กว่า 3 ปีหลังการลงประชามติเพื่อการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit
ณ เวลานี้ ข้อตกลง Brexit หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ข้อตกลงการถอนตัวของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือออกจากสหภาพยุโรปและประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป’ (Agreement on the withdrawal of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland from the European Union and the European Atomic Energy Community) ได้รับการลงนามทั้งจากฝั่งสหภาพยุโรปและฝั่งสหราชอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่พระราชบัญญัติข้อตกลงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ปี 2020 (European Union (Withdrawal Agreement) Act 2020) ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อใช้รองรับข้อตกลงการถอนตัวดังกล่าวในสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งคำตอบที่ชัดเจนว่าระยะเวลากว่า 47 ปีในฐานะสมาชิกของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรกำลังจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ สหภาพยุโรปซึ่งเป็นองค์การระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจะไม่มี ‘สหราชอาณาจักร’ เป็นหนึ่งในสมาชิก ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 เป็นต้นไป
หลายคนคงมีคำถามว่า ‘แล้วจะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้บ้าง’ THE STANDARD สรุปประเด็นน่าสนใจของข้อตกลง Brexit ตลอดจนผลกระทบและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม ดังนี้
1. ระยะเปลี่ยนผ่าน
- ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 ถือว่าสหราชอาณาจักรได้อยู่นอกสถาบันการเมืองของสหภาพยุโรปแล้ว แต่สหราชอาณาจักรจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของสหภาพยุโรปต่อไปภายใต้ ‘ระยะเปลี่ยนผ่าน’ นาน 11 เดือนจนถึงสิ้นปี 2020
- ระยะเปลี่ยนผ่านนี้สามารถขอขยายออกไปได้อีก 1-2 ปี ภายใต้การตัดสินใจร่วมกันของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งต้องตัดสินใจภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 อย่างไรก็ตาม ไม่อนุญาตให้รัฐมนตรีเสนอขอขยายเวลาระยะเปลี่ยนผ่านได้ หากต้องการขยายเวลาระยะเปลี่ยนผ่านจริงต้องเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายผ่านสภา
2. คณะกรรมการร่วมและกฎหมาย
- จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปร่วมในคณะกรรมการ ทำหน้าที่กำกับดูแล อำนวยความสะดวก แก้ไขข้อพิพาท และมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการบังคับใช้ข้อตกลง Brexit ซึ่งมีผลผูกพันกับทั้งสองฝ่าย รวมถึงมีอำนาจแก้ไขข้อตกลงนี้ได้ด้วย โดยจะมีการประชุมกันอย่างน้อยปีละครั้ง นอกจากนี้คณะกรรมการร่วมจะมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่องตามที่กำหนดไว้ เช่น คณะกรรมการด้านสิทธิพลเมือง คณะกรรมการด้านพิธีสารระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เป็นต้น ข้อตกลงการถอนตัวดังกล่าวถึงกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ และกรณีที่ศาลยุติธรรมแห่งยุโรปต้องเข้ามามีบทบาทหากคณะกรรมการร่วมไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาทได้
- ข้อตกลง Brexit รวมถึงกฎหมายของสหภาพยุโรปที่บังคับใช้ โดยข้อตกลง Brexit จะมีผลอย่างเดียวกันทั้งในสหราชอาณาจักรและในสหภาพยุโรป และจะต้องไม่มีกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงนี้
- ระหว่างระยะเปลี่ยนผ่าน หากร่างกฎหมายของสหภาพยุโรปฉบับใดจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสหราชอาณาจักร คณะกรรมาธิการเกี่ยวกับสหภาพยุโรปในสภาสามัญหรือสภาขุนนางสามารถขอเปิดอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวได้ แต่บรรดาสมาชิกสภาจะไม่มีสิทธิ์ในการระงับไม่ให้กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้
- กรอบของความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพยุโรปที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นผู้เจรจา ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสภาอีกต่อไป
- กฎหมายของสหราชอาณาจักรอนุมัติให้จ่ายเงินแก่สหภาพยุโรป (ตามภาระผูกพันที่สหราชอาณาจักรมีจากข้อตกลงถอนตัวจากสหภาพยุโรป) ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2021 เท่านั้น โดยใช้เงินจากกองทุนที่บริหารจัดการโดยกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร หลังจากนั้นการจ่ายเงินในลักษณะนี้ต้องขอความเห็นชอบจากสภาเป็นรายปี ยกเว้นการจ่ายเงินที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรที่มีแต่ดั้งเดิมของสหภาพยุโรป
3. สิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน
- ข้อตกลงถอนตัวดังกล่าวได้คุ้มครองสิทธิของพลเมืองของสหภาพยุโรปในการอาศัยและทำงานในสหราชอาณาจักร และคุ้มครองสิทธิของพลเมืองของสหราชอาณาจักรในการอาศัยและทำงานในสหภาพยุโรปต่อไป ยกเว้นในกรณีที่ได้เดินทางออกนอกพื้นที่เหล่านั้นเกิน 5 ปีติดต่อกัน
- การเดินทางเข้าออกของพลเมืองสหราชอาณาจักรไปยังสหภาพยุโรป และพลเมืองของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมายังสหราชอาณาจักรจะยังคงมีระเบียบเช่นเดิมทุกประการอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2020
- พลเมืองของชาติสมาชิกในสหภาพยุโรป รวมถึงพลเมืองของบางชาติ ได้แก่ ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ (รวมถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของชาติเหล่านี้ แต่มีสมาชิกครอบครัวเป็นคนชาติเหล่านี้) ที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ต้องลงทะเบียนในระบบ EU Settlement Scheme เพื่อที่จะอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป โดยสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2021 และคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนในระบบนี้กว่า 2.7 ล้านคน
- แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ประสานงานกรณี Brexit ของสภายุโรปในรายการวิทยุของ BBC เขายืนยันว่าหากคนกลุ่มนี้ไม่ได้ลงทะเบียนในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะไม่มีการเนรเทศพวกเขาออกไปโดยอัตโนมัติแต่อย่างใด
- สหราชอาณาจักรจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการตรวจสอบหรือ Independent Monitoring Authority (IMA) ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติตามข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในด้านสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และสามารถรับเรื่องร้องเรียนได้
- มีการกำหนดให้รัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรต้องแถลงนโยบายเกี่ยวกับการเตรียมการในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ในเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กที่ไม่มีผู้ดูแลและต้องการลี้ภัยในสหราชอาณาจักรต่อสภา โดยต้องแถลงภายใน 2 เดือน หลังกฎหมายถอนตัวของฝั่งสหราชอาณาจักรมีผลบังคับใช้
- นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสหราชอาณาจักรเตรียมพิจารณาเอาระบบการตรวจคนเข้าเมืองแบบ ‘Australian-style points based system’ ที่จะพิจารณาอนุมัติวีซ่าจากคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ เช่น การศึกษา ทักษะทางภาษา และประสบการณ์การทำงานมาใช้ในปี 2021 ด้วย
4. ไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์
- สำหรับประเด็นพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์นั้น ไอร์แลนด์เหนือจะออกจากสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขตศุลกากรของสหราชอาณาจักร นั่นหมายความว่าหลังจากนี้หากสหราชอาณาจักรเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่น สินค้าจากไอร์แลนด์เหนือก็จะรวมอยู่ในข้อตกลงเหล่านี้ด้วย
- และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาพรมแดนแบบเข้มงวดหรือ ‘Hard Border’ ระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ก็จะไม่มีการตรวจศุลกากรระหว่างสองดินแดนนี้ แต่กระบวนการทางศุลกากรจะใช้บังคับเมื่อสินค้าเดินทางจากส่วนอื่นของสหราชอาณาจักรไปสู่ไอร์แลนด์เหนือแทน
- ซึ่งสินค้าจากส่วนอื่นของสหราชอาณาจักรที่เดินทางเข้าไอร์แลนด์เหนือจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหภาพยุโรป หากสินค้าเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเดินทางต่อไปยังเขตสหภาพยุโรป (อนึ่ง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ออกไปจากไอร์แลนด์เหนือ ภาคธุรกิจก็อาจขอคืนภาษีที่จ่ายไปได้) และสินค้าจากประเทศที่ 3 ที่ผ่านเข้ามายังไอร์แลนด์เหนือก็จะต้องถูกเก็บภาษีศุลกากรของสหภาพยุโรปเช่นกัน (ยกเว้นว่าถ้าพิสูจน์ได้ว่าสินค้าเหล่านี้จะไม่เดินทางออกไปยังเขตสหภาพยุโรปอีก สินค้าเหล่านี้ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตามกฎของสหราชอาณาจักรแทน)
- ไอร์แลนด์เหนือจะยังคงปฏิบัติตามกฎบางอย่างของสหภาพยุโรปต่อไป โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าในระบบตลาดเดียวของสหภาพยุโรป (Single Market) รวมถึงความร่วมมือระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์
- หลังสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่านไปแล้ว 4 ปี สหราชอาณาจักรจะเปิดโอกาสให้สภาของไอร์แลนด์เหนือลงมติว่ายังเห็นชอบระเบียบปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนืออยู่หรือไม่ โดยถ้าระเบียบส่วนใดไม่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้บังคับต่อ ระเบียบส่วนดังกล่าวนั้นจะถูกยุติการบังคับใช้ในอีก 2 ปีถัดไป นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจแก่บรรดารัฐมนตรีที่จะนำระเบียบเหล่านี้มาปฏิบัติผ่านกระบวนการการออกกฎหมายลำดับรองอีกด้วย
5. กระบวนการเจรจาหลังจากนี้
- หลังเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2020 การเจรจาถึงข้อตกลงต่างๆ ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะข้อตกลงทางการค้า คาดว่าจะมีการเร่งรัดเพื่อให้ทันกับการสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่าน (แต่ทั้งสองฝ่ายสามารถขยายระยะเปลี่ยนผ่านได้ตามที่กล่าวไปแล้ว)
- ล่าสุดเมื่อวันที่ 10-15 มกราคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เผยแพร่เอกสารงานนำเสนอ (Presentation) ออกมาหลายชุด ภายใต้หัวข้อหลักเดียวกันว่า ‘การอภิปรายเพื่อเตรียมการเป็นการภายในของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ชาติ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต’ เอกสารแต่ละชุดจะสะท้อนถึงกรอบการเจรจากับสหราชอาณาจักรหลังจากนี้ในหลากหลายประเด็น ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ข้อตกลงการค้าเสรี (ที่มีประเด็นย่อย เช่น การกำกับดูแล ความร่วมมือทางศุลกากร การบริการทางการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา การเคลื่อนย้ายของเงินทุนและระบบการชำระเงิน), การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันและความยั่งยืน, การประมง, การคมนาคม (ทั้งทางอากาศ ทางถนน ทางราง และทางเรือ), พลังงาน, การบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือทางศาลสำหรับเรื่องทางอาญา, นโยบายการต่างประเทศ ความมั่นคงและกลาโหม, การมีส่วนร่วมของสหราชอาณาจักรในโครงการต่างๆ ของสหภาพยุโรป, การเคลื่อนย้ายของบุคคล, ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วน และการกำกับดูแล
- ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสัญญาณว่าสหภาพยุโรปมีแผนจะเจรจากับสหราชอาณาจักรในทิศทางใด และประเด็นเหล่านี้ล้วนยึดโยงกับ ‘ปฏิญญาทางการเมือง’ (Political Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารที่ร่างความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหราชอาณาจักรเอาไว้คู่กับข้อตกลงการถอนตัวที่มีอยู่ แต่ปฏิญญาดังกล่าวมิได้มีผลทางกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ว่าสหราชอาณาจักรอาจไม่ได้ยึดปฏิญญานี้ในการเจรจากับสหภาพยุโรปไปเสียทั้งหมด
6. พิธีการและการเฉลิมฉลองในวันที่ 31 มกราคม 2020
- ในวันที่ 31 มกราคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เขาจะมีถ้อยแถลงเป็นกรณีพิเศษในเย็นวันดังกล่าว และจะมีการฉายภาพนาฬิกานับถอยหลังสู่วินาที Brexit บนถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้อาคารในย่านไวต์ฮอลล์จะมีแสงไฟปรากฏขึ้นเพื่อแสดงถึงวินาทีสำคัญ และจะมีการประดับธงยูเนียนแจ็คที่จัตุรัส Parliament Square ด้วย
- แต่สำหรับชาวสหราชอาณาจักรที่หวังจะได้ยินหอนาฬิกาบิ๊กเบนที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงลั่นระฆังในวินาทีสำคัญนี้ก็อาจจะต้องผิดหวัง เมื่อกลุ่มผู้ระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ปรับปรุงระฆังของบิ๊กเบนเพื่อการดังกล่าวไม่สามารถโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ของสภาสามัญรับเงินบริจาคดังกล่าวได้
- นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เตรียมจะจัดการชุมนุม ‘Brexit Celebration’ เพื่อเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวบริเวณจัตุรัส Parliament Square ตั้งแต่เวลา 21.00-23.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดย เอ็ด บาร์กเกอร์ โฆษกของกลุ่ม ‘Leave Means Leave’ ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมเฉลิมฉลองดังกล่าว เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว THE STANDARD ว่าจะมีผู้กล่าวปราศรัยบนเวทีอย่างน้อย 6 คน หนึ่งในนั้นที่เราอาจคุ้นชื่อคือ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรค Brexit ซึ่งเคยเป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของพรรค UKIP ที่มีจุดยืนสนับสนุนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
- ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบรรดานักการเมืองที่ไม่สนับสนุน Brexit โดยระบุเหตุผลถึงความเป็นฝักฝ่ายภายในประเทศที่รุนแรงอยู่แล้ว และบางคนก็มองว่า Brexit ไม่ใช่เรื่องที่ควรเฉลิมฉลอง
- และในวันที่ 31 มกราคมนี้ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในวัน Brexit มูลค่า 50 เพนนีจะถูกนำมาหมุนเวียนใช้งานในระบบเป็นวันแรก โดยเหรียญดังกล่าวจะมีข้อความว่า “Peace, prosperity and friendship with all nations” หรือ “สันติภาพ ความเจริญ และมิตรภาพกับทุกประเทศ” พร้อมลงวันที่ 31 มกราคม 2020 ปรากฏอยู่บนเหรียญ และคาดว่า บอริส จอห์นสัน จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเหรียญนี้เป็นคนแรกๆ
เพิ่มเติม: วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- มีอย่างน้อยสองหน่วยงานในสหราชอาณาจักรที่เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรปภายใต้ดีลของ บอริส จอห์นสัน และผลจากทั้งสองหน่วยงานสะท้อนตรงกันว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบในแง่ลบ
- หน่วยงานแรกคือสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NIESR) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถาบันอิสระเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร รายงานผลการศึกษาว่าในระยะเวลา 10 ปีถัดไป ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักรจะต่ำลง 3.5% หากเทียบกับการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและตลาดเดียวต่อไป ซึ่งแย่กว่าดีลก่อนหน้านี้ของ เทเรซา เมย์ ที่จะทำให้ GDP ต่ำลง 3% อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรระบุกับ BBC ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปที่ ‘ไปไกลกว่า’ ข้อตกลงการค้าเสรีแบบพื้นฐานที่ NIESR ใช้ในการศึกษา
- อีกหน่วยงานที่เผยผลการศึกษาก็คือ ‘UK in Changing Europe’ ซึ่งเป็นสถาบันอิสระเพื่อการวิจัยนโยบายอีกแห่ง เผยว่าแม้จะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจแบบ ‘มองโลกในแง่ดี’ ที่สุดแล้วก็ตาม ก็ยังพบว่าผลกระทบที่เกิดจากการค้าและการย้ายถิ่นฐานภายใต้ดีลของ บอริส จอห์นสัน จะทำให้ GDP ต่อหัวประชากรลดลง 2.3%
- ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยในปี 2018 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังสหภาพยุโรปอยู่ที่ราว 2.91 แสนล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 45% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสหราชอาณาจักร ส่วนมูลค่าการนำเข้าในปีเดียวกันนี้อยู่ที่ราว 3.57 แสนล้านปอนด์ คิดเป็น 53% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด
- ส่วนผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น Economic Intelligence Center หรือ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า Brexit เป็นประเด็นย่อยอันหนึ่งใน ‘ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์’ ซึ่งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์นี้เองที่เป็น 1 ใน 3 ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2020
- อย่างไรก็ตาม EIC ระบุว่าการที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในประเด็น Brexit ลดลงในปีนี้ และเมื่อรวมกับปัจจัยอื่น เช่น ความคืบหน้าการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ก็จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับสูงขึ้น มีเงินทุนไหลกลับเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) รวมถึงอาจส่งผลดีทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินไทยลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้ EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ (1.25%) ต่อเนื่องในปีนี้
- ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ของกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีข้อคิดเห็นว่าหากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงความสัมพันธ์ทางการค้าได้ทันในระยะเปลี่ยนผ่าน ไทยและประเทศอื่นๆ อาจได้รับประโยชน์จากการเข้าตลาดอย่างเท่าเทียมกับสหภาพยุโรปในอัตราภาษีที่เท่าทัน แต่ก็ดังที่กล่าวไปแล้วว่าทั้งสองฝ่ายยังสามารถขยายเวลาระยะเปลี่ยนผ่านออกไปเพื่อขยายเวลาเจรจาได้อีกนั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2020/1/enacted/data.htm
- https://ec.europa.eu/commission/publications_en?page=1
- https://ec.europa.eu/commission/publications/withdrawal-agreement-and-political-declaration-official-journal-european-union-12-november-2019_en
- https://www.gov.uk/guidance/living-in-the-eu-prepare-for-brexit
- https://www.gov.uk/guidance/visiting-the-uk-after-brexit
- https://www.gov.uk/eusettledstatus
- https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/brexit-deal-withdrawal-agreement
- https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/brexit-deal-northern-ireland-protocol
- https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/withdrawal-agreement-bill
- https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/002795011925000104
- https://ukandeu.ac.uk/johnsons-brexit-leaves-uk-economy-worse-off-than-mays/
- https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-51133846
- https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-51149538
- https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-51146992
- https://www.bbc.co.uk/news/business-50219036
- https://www.theguardian.com/politics/2020/jan/25/heseltine-says-brexit-celebrations-rub-remainers-nose-in-it
- https://news.sky.com/story/points-based-immigration-system-to-be-brought-in-by-end-of-2020-11913200
- https://www.telegraph.co.uk/politics/0/brexit-transition-period-2020/
- https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/582050/582050.pdf&title=582050&cate=683&d=0
- https://www.scbeic.com/th/detail/product/6548