×

BREAKING: ศบค. เผยประชาชนต้องโหลดแอปฯ ‘หมอชนะ’ หากพบติดเชื้อ ไม่มีแอปฯ อาจมีความผิดตามข้อกำหนด

โดย THE STANDARD TEAM
07.01.2021
  • LOADING...

วันนี้ (7 มกราคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ข้อกำหนดฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 17) ซึ่งออกมาตรการในการควบคุมโควิด-19 กำหนดให้ต้องมีการโหลดแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ไว้ในโทรศัพท์มือถือของประชาชน และหากพบว่าในเวลาต่อมามีการตรวจพบว่าบุคคลนั้นมีการติดเชื้อ แต่ไม่มีแอปฯ ดังกล่าว อาจมีความผิดตามโทษที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดฉบับล่าสุด

 

โดยมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ระบุข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายดังต่อไปนี้
 

ข้อ 1 การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ประชาชนในพื้นที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ควบคู่การใช้แอปพลิเคชัน ‘ไทยชนะ’

 

ข้อ 2 การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางคมนาคมและยานพาหนะของประชาชนเดินทางเข้า-ออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี, ชลบุรี, ตราด, ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดคัดกรองคนเข้า-ออกพื้นที่ โดยบุคคลที่จะออกนอกพื้นที่ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น บัตรประชาชน บัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองต่อเจ้าหน้าที่

 

ข้อ 3 การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค ลงโทษข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคคล ที่ละเลยหรือสนับสนุนการนำพาแรงงานต่างด้าวลอบเข้าเมือง อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ข้อ 4 โทษผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย

 

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

สำหรับแอปฯ หมอชนะ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ‘Code for Public’ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และการวิเคราะห์ข้อมูล ‘กลุ่มช่วยกัน’ 

 

แนวคิดคือการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาการปกปิดข้อมูลของประชาชนในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ผ่านการใช้เทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ติดตามตำแหน่งของผู้ใช้แอปฯ และแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แอปฯ แต่ละรายได้เดินทางผ่านหรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ (การลงทะเบียนแบบไม่ระบุตัวตน, ข้อมูลทั้งหมดจะทำลายทิ้งทันทีหลังโควิด-19 จบลง)

 

ทำให้เมื่อผู้มารับบริการทางการแพทย์แสดงข้อมูลในแอปฯ บุคลากรแพทย์ก็จะสามารถจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนั้นสำหรับผู้ใช้แอปฯ ทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ก็สามารถตรวจดูแอปฯ เพื่อประเมินได้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง แล้วปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางหรือบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X