักรจะออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง หรือ No-deal Brexit ดูยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ   

 

ก่อนอื่นต้องขอสรุปท่าทีการเจรจาของแต่ละฝ่ายอย่างสั้นๆ ก่อน ดังนี้

 

  • ท่าทีของ EU คือจะยอมเปิดตลาดให้สหราชอาณาจักรแบบปลอดภาษีและปลอดโควตา (Zero Tariffs, Zero Quotas) ก็ต่อเมื่อสหราชอาณาจักรยอมรับกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ (Level Playing Field) และสิทธิของชาวประมงยุโรปในน่านน้ำของสหราชอาณาจักร 
  • ท่าทีของสหราชอาณาจักรคือจะทวงคืน ‘อธิปไตย’ ของตน และไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ EU อีกต่อไป 

 

Brexit

 

เรื่องชวนปวดหัวที่แก้ไม่ตก

ตัวอย่างเรื่องชวนปวดหัวเรื่องหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากในระยะหลังคือประเด็นการให้ความช่วยเหลือโดยภาครัฐ (State Aid) ซึ่งในที่นี้หมายถึงการที่รัฐบาลของประเทศหนึ่งให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนบางรายของตน โดยอาจเป็นในรูปแบบของเงินอุดหนุน การลดหย่อนภาษี การค้ำประกัน หรือการเข้าถือหุ้น ซึ่งทำให้บริษัทดังกล่าวได้เปรียบกว่าบริษัทของประเทศอื่นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จนส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างสองประเทศ

 

ข้อห้ามมิให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนของประเทศตน (เว้นแต่ในบางกรณีที่ระบุไว้ในกฎหมาย) ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายสหภาพยุโรป แต่ฝ่ายสหราชอาณาจักรมองว่ากฎหมายนี้ถูกร่างขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว และไม่เหมาะกับยุคปัจจุบันที่ภาครัฐจำเป็นต้องช่วยเหลือภาคเอกชนในบางกรณี (ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ตกยุค แต่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจแห่งอนาคต) ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงต้องการออกจากข้อจำกัดเหล่านี้ และสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเอื้อต่อการสนับสนุนธุรกิจแห่งอนาคต

 

EU ให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เสรีและเสมอภาคของทุกฝ่าย โดยท่าทีในการเจรจาตลอดมาคือหากสหราชอาณาจักรยังต้องการส่งสินค้าเข้ามาขายใน EU โดยไม่เสียภาษีนำเข้าและไม่มีโควตาจำกัดปริมาณก็จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์การค้าและการลงทุนของ EU ไม่เพียงแต่ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย แรงงาน และภาษี เช่นเดียวกันกับทุกประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับ EU

 

สหราชอาณาจักรเปิดประเด็นใหม่ จงใจจะผิดพันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องไอร์แลนด์เหนือ

ไอร์แลนด์เหนือเป็นเรื่องชวนปวดหัวในการเจรจา Brexit มาตั้งแต่ต้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสถานะคลุมเครือ นั่นก็คือในทางกฎหมายแล้วเป็นดินแดนของสหราชอาณาจักร แต่ในทางภูมิศาสตร์แล้วอยู่บนเกาะเดียวกันกับไอร์แลนด์ ไม่ใช่เกาะเดียวกับสหราชอาณาจักร

 

ในอดีตไอร์แลนด์เหนือเคยมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรกับอีกกลุ่มที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์จนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งยุติลงได้ด้วยข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement เมื่อปี 1998 ตามข้อตกลงนี้แม้ไอร์แลนด์เหนือจะมีสถานะทางกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร แต่ก็มีกลไกความร่วมมือที่ช่วยให้ทุกคนบนเกาะรู้สึกว่าเป็นสังคมเดียวกัน (ไม่ได้แบ่งแยกเป็นไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ) เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ

 

การที่สหราชอาณาจักรออกจาก EU เท่ากับว่าจะมีพรมแดนเกิดขึ้นระหว่างไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ จึงมีโจทย์ใหญ่ว่าทำอย่างไรที่จะรักษาความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไอร์แลนด์เหนือ (สหราชอาณาจักร) กับไอร์แลนด์ (สมาชิก EU) ไว้ได้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็ดูเหมือนว่า EU กับสหราชอาณาจักรจะหาทางออกกันได้แล้ว โดยข้อตกลงถอนตัว หรือ Withdrawal Agreement ฉบับปี 2019 ย้ำหลักการตามข้อตกลง Good Friday Agreement ว่าจะไม่มีการสร้างพรมแดนทางกายภาพ (Hard Border) รวมทั้งไม่มีการตั้งด่านศุลกากรระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง EU กับสหราชอาณาจักรเพื่อดูแลกำกับการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกัน

 

Brexit

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไอร์แลนด์เหนือก็กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน ได้เสนอร่างกฎหมายตลาดภายใน (Internal Market Bill) ซึ่งมีเนื้อหาหลายข้อที่ขัดกับข้อตกลงถอนตัว (ในประเด็นไอร์แลนด์เหนือ) จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับของกฎหมายระหว่างประเทศกลับมีเจตนาจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเสียเอง เสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้ไม่ได้มาจากฝ่าย EU เท่านั้น แต่อดีตผู้นำของสหราชอาณาจักร เช่น โทนี แบลร์, จอห์น เมเจอร์ และเทเรซา เมย์ รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement ก็ได้ออกมาแสดงความห่วงกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลจอห์นสัน เช่นกัน

 

อูร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อ้างคำกล่าวเมื่อปี 1975 ของ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรว่า “สหราชอาณาจักรจะไม่ละเมิดสนธิสัญญา การกระทำเช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อสหราชอาณาจักร ต่อความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และต่อข้อตกลงการค้าใดๆ ในอนาคต” และแสดงความหวังว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรในปัจจุบันจะยังคงยึดมั่นในการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศตามที่แทตเชอร์เคยกล่าวไว้ ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป โดยจอห์นสันให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่าร่างกฎหมายตลาดภายในจะช่วย ‘ตีกรอบ’ ข้อตกลงถอนตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่าย EU มาตีความข้อตกลงอย่างเอารัดเอาเปรียบ

 

ไม่ว่าใน 3 เดือนที่เหลือนี้ EU กับสหราชอาณาจักรจะตกลงอะไรกันได้บ้างหรือไม่ จะบรรลุข้อตกลงในรูปแบบใด หรือไม่บรรลุข้อตกลงใดๆ เลย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรยิ่งตกต่ำลงทุกวัน จากคนในครอบครัวเดียวกันที่วันนี้ได้ย้ายออกจากบ้านแล้ว และดูเหมือนกำลังตั้งตัวเป็นคู่แข่งคนใหม่ของ EU อีกด้วย ดังที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2019 ว่า ภายหลัง Brexit สหราชอาณาจักรจะกลายมาเป็นคู่แข่งคนใหม่ของ EU เพิ่มจากสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ยังตอกย้ำถึงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันที่นับวันความกลมเกลียวระหว่างมหาอำนาจตะวันตกจะน้อยลงเรื่อยๆ 

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising