สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรเตรียมลงมติครั้งที่ 2 ว่าจะรับรองญัตติขอจัดการเลือกตั้งใหม่ของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน หรือไม่ แต่คาดว่ารัฐบาลจะพ่ายแพ้ในการโหวตในรัฐสภาอีกครั้ง เนื่องจาก ส.ส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลบางส่วนต้องการผลักดันกฎหมายที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด No-Deal Brexit หรือการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ตามมาตรา 50 ของธรรมนูญ EU โดยไร้ข้อตกลง
จอห์นสันยังคงยืนกรานในเจตจำนงของตนที่จะจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ถึงแม้การยื่นญัตติขอยุบสภารอบแรกไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากได้คะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ตามกฎหมาย โดยจอห์นสันไม่ต้องการขอเลื่อนกำหนดการ Brexit ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แต่หากร่างกฎหมายใหม่ที่ผลักดันโดยฝ่ายค้านผ่านความเห็นชอบ จะมีผลผูกมัดให้นายกรัฐมนตรีต้องขอเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ต่อสหภาพยุโรปออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 เพื่อยืดเวลาในการเจรจาทำข้อตกลงฉบับใหม่
BBC รายงานว่า หนึ่งในทางเลือกที่รัฐบาลมีการหารือกัน หากรัฐสภาผ่านกฎหมายป้องกัน No-Deal Brexit สำเร็จก็คือ รัฐบาลอาจร้องขอให้ประเทศสมาชิก EU โหวตยับยั้งหรือวีโต้ เพื่อไม่ให้สหราชอาณาจักรขยายเวลา Brexit ออกไป หรืออีกทางเลือกที่เป็นไปได้ก็คือ รัฐบาลอาจส่งคำร้องขอเลื่อน Brexit กับ EU อย่างเป็นทางการตามข้อบังคับของกฎหมายใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งจดหมายอีกฉบับเพื่อแสดงความจำนงอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ต้องการเลื่อนกำหนดการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ลอร์ด ซัมป์ชัน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษ เตือนว่า การขัดขวางความพยายามของรัฐสภาในการขอเลื่อน Brexit ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการส่งจดหมายไปขอให้สหภาพยุโรปขยายกำหนดเส้นตายกระบวนการ Brexit ด้วย เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องหาทางยืดเวลา Brexit ออกไปเท่านั้น
ทั้งนี้หลังจากการประชุมอภิปรายและลงมติในรัฐสภาวันนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว จะมีการพักประชุมสภาตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำแก่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปก่อนหน้านี้ โดยรัฐสภาสหราชอาณาจักรมีกำหนดเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: