×

ราคาแบรนด์เนมในไทยจะลดลงได้จริงหรือ? เมื่อรัฐบาลจ่อหั่น ‘ภาษีแบรนด์เนม’ ที่ปกติคิด 20-30% หวังดูดเงินจากนักท่องเที่ยว (และคนไทย)

27.10.2023
  • LOADING...
ภาษีแบรนด์เนม

เมื่อต้นเดือนตุลาคมกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กำลังหารือเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการช้อปปิ้งเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซันในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ตามนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน โดยหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลกำลังศึกษาคือ ‘การลดหรือยกเว้นภาษีสินค้าแบรนด์เนม’ ซึ่งหากย้อนกลับไป เหล่าภาคค้าปลีกได้ออกมาส่งเสียงเรียกร้องมาโดยตลอด

 

ทำไมรัฐบาลอยากลดภาษีแบรนด์เนม?

 

1. หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติรายได้สูง

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ประชุมนัดแรกร่วมกับภาคเอกชนไปแล้วเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นดังกล่าว โดยหนึ่งในหลักการสำคัญคือ การดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายในไทยเพิ่มขึ้น

 

2. จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด

 

ตามข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มีจำนวน 3,204,177 คน ขยายตัว 5,376% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด ยังลดลง 86.16%

 

3. เงินยังไหลออกจากประเทศมากกว่าไหลเข้า

 

ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมติดลบ 16,894 บาท สะท้อนว่าเงินยังไหลออกจากประเทศมากกว่าไหลเข้า

 

ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัด หมายถึง ดุลบัญชีที่แสดงเงินที่ไหลเข้า-ออกประเทศนั้นๆ จากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการของประเทศ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ดุลการค้า (Trade Balance) และดุลบริการ (Service Account)

 

การหาคำจำกัดความภาษีแบรนด์เนมเป็น ‘ความท้าทาย’

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังได้เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เรียกรองอธิบดีกรมศุลกากรที่กำกับดูแลส่วนนี้อยู่ไปให้ข้อมูลแล้วว่า กรมศุลกากรเก็บภาษีส่วนนี้ได้เท่าไร และกรมศุลกากรก็ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม หากมีการออกมาตรการลดหรือยกเลิกภาษีแบรนด์เนมนี้จริงต้องจับตาการตีความคำว่า ‘ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย’ หรือ ‘ภาษีสินค้าแบรนด์เนม’ เนื่องจากปัจจุบันภาษีนำเข้าที่กรมศุลกากรมีหน้าที่จัดเก็บแบ่งตามประเภทของสินค้าเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น คิดภาษี 30% สำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้า, หมวก, เข็มขัด, รองเท้า, เครื่องสำอาง และน้ำหอม และคิดภาษี 20% สำหรับสินค้ากระเป๋า

 

ภาษีแบรนด์เนมจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสู้เพื่อนบ้าน

 

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากการที่ภาครัฐมีแผนจะออกมาตรการลดหรือยกเว้นภาษีสินค้าแบรนด์เนมในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ย 20-30% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ 

 

ดังนั้นมาตรการภาษีนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติคุณภาพสูงให้ใช้จ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ถือเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับสินค้าแบรนด์เนมมากที่สุดในโลก จึงนับเป็นการกระตุ้นที่ช่วยเพิ่มทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและดันให้ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นด้วย

 

ลดภาษี ราคาสินค้าจะลดได้หรือไม่?

 

ญนน์มองว่า หากภาษีนำเข้าลดลงแล้ว ราคาขายของสินค้าก็จะลดลง ถือเป็นการสนับสนุนให้คนไทยที่มีกำลังซื้อสูงได้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมในประเทศ แทนการนำเงินไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศอีกด้วย

 

ลดภาษีแบรนด์เนมจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจริงหรือ?

 

นอกจากนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมา เช่น เรื่องการยกเว้นวีซ่า หรือโปรโมต Soft Power ถือเป็นเรื่องดีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาไทยจำนวนมาก แต่เพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างทวีคูณ ควรต้องเน้นนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

นอกจากนี้อยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มบริการ VAT Refund for Tourist ณ จุดซื้อ-ขายเหมือนอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น และช่วยต่อยอดธุรกิจให้ SMEs ไทยด้วย อีกทั้งยังควรเดินหน้าต่อในเรื่อง Phuket Free Zone อย่างจริงจัง เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบต่อยอดไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลต้องไม่ลืมที่จะโปรโมตการท่องเที่ยวให้กับคนไทยด้วย สนับสนุนให้คนไทยเที่ยวไทย กินของไทย ใช้ของไทย และซื้อสินค้าในไทย เพื่อให้เม็ดเงินไม่รั่วไหลและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยให้มากที่สุด

 

“ผมเชื่อมั่นว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะเป็นเสมือนวัคซีนที่ช่วยเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้” ญนน์กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า รัฐบาลควรมาเรียบเรียงดูใหม่ว่านักท่องเที่ยวที่รัฐบาลอยากจะดึงดูดเข้ามา มาตรการหรือข้อเสนออะไรที่เป็นตัวดึงดูดมากที่สุด

 

“วีซ่าก็เป็นมาตรการน่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องการลดภาษีอาจไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากเท่าปัจจัยอื่น” 

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากทหารไทยธนชาตให้มุมมองที่น่าสนใจว่า รัฐอาจจะต้องไปเปรียบเทียบก่อนว่าภาษีที่ลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามาคุ้มหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 

ตลาดสินค้าแบรนด์หรูยังโตต่อเนื่อง

 

จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า แม้สถานการณ์ในตลาดโลกจะมีความไม่แน่นอน แต่สินค้าแบรนด์หรูก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (กรณีแย่ที่สุดคาดว่าจะเติบโต 8% ในปี 2566) และจะเติบโตไปเรื่อยๆ จากปัจจุบันจนถึงปี 2573 ด้วยแนวโน้มการใช้จ่ายที่ไม่ธรรมดาของกลุ่มผู้บริโภคที่ร่ำรวยที่สุด (+40% ในปี 2567) 

 

การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจเป็นผู้มีกำลังซื้อสูง มีอายุน้อยลง และมีจำนวนมากขึ้น ได้แก่ คนรุ่น Gen Z และรุ่น Millennials (ซึ่งมีจำนวนราว 2.10 พันล้านคน) และเป็นครั้งแรกที่แซงหน้าคนรุ่น Gen X และ Baby Boomers (ราว 1.90 พันล้านคน)

 

ขณะที่วิจัยเรื่อง True-Luxury Global Consumer Insight โดยบริษัท Boston Consulting Group ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ที่มีกำลังใช้จ่ายสูง 12,000 คน (ใช้จ่ายเฉลี่ย 39,000 ยูโรสำหรับเสื้อผ้าและเครื่องประดับแฟชั่น) ใน 11 ประเทศ เปิดเผยว่า มีแนวโน้มการใช้จ่ายในสินค้าแฟชั่นหรูมีมูลค่าสูงสุดในจีนและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตลาดสินค้าหรูจะขยายตัวเป็นสองเท่าภายในปี 2573 

 

และในสหรัฐอเมริกามูลค่าการค้าในอเมริกา (31% ของมูลค่าการซื้อ-ขายทั่วโลก) ปัจจุบันเป็นตลาดสินค้าหรูที่ใหญ่ที่สุด ตามด้วยจีน (21%) ในปี 2566 การค้าในจีนรวมกับของสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะสามารถนำไปสู่การขยายตัวของตลาดสินค้าหรูได้ถึง +13% ส่วนประเทศที่มีอนาคตสดใสที่สุดในระยะกลาง-ยาวคือซาอุดีอาระเบีย จากปัจจุบันมูลค่าการค้าอยู่ที่ 3 พันล้านยูโร คาดว่าจะเป็น 6 พันล้านยูโรในปี 2566 และมูลค่าการค้าอาจเพิ่มเป็นสองเท่าภายในสิ้นทศวรรษนี้

 

เพราะการเติบโตนี้เอง จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะให้ความสนใจในการเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่จะช่วยดึงให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ 

 

กระนั้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวสู่ข้อสังเกตและคำถามที่ต้องตอบให้ได้ชัดเจนว่า เมื่อมีการยกเว้นหรือลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมแล้ว ภาคส่วนต่างๆ จะได้รับผลกระทบอย่างไร? และสุดท้ายการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่?

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่หรือไม่? หรือจะเป็นแค่การสร้างการบริโภคที่เกิดขึ้นในระยะสั้น? ดังนั้นรัฐบาลยังควรพิจารณาผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเมื่อมีการใช้นโยบายนี้

 

ภาพ: Mike Kemp / In Pictures via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising