วันนี้ (9 ธันวาคม) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ครั้งที่ 3 หลังจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อรับผิดชอบผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
การประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นไปได้ด้วยดี และมีองค์ประชุมเกิน 250 คนตามที่ข้อบังคับพรรคได้กำหนดไว้ ทำให้เริ่มการประชุมได้อย่างราบรื่น
‘อภิสิทธิ์’ ขอพักการประชุม ปิดห้องคุยเฉลิมชัย ลาออกสมาชิกพรรค
หลังเปิดการประชุม ชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ได้เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง โดยมีองค์ประชุมให้การรับรอง 169 คน
อภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า ขอบคุณชวนที่สนับสนุนตนเอง และหลายคนมีความเชื่อว่าตนเองอาจจะอยู่ในฐานะที่จะมาแก้ไขปัญหา และมากอบกู้ฟื้นฟูประชาธิปัตย์ให้กลับคืนมา แต่ทุกคนทราบดีว่าหลังจากที่ตนเองแสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องการร่วมรัฐบาลเมื่อปี 2562 หรือสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตนเองต้องระวังบทบาทมาตลอด
“ผมอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มา 30 ปี ผมขอยืนยันว่าไม่มียุคใดที่การสนับสนุนพรรคและผู้สมัครของพรรคทำได้มากเท่ายุคของท่านเลขาฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่ความพร้อมที่มากที่สุดนั้นกลับมาพร้อมความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับว่าที่เรามาถึงจุดนี้เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืน หรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร”
อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า วันนี้ไม่มีใครชนะหรือแพ้ แต่วันนี้พรรคเดินต่อไม่ได้หากไม่มีเอกภาพแท้จริง ถ้าตนเองลงชิงหัวหน้าพรรคแล้ว ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็จะมีปัญหา ที่ผ่านมามีความพยายามขอพูดคุยกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นในเมื่อมีผู้เสนอชื่อตนมา จึงขอถามเฉลิมชัยในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคว่า เราควรพักการประชุมแล้วคุยกันหรือไม่ จากนั้นเฉลิมชัยจึงได้สั่งพักการประชุม 10 นาที เพื่อพูดคุยเป็นการส่วนตัวในห้องรับรอง
ภายหลังการพูดคุย อภิสิทธิ์ประกาศขอถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าจะไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกของพระแม่ธรณีที่จะเอาอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไปรับใช้บ้านเมืองต่อไป วันข้างหน้าถ้าในพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าตนเองยังมีประโยชน์และยังช่วยงานได้ก็คงจะไม่ปฏิเสธ หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานได้สำเร็จอย่างที่ได้มีการบอกไว้
‘มาดามเดียร์’ ตกรอบแรก
จากนั้น ขยัน วิพรหมชัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน เสนอชื่อ ‘วทันยา บุนนาค’ ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. เป็นผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีผู้รับรอง 144 คน พร้อมทั้งเสนอญัตติให้การยกเว้นข้อบังคับข้อ 31 (6) ที่กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคได้ต้องเคยเป็น สส. หรือรัฐมนตรีของพรรค หรือต้องสังกัดพรรคมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี
แต่ผลการประชุม วทันยาได้เสียงสนับสนุนเพียง 139 คน ซึ่งไม่ถึงจำนวน 3 ใน 4 ตามข้อบังคับ ทำให้วทันยาหมดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทันที
วทันยาเปิดใจทั้งน้ำตาว่า ขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ได้รับรองชื่อของตนเองในการลงรับสมัครเลือกหัวหน้าพรรค และสมาชิกที่โหวตเห็นชอบให้ยกเว้นข้อบังคับด้านคุณสมบัติให้กับตนเอง พร้อมย้ำถึงจุดเริ่มต้นความตั้งใจในการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเข้ามาทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่นาน แต่เธอก็มีอุดมการณ์และความหวัง เชื่อมั่นในศรัทธาของพรรค
วทันยากล่าวต่อว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ยืนอยู่บนทาง 2 แพ่ง การเข้าสู่อำนาจโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ ทำได้เพียงหวังว่าประชาชนจะให้โอกาสอีกครั้ง และการใช้อุดมการณ์ทางจิตวิญญาณของพรรคในการซื่อตรงกับประชาชน และยึดหลักความถูกต้องเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นหนทางที่พรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จ และได้รับแรงศรัทธาจากประชาชนมาตลอด 77 ปี
แม้ตัวเองจะเพิ่งเข้าพรรค แต่ก็ได้ทบทวนแล้วว่าสิ่งที่พรรคเคยทำสำเร็จและความผิดพลาดที่ทำให้พรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาโครงสร้างพรรคหรือการทำงานภายในพรรค แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ไม่สามารถสร้างอุดมการณ์หรือจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เพื่อเป็นความหวัง เป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ และสิ่งที่ตัวเองกลัวที่สุดก็คือ วันที่พรรคกำลังยืนอยู่บนทาง 2 แพ่งนี้ว่า ประชาธิปัตย์จะสามารถฟื้นฟูอุดมการณ์ได้สำเร็จหรือกำลังจะเปลี่ยนไป
ส่วนทิศทางการทำงานหลังจากนี้ วทันยากล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่ขอประเมินทบทวนและรอดูทิศทางของพรรคต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าจะต้องทำงานกับพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน หากอุดมการณ์ไม่ตรงกันแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าสมควรทำงานกับพรรคต่อหรือไม่ ส่วนจะใช้ระยะเวลาอีกกี่วันยังไม่รู้ แต่เมื่อถึงเวลาก็คงจะมีสัญญาณที่จะบอกว่าไม่ใช่แล้ว
เฉลิมชัยย้ำ ไม่เป็นพรรคอะไหล่-ไม่ทำลายอุดมการณ์ประชาธิปัตย์
จากนั้น เดชอิศม์ ขาวทอง สส. จังหวัดสงขลา ได้เสนอชื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เฉลิมชัยได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า รู้ว่าการตัดสินใจวันนี้มันเจ็บปวด ทำลายสิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิต เมื่อสักครู่ได้คุยกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าตนเองกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่มีสีอื่น ตลอดเวลาที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็ยึดอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นคนเคร่งครัดในหลักการ
เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ตนเองเป็นรัฐมนตรีที่พรรคให้โอกาส ยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต กล้าพูดได้ว่าไม่มีมลทิน ตอนอยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ท้าข้าราชการให้ตรวจสอบได้ เพราะไม่ได้ไปในนามตระกูลศรีอ่อน แต่ไปในนามพรรคประชาธิปัตย์ สำนึกในบุญคุณที่พรรคประชาธิปัตย์ทำให้มีวันนี้ ตนเองอยากเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า จะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ
“พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ให้ใคร จากนี้จะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่มีวันทำลายหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” เฉลิมชัยกล่าว
เปิดรายชื่อทีมผู้บริหารประชาธิปัตย์ยุคเฉลิมชัย
ทั้งนี้ ที่ประชุมวิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 3 มีมติร้อยละ 88.5% ให้ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 และมี เดชอิศม์ ขาวทอง สส. จังหวัดสงขลา เป็นเลขาธิการพรรค
ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคทั้ง 13 คน มีชื่อดังต่อไปนี้ 1. นริศ ขำนุรักษ์ 2. จิตภัสร์ กฤดากร 3. พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ 4. นราพัฒน์ แก้วทอง 5. ธารา ปิตุเตชะ 6. สุธรรม ระหงษ์ 7. มนตรี ปาน้อยนนท์ 8. อภิชาต ศักดิเศรษฐ์ 9. สมบัติ ยะสินธุ์ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ 10. ไชยยศ จิรเมธากร ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน 11. ประมวล พงศ์ถาวราเดช ดูแลพื้นที่ภาคกลาง 12. ชัยชนะ เดชเดโช ดูแลพื้นที่ภาคใต้ และ 13. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)
ส่วนรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1. สุพัชรี ธรรมเพชร 2. จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ 3. สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ 4. ชนินทร์ รุ่งแสง 5. สมยศ พลายด้วง และ 6. กันตวรรณ ตันเถียร
ส่วน ราเมศ รัตนะเชวง นั่งโฆษกพรรคเช่นเดิม, วิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนพรรค และ เจิมมาศ จึงเลิศศิริ เหรัญญิกพรรค
‘สร้างความเป็นเอกภาพ’ ภารกิจแรกหัวหน้า ปชป. ตั้ง KPI ประเมินงานทุก 3 เดือน
เฉลิมชัยเปิดใจในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า ตนเองตัดสินใจตอบรับคำเชิญลงสมัครเมื่อคืนนี้ (8 ธันวาคม) เวลา 22.00 น. พร้อมย้ำว่าภารกิจแรกของตนเองในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือ การสร้างความเป็นเอกภาพภายในพรรคให้กลับคืนมา โดยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่พร้อมทำงาน และต้องเห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งข้อบังคับ ยุทธศาสตร์พรรค และนโยบาย โดยจะประเมินผลงานกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทุก 3 เดือน
ส่วนที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น เฉลิมชัยกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับอภิสิทธิ์ว่าไม่ออกได้หรือไม่ แต่อภิสิทธิ์ยืนยันว่าเพื่อความสบายใจ ท่านจะได้ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตนก็เคารพการตัดสินใจ หากอภิสิทธิ์จะกลับมาก็ยินดี และอยากให้ท่านกลับมา ส่วนการพูดคุยในเวลา 10 นาทีช่วงพักการประชุมนั้น ก็ไม่มีปัญหาความขัดแย้งต่อกัน ตนและอภิสิทธิ์รักพรรคประชาธิปัตย์ กรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้าเหมือนกันทั้งคู่
“ขอให้เชื่อมั่น ผมอยู่พรรคมา 22 ปีเต็ม หลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเปลี่ยน ตนเป็นคนที่เคร่งครัดรักษาหลักการและอุดมการณ์ของพรรคมาโดยตลอด วันนี้แค่มาเพื่อแก้วิกฤตให้เดินต่อไปได้ และประกาศชัดเจนว่าประชาธิปัตย์จะมีการปรับเปลี่ยน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาได้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เป็นความตั้งใจ”
ส่วนกระแสข่าวเตรียมเข้าร่วมรัฐบาล เฉลิมชัยยืนยันว่า ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นฝ่ายค้าน และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หลังเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ อย่างเข้มแข็ง ส่วนอนาคตทางการเมืองนั้น หากมีการทาบทามหรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ส่วนตัวต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและพรรคเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตัวบุคคล และอนาคตจะเป็นอย่างไรไม่มีใครเดาได้ แต่หลักการและอุดมการณ์ยังต้องอยู่
ส่วนหลังจากนี้จะมีสมาชิกพรรคทยอยลาออกเพิ่มอีกหรือไม่ เฉลิมชัยกล่าวว่า ตนเองจะพยายามให้เต็มที่ วันนี้ขอให้ทุกคนมาช่วยกัน เมื่อตัดสินใจแล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว เชื่อว่าทุกคนมีเหตุผล อยู่ที่ว่าเรารักพรรคจริงหรือไม่
ส่วนที่ตนเองเคยปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2565 ว่า หากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ตนเองจะเลิกเล่นการเมือง แต่วันนี้กลับมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เรื่องนี้ตนเคยพูดไปแล้วถึง 2 ครั้ง หากอยากได้คำตอบขอให้ไปถาม สส. และกรรมการบริหารพรรค เชื่อว่าทุกคนจะตอบ เพราะมันคือข้อเท็จจริง ใครจะคิดว่าอย่างไรตนไม่รู้ แต่สำหรับตนเรื่องที่เกิดขึ้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และที่ผ่านมาก็ตอบชัดเจนแล้ว