Rhythm & Boyd คือ ‘รักแรก’ ที่ทำให้คนฟังเพลงได้ทำความรู้จักกับบทเพลงของ บอย โกสิยพงษ์ ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยเพลงฮิตประเภทหยิบขึ้นมาฟังครั้งใดก็ยังคงเพราะในระดับร่วมสมัยอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันสำหรับคนสร้างงานอย่างบอย อัลบั้ม Rhythm & Boyd ยังเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จครั้งแรกและครั้งสำคัญในชีวิตนักแต่งเพลง ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น มันยังเป็นอัลบั้มเพลงรักที่บรรจุความทรงจำ บรรทุกความรู้สึก และประสบการณ์วัยหนุ่มที่ทั้งสดใส อ่อนหัด ผิดพลาด ท้อแท้ ซาบซึ้ง และตรึงใจ ฯลฯ ไว้อย่างครบถ้วน
ถ้าใครมีโอกาสได้ตามอ่านเรื่องราวชีวิตทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของอัลบั้มที่บอย โกสิยพงษ์ตั้งใจเขียนอุ่นเครื่องมอบให้แฟนเพลงก่อนจะถึงคอนเสิร์ตสำคัญ BOYdKO50th #1 RHYTHM & BOYd CONCERT จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผ่านทางแฟนเพจ Boyd Kosiyabong เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงจะคิดตรงกันว่าเรื่องที่เขียนไว้นั้นมันทั้งสนุก! และเต็มไปด้วยแง่มุมน่าสนใจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ ‘ลึกซึ้ง’ ระหว่างคนในครอบครัวซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทั้งในแง่การใช้ชีวิตและการสร้างงานเพลงให้กับอดีตเด็กโข่งหัวทึบชื่อ ‘บอย’ ลูกชายคนรองของครอบครัว ‘โกสิยพงษ์’ อีกด้วย
(A)
Rhythm & Boyd ความฝันที่ไม่ง่าย
“การทำอัลบั้มเป็นความฝันของเราเลย เราอยากทำเพลง อยากเป็นโปรดิวเซอร์ อยากมีเพลงในแบบที่อยากฟัง ผมมีความคิดหลายทีนะ เวลาฟังเพลงออริจินัลซาวด์แทร็กต่างๆ จะรู้สึกว่าเพลงมันเพราะทั้งอัลบั้มเลย ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่แต่งเพลงที่ฮิตทุกเพลง เพลงที่เราชอบทุกเพลงแบบนั้นออกมาบ้างล่ะ
“อัลบั้มเพลงที่มีนักร้องหลายๆ คนมาร้องมันจะได้ไม่น่าเบื่อ ถ้าฟังคนเดียวร้องสำหรับเราอาจจะเบื่อ แล้วเราก็เห็นตัวอย่างมาแล้วจาก สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ตอนเขาทำอัลบั้ม Z-MYX Z-Zomkiat (2535) ที่มีนักร้องหลายๆ คนมาร่วมร้อง เฮ้ย! อย่างนี้ก็ทำได้ว่ะ เราเลยอยากทำบ้าง เพราะมีเพลงที่แต่งเก็บเอาไว้เยอะมาก ตั้งแต่เด็กผมแต่งเพลงมาตลอด เลยอยากรวบรวมผลงานของตัวเอง ครั้งแรกตั้งใจว่าออกอัลบั้มเดียวก็พอใจแล้ว สบายใจแล้ว ผมก็เลยไปขอสตางค์แม่กับพ่อฮะ ผมบอกพวกท่านว่าอยากจะทำอัลบั้มเพลงในแบบที่อยากทำ
“พอได้เงินมา ด้วยความที่ผมเรียนจบจาก UCLA เน็ตเวิร์กทางด้านการทำงานดนตรี ทั้งนักดนตรีเก่งๆ โปรดิวเซอร์เก่งๆ ที่ผมรู้จักเลยอยู่ที่อเมริกาหมด เพราะตอนอยู่ที่นั่นผมเคยทำงานในตำแหน่งที่เขาเรียกว่า ‘gofer’ มาจากคำว่า go for it คือไปซื้อกาแฟมา ไปหยิบปลั๊กมา ไปโน่นไปนี่หน่อย คือเป็นคนรับใช้อยู่ในห้องอัด ดังนั้นผมจะรู้จักคนเก่งๆ เยอะมาก แล้วถ้าผมขอให้เขาช่วยเหลือ ช่วยเล่นดนตรีให้ เขาต้องช่วยผมแน่”
บอย โกสิยพงษ์ ในวัย 50 ปี ที่ยังคงเป็นทั้งนักแต่งเพลงและผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS พาย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของอัลบั้ม Rhythm & Boyd ที่กว่าจะก่อร่างสร้างความฝันจนสำเร็จ เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวผิดพลาด ล้มเหลว ทดท้อ เสียใจจนแทบจะล้มเลิกความฝันลงกลางทาง ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะคนในครอบครัว โดยเฉพาะ ‘พ่อ’ และ ‘แม่’ ไม่แน่ว่าแฟนเพลงอาจจะไม่มีโอกาสได้ฟังเพลงอย่าง Seasons Change ฤดูที่แตกต่าง หรือแม้แต่ Live and Learn อย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้
(B)
“ชีวิตคนเราก็เหมือนฤดู ตอนนี้ฤดูของบอยฝนมันตกอยู่ แต่ถ้าเราอดทนรอไหว ฟ้าหลังฝนมันจะสวยงามเสมอ”
คำพูดแสนอบอุ่นของ ‘แม่’ (อุไรวรรณ โกสิยพงษ์) ได้ให้กำลังใจกับ ‘บอย’ ในวันคืนที่สูญสิ้นกำลังใจอย่างที่สุด หลังจากนั้นไม่นาน มันได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับบทเพลง Seasons Change ฤดูที่แตกต่าง ในเวลาต่อมา
คืนหนึ่งเวลาประมาณตีสองของประเทศไทย มันเป็นช่วงเวลาก่อนที่อัลบั้ม Rhythm & Boyd ของ บอย โกสิยพงษ์ จะเสร็จสมบูรณ์ จนกระทั่งถูกวางจำหน่ายให้คนฟังเพลงไทยได้รู้จักในช่วงปี 2538
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นจากเงินทุนจำนวน ‘1 ล้านบาท’ ที่ ‘บอย’ ลูกชายคนรองของครอบครัวโกสิยพงษ์ เอ่ยปากขอยืมจากพ่อและแม่ โดยหวังที่จะทำอัลบั้มเพลงไทยอย่างที่ตัวเองตั้งใจจะตามฝัน หลังจากใช้เวลาตลอด 5 ปี เรียนจนจบหลักสูตรด้าน Music Business, Songwriting และ Electronics Music จาก มหาวิทยาลัย UCLA (University of California at Los Angeles) สหรัฐอเมริกา
หลังจากได้เงินทุน 1 ล้านบาท บอยโบยบินด้วยปีกฝันไปสร้างงานเพลงที่อเมริกา แต่แล้วทางฝันที่ทำเหมือนจะไปได้ด้วยดีก็สะดุดเป็นครั้งแรก ก่อนจะตามมาด้วยก้อนหินลูกแล้วลูกเล่าให้เขาต้องสะดุดล้มอีกหลายครั้ง …ด้วยความผิดพลาดจากประสบการณ์ที่ยังอ่อนด้อย ที่สุดจากเงินทุน 1 ล้าน ขยายกลายเป็น ‘ล้านที่สอง’ และ ‘ล้านที่สาม’ ในเวลาต่อมา เมื่อบอยต้องเจอกับเรื่องร้าย เพราะรถยนต์ที่เก็บเดโมอัลบั้ม Rhythm & Boyd ที่เขาตั้งใจทำมานานกว่า 6 เดือน ได้ถูกมือดีจากประเทศเสรีงัดไปจากท้ายรถ
“ผมจำได้ว่าแขนขาผมอ่อนแรงอย่างอธิบายไม่ถูกและทรุดตัวลงนั่งกับพื้นโรงรถอย่างไม่กลัวกางเกงเปื้อน แล้วน้ำตาก็ค่อยๆ ไหลออกมาเหมือนทำนบแตก และตัดสินใจว่าจะยุติความฝันนี้ลง หลังจากละลายเงินของพ่อแม่ไปถึง 2 ล้าน ในระยะเวลาเพียงปีเดียว”
กลางดึกของคืนนั้น บอยโทรศัพท์ทางไกลจากลอสแอนเจลิสกลับมาเมืองไทย เขาบอกกับผู้หญิงที่อารีกับความอ่อนหัดของลูกชายมาทั้งชีวิตว่า “แม่…บอยขอโทษ บอยทำเงินที่แม่ให้มาเพิ่มหายไปอีกแล้วฮะ” บอยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้แม่ฟังทางโทรศัพท์ทั้งน้ำตา และบอกทิ้งท้ายว่าจะเลิกทำงานนี้แล้ว หากแต่ปลายสายจากประเทศไทยกลับพูดปลอบมาด้วยเสียงที่อบอุ่นและอ่อนหวาน
“ชีวิตคนเราก็เหมือนฤดู ตอนนี้ชีวิตบอยกำลังอยู่ในฤดูฝนจะไม่ให้ฝนตกก็ไม่ได้ แต่ถ้าบอยอดทนให้ฤดูฝนมันผ่านไป บอยจะพบว่าฟ้าหลังฝนเนี่ยมันงดงามเสมอ”
หลังจากคำพูดของแม่ในคืนนั้น บอยได้เงินทุนล้านที่ 3 เพื่อตามฝันให้เป็นจริงอีกครั้ง และในเวลานั้นเองที่เขาได้แต่งเพลง Seasons Change หรือ ฤดูที่แตกต่าง ขึ้นมา เพื่อที่จะได้นำเอาคำปลอบโยนของแม่เผื่อแผ่ไปให้ผู้อื่นที่กำลังหมดหวังและท้อแท้ ได้ฟื้นกลับมามีพลังใจอีกครั้ง เหมือนอย่างที่เขาเคยได้รับมาแล้ว
‘แม่’ คือส่วนเติมเต็มในชีวิต บอย โกสิยพงษ์
“แม่ผมเป็นแม่บ้าน แม่บ้านที่รักลูกมาก ตั้งแต่ผมเกิดมาผมไม่เคยกินผลไม้ที่มีเปลือกหรือมีเมล็ดเลย ตอนเด็กๆ ผมไม่รู้ด้วยว่าองุ่นมันมีเปลือก องุ่นมันมีเมล็ด ทุกวันผมจะได้เอาช้อนตักองุ่นที่แกะแล้ว แช่เย็นอย่างดีแล้วกินเป็นชามๆ เลยฮะ หรืออย่างเงาะผมก็ไม่เคยกินแบบมีเมล็ด ทุกอย่างคือผ่านการผ่าตัดจากแม่มาเรียบร้อยแล้ว และไม่ใช่แค่ผลไม้ แต่อาหารแม่จะเป็นห่วงทุกอย่าง
“ครอบครัวผมเนี่ย ทั้งพ่อและพี่น้องทุกคนเป็นคนฉลาดหมด เรียนหนังสือได้คะแนน 80-90 เปอร์เซ็นต์ แล้วพอโตขึ้นก็ได้ทุน น้องชายผมได้ทุนเรียนฟรีที่อเมริกา เรียนจบด้วยเกียรตินิยม พี่ชายผมเขาก็ได้เกียรตินิยม พี่สาวผมก็ได้เกียรตินิยมที่ต่างประเทศ มีแค่บอยนี่แหละที่เรียนได้ทุเรศมากๆ คือเรียนรั้งท้ายมาตลอดตั้งแต่เด็ก ทั้งห้องมีนักเรียนอยู่ 45 คน ผมจะผลัดกับเพื่อนอีกคนว่าคราวนี้ใครจะเป็น ‘บ๊วย’ ของห้อง ซึ่งถ้าไม่ใช่มันก็คือผมนี่แหละ
“จนกระทั่งวันหนึ่ง ตอนนั้นผมอยู่ ม.3 อธิการมาบอกว่า บอย ทางโรงเรียนจะต้องเชิญให้บอยออกจากโรงเรียน เพราะว่าคะแนนเฉลี่ยของผมมันอยู่ที่ 1.04 ฉะนั้นบอยเรียนต่อ ม.4 ไม่ได้ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าผมไม่มีความสามารถทางการเรียน
“ความจริงผมไม่ใช่คนเกเรเลยนะฮะ ผมตั้งใจท่องหนังสือ ผมฉีกหนังสือเป็นเล่มๆ ออกมาทีละบทเพื่อจะมานั่งอ่านทีละหน้า แต่มันไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องถึงขนาดที่ว่ากำลังจะเข้าห้องสอบ ผมต้องเอาตามามองมัน เผื่อบทเรียนในหนังสือมันจะจำเข้าไปในตาผม (หัวเราะ) ผมโคตรพยายาม แต่มันก็ทำไม่ได้ งั้นโอเค ออกก็ออก
“แม่ผมบอกว่าโรงเรียนนี้น่าจะไม่เหมาะสำหรับบอยหรอก เขาน่าจะสอนไม่เก่ง เดี๋ยวไปหาโรงเรียนที่มันเหมาะกับบอยดีกว่านะ
“แม่ผมยังบอกอีกว่า “ดีแล้วที่บอยไม่เรียนเก่งแบบพี่น้องคนอื่นๆ เพราะตอนเด็กๆ แม่โง่มากเลย การบ้านแม่ก็ทำไม่ได้ สอบก็ไม่ได้ ลอกเพื่อนประจำเลย เพราะฉะนั้นแม่ก็จะได้มีบอยเป็นเพื่อนสักคนหนึ่งในบ้านที่เป็นเหมือนแม่ คำพูดของแม่ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าโง่เหมือนแม่ก็ดีนะเนี่ย แม่ผมเขาเป็นคนสไตล์นี้”
ทำไม บอย โกสิยพงษ์ ถึง ‘โง่’
“ตอนนั้นยังไม่รู้ไง โรงเรียนบอกให้เราเลือกเรียนแค่วิทย์กับศิลป์ แต่ความจริงแล้วความถนัดของคนมันสามารถแบ่งได้ตั้ง 8 อย่าง (ทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Theory of Multiple Intelligences)
“ทุกวันนี้ผมถึงได้เข้าไปพูดตามโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้แทบทุกเดือนเลยว่า ถ้าลูกคุณไม่ได้เหมาะสมกับศาสตร์ 2 อย่างนี้ นั่นไม่ได้แปลว่าลูกคุณโง่ เพราะผมเคยอยู่ในกลุ่มเด็กประเภทนี้มาก่อน แล้วมันก็เป็นปมด้อยกับตัวผมเองมาตลอด โชคดีว่าแม่ผมเขาสนับสนุนผม เข้าใจผม ผมก็เลยได้ค้นพบและทำในสิ่งที่เหมาะกับผม
“พหุปัญญา หมายถึง ความรู้ ความถนัดในตัวมนุษย์ที่แตกต่างกัน บางคนถนัดในเรื่องภาษา บางคนถนัดในเรื่องวิทยาศาสตร์ บางคนถนัดในเรื่องดนตรี บางคนถนัดเรื่องการสื่อสาร เรื่องการออกกำลังกาย ฯลฯ เมื่อทุกคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาสัตว์ทั้งป่าไปสอบด้วย ‘ข้อสอบ’ ชุดเดียวกัน เราจะเอาปลาไปแข่งปีนต้นไม้กับลิงไม่ได้
“ที่ผ่านมาสมัยเด็กๆ ผมอาจจะเคยเป็นปลาที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งสอนแค่การปีนต้นไม้กับวิ่งแข่ง ดังนั้นผมจะไม่มีวันประสบความสำเร็จหรือพัฒนาศักยภาพของตัวเองในขณะที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนั้นได้ แล้วพอเราเคยอยู่ตรงจุดนี้มาก่อน เราเลยเข้าใจความรู้สึกว่าความห่วยมันเป็นยังไง แต่พอดีแม่เราชมที่เราห่วย เราเลยรอดมาได้ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าแม่คนอื่นจะชมลูกแบบเดียวกันนี้ด้วยหรือเปล่า”
จนถึงวันที่ ‘ค้นพบตัวเอง’
หลังจากลุ่มๆ ดอนๆ คลุกคลานกับการเรียนตามมาตรฐานการศึกษาไทยมาตลอด จุดพลิกผันครั้งสำคัญในชีวิตบอยก็เกิดขึ้น เมื่อเขาตัดสินใจที่จะเหินฟ้าไปเรียนต่อทางด้านสาขาดนตรีที่มหาวิทยาลัย UCLA (University of California at Los Angeles) แถมยังตั้งใจสมัครเรียนถึง 3 โปรแกรมการสอน คือ Songwriting, Electronics Music และ Music Business
ช่วงเวลานั้นเองที่ บอย โกสิยพงษ์ ได้ค้นพบทิศทางที่เหมาะสมในชีวิต เขาฝึกฝน เรียนรู้ทักษะที่สำคัญของการเป็นนักแต่งเพลง บอยเขียนเล่าไว้ในเพจของตัวเองว่า
“ทั้ง 3 หลักสูตรใช้เวลา 5 ปี ผมมี A- ตัวเดียว ที่เหลือคือ A ล้วนๆ ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการตั้งใจเรียนเลย มันมาจากการที่ผมรักมันสุดหัวใจ อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจไปหมด ผมไม่เคยท่องหนังสือ แต่อ่านมันจนเข้าใจ ผมเพิ่งเข้าใจคำพูดที่พ่อเคยบอกอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก หัวใจเราอยู่ที่ไหน ทรัพย์สมบัติเราก็อยู่ที่นั่น”
(C)
“พ่อคือวีรบุรุษของผม ชนิดที่ว่าผมอยากเป็นเหมือนพ่อแม้กระทั่งลายมือและวิธีพูด
“ตอนเด็กผมเป็นคนโลกสวยมาก ผมคิดว่าทุกอย่างที่ตัวเองคิดมันทำได้หมดเลย ทำแบบนี้มันต้องดีแน่ๆ ผมคิดแบบนี้กับทุกเรื่อง คือมันไม่ใช่อีโก้นะฮะ แต่เป็นอีโง่มากกว่า (หัวเราะ)”
แล้วถ้าไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ล่ะ…
“ผมก็เชื่อตามที่พ่อบอก พ่อผมสอนว่า “ถ้าเราทำงานอะไรใหญ่ๆ อุปสรรคเข้ามาเนี่ยแปลว่าดีนะบอย เพราะนั่นหมายถึงว่า ถ้าเราผ่านมันไปได้ เดี๋ยวผลลัพธ์มันจะดีขึ้น”
“พ่อมักจะเปรียบเทียบกับต้นไม้ ตอนเขาตัดแต่งต้นไม้ (Trim) พ่อจะบอกว่า ต้นไม้เนี่ย ถ้าผ่านการตัดแต่ง ตอนแรกมันจะโกร๋นเลย ถ้าถามใจต้นไม้ ต้นไม้คงจะบอกว่า มาตัดทำไม เราโกร๋นไปหมดแล้ว ตัดกันแบบนี้แล้วฉันจะอยู่ยังไง แต่ผ่านไปอีกพักหนึ่ง มันจะมีดอก มีผลออกมา แล้วก็จะสวยกว่าเดิม พอฟังพ่อสอนแบบนี้ เราก็จำมาตลอดเลยว่าถ้ามีอุปสรรค นั่นแปลว่าเรากำลังโดน Trim ซึ่งแปลว่าเมื่อเวลาผ่านไปเดี๋ยวผลมันจะต้องสวย ผมคิดแค่นี้เลย ไม่ได้คิดลึกอะไรไปมากกว่านี้
“พ่อผมเป็นวิศวกรที่ทำงานคนเดียวในบริษัทแบบ one man show คือไม่ใช่เพราะพ่ออยากจะโชว์นะ แต่เพราะประหยัด พ่อจะประหยัดเงินทุกอย่าง ทุกบาททุกสตางค์เพื่อเอามาให้ครอบครัว บริษัทพ่อทำงานใหญ่เยอะมาก ธนาคารหรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่ง พ่อผมเป็นคนวางระบบไฟฟ้าให้ทั้งสิ้น งานในบริษัทที่ปกติต้องใช้คนทำหลายคน แต่บริษัทพ่อมีพนักงานอยู่คนเดียว พ่อพิมพ์บัญชีเอง เก็บเงินเอง ทุกอย่างทำเองหมด ผมเคยถามว่าทำไมพ่อไม่จ้างคน พ่อผมบอกกลับมาว่า “จะได้เก็บเงินไว้เลี้ยงพวกเราไงล่ะ”
“สมัยก่อนพ่อผมนี่คือความสุดยอดเท่เลยนะครับ พ่อผมเก่งหมดทุกอย่าง เลี้ยงลูกก็เก่ง ทำงานก็เก่ง ซ่อมของก็เก่ง จิตใจก็ดีด้วย พ่อชอบช่วยคนอื่น คือตอนเด็กๆ ผมไปตลาดกับพ่อแทบทุกวัน พวกพ่อค้าแม่ค้าก็ชอบยืมสตางค์พ่อ แล้วพ่อก็ให้เขาเลย ผมถามพ่อว่าแล้วไม่ต้องทวงเงินคืนเหรอ พ่อบอกว่าไม่ต้องหรอก ก็เพราะว่าเขาไม่มี เขาถึงมาขอเรา ถ้าเขามี เขาจะมาขอทำไม
“พ่อผมจะประหยัดในเรื่องที่ไม่ได้จำเป็นต่อชีวิต เช่น เสื้อผ้าก็มักจะชอบใส่เสื้อซ้ำ นาฬิกาก็จะใช้ของที่ถูกมากๆ แต่เขาไม่เคยหวงเงินของเขาเลยกับคนที่ลำบาก เหมือนเขาเกิดมาเพื่อให้คนอื่น ซึ่งการที่เขามีชีวิตอย่างนี้กับคนข้างนอกบ้าน สำหรับผมนี่เป็นจุดที่ผมประทับใจพ่อมากเลยนะครับ”
(D)
Learn to live with it เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต
อีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อบอยต้องเจอกับช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดของชีวิต
“ที่ผ่านมาผมมีความสุขในชีวิตอย่างมาก พูดได้เลยว่าผมเป็นคนโคตรโชคดี พระเจ้าอวยพรผมมาก จนกระทั่งถึงช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมแทบบ้า มันคือช่วงเวลาก่อนผมทำอัลบั้ม The Million Ways to Love Part 1 (2547)
“ช่วงนั้นบริษัทเราดังกระฉูดเลย (Bakery Music) ออกเพลงใหม่กันน่าดู ปีหนึ่งผมทำเพลงมากกว่า 300 เพลง แล้วเพลงก็ประสบความสำเร็จเยอะมาก เพลงดังเยอะมาก แต่มันก็ไม่ได้ Fulfill อะไรในหัวใจผม เพราะหลังๆ ผมเริ่มจะแต่งเพลงด้วยสมอง เพราะแต่งเพลงทุกวันจนชิน เหมือนรู้แผนที่หมดแล้วว่าต้องไปทางไหน เหมือนเราไปเที่ยวแต่ที่เดิมๆ เลยไม่สนุก ทั้งที่จริงๆ แล้วการแต่งเพลงมันเหมือนเราไปเที่ยวในที่ใหม่ๆ เดินเข้าไปแล้ว โอ๊ย ตรงนี้สวย ตรงนั้นก็สวย
“ช่วงนั้นเองที่พ่อและแม่ของผมเริ่มไม่สบาย คุณยายไม่สบาย และตลอด 5 ปีนั้น พ่อ, แม่, คุณยาย, พี่ชาย, พี่เขย คนที่ผมรักที่สุดก็เริ่มเสียชีวิตไปปีละคน
“ปีแรก พี่เขยผู้ซึ่งเพิ่งมีลูกคนที่ 2 กับพี่สาวของผมได้เดือนเดียวได้เสียชีวิตลง มันคือช่วงเวลาที่พี่สาวผมก็ยังไม่แข็งแรงพอ ปีต่อมาคือคุณยาย ท่านเป็นหวัดตาย ซึ่งไม่เมกเซนส์เลย การจากไปมันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ เรารับไม่ได้
“ปีที่ 3 ก็เหมือนกัน พี่ชายอีกคนหนึ่งตอนนั้นเขาอยู่เมืองไทย ผมอยู่ที่อเมริกา เพิ่งโทรมาคุยกับผม วันรุ่งขึ้นแม่โทรมาบอกว่าเขาตายแล้ว เพราะมีอาการหลับตาย ไหลตาย
“ปีที่ 4 คือพ่อของผม เขาเป็นหวัด เข้าโรงพยาบาล แล้ววันรุ่งขึ้นก็ตายเหมือนกัน ปีต่อมาปีที่ 5 ผมบอกแม่ว่าอย่าตายเลย บอยร้องไห้ไม่ไหวแล้ว บอยเบื่อร้องไห้แล้วอะแม่ มันทนไม่ไหวแล้ว แม่อย่าเพิ่งตายอีกสักปีได้ไหม ผมพูดอย่างนั้นเลย ผมขอแม่บ้าๆ บอๆ แบบนี้เลย แต่สุดท้ายแล้วแม่ก็อยู่ต่อไม่ได้
“หลังจากนั้นผมก็บ้าไปเลย ต้องไปหาจิตแพทย์ กินยานอนหลับ กินยาคลายเครียด กินยาแก้ซึมเศร้าเพื่อให้นอน ตื่นขึ้นมาแล้วก็กินยาใหม่เพื่อให้นอนต่อ ทำแบบนี้อยู่เป็นเดือน จนทุกวันนี้ผมก็ยังมีหางของอาการนี้อยู่นะ ทุกวันนี้ผมยังกินยาอยู่เลย
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผมไม่เคยเตรียมตัวมาก่อน ผมเตรียมตัวนะว่าสักวันหนึ่งทุกคนต้องไป ผมเตรียมตัวที่จะทำดีกับทุกคนที่ผมรัก แล้วก็ให้เวลากับพวกเขาอย่างเต็มที่ที่สุด แต่ผมยอมรับไม่ได้ ปล่อยไม่เป็น เมื่อเวลาที่พวกเขาไป มันเลยเป็นที่มาของเพลง Live and Learn”
ชีวิตที่เรียนรู้ว่าต้อง Live and Learn
“ผมเขียนเพลงนี้หลังจากพ่อตาย แล้วผมก็ไปหาจิตแพทย์ กินยานอนหลับ แล้วตื่นขึ้นมาเพื่อจะกินยานอนหลับ เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณหนึ่งเดือน จนกระทั่งตุ้ย (วรกัญญา โกสิยพงษ์) ภรรยามาบอกกับผมว่า ต้องลุกขึ้นสู้ ยังไงบอยก็ยังมีเขา มีลูก มีแม่อยู่นะ บอยจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้
“พอฟังตุ้ยบอกผมก็ลุกขึ้นมา แต่ผมไม่รู้จะสู้ยังไง เพราะพ่อคือหลักของชีวิตผม ที่ผ่านมาไม่ว่าผมมีปัญหาอะไร ผมไปคุยกับพ่อ แป๊บเดียวผมหายเลย ถ้าพ่อพูดว่าให้คิดอย่างนี้ ผมก็จะคิดตามนี้ ผมจะเชื่อตามนั้นเลย ผมเป็นคนแบบนี้มาตลอดชีวิต แต่พอพ่อไม่อยู่แล้ว ผมเลยไม่รู้จะทำยังไง พ่อไม่ได้บอกไว้นี่ว่าเมื่อพ่อตายแล้วผมต้องคิดยังไง ผมเลยคิดกับเรื่องนี้ไม่เป็น
“แต่หลังจากฟังตุ้ยบอกให้ลุกขึ้นสู้ ผมเลยคิดว่ายังไงเราต้องสู้ เมียเราก็ยังอยู่ ลูกเราก็ยังอยู่ แม่เราก็ยังอยู่ ผมเลยย้อนกลับมาคิดว่าพ่อสอนอะไรกับเราไว้บ้างวะ สิ่งที่พ่อพูดประจำเลยคือ Learn to live with it เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือไม่มีพ่อ ถ้างั้นต้องอยู่กับมันแบบไม่มีพ่อ แล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุดด้วย นี่คือสิ่งที่พ่อเหมือนกระซิบในใจผม ผมเลยแต่งเพลงนี้ให้ตัวเองฟัง แต่งเสร็จฟังไปร้องไห้ไปจนกระทั่งเข้าใจแล้วพ่อ โอเค บอยจะอยู่แบบไม่มีพ่อ แต่จะอยู่ให้มันดีที่สุดในแบบที่พ่อสอน ผมก็เลยรอดมาได้”
(E)
The Million Ways to Love Part 2
‘พระเจ้า’ เข้ามาในชีวิต จึงเข้าใจชีวิต
“หลังจากคนที่ผมรักพากันจากไป ผมไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตแบบตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้อีกต่อไป ผมเข้าใจว่าผมต้องพึ่งอะไรบางอย่างที่มีหลักการเหนือกว่าผม เพราะว่าที่ผ่านมาผมดำเนินชีวิตตามความรู้สึก ตามอารมณ์มาตลอด แต่ถ้าผมมีพระเจ้า พระเจ้าจะทำให้ผมมองไปที่หลักการ ไม่ใช่ใช้ชีวิตด้วยอารมณ์ล้วนๆ เหมือนเดิม
“สมัยก่อนผมมีพ่อเป็นหลักการ แต่ตอนนี้ผมมีพระเจ้าเป็นหลักการ ผมเริ่มศึกษาไบเบิลแล้วทำตามสิ่งที่ใบไบเบิลสอนไว้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ผมเชื่อหมด ถ้าหลักการไบเบิลว่าผิด ผมจะไม่ทำเลย ต่อให้จะได้ผลประโยชน์อะไรมากมายยังไงก็ไม่ทำ พอเรารู้อย่างนี้แล้วพบว่าชีวิตมันสบายเว้ย เราสามารถจะดำเนินชีวิตของเราต่อไปได้เรื่อยๆ อาจจะกระท่อนกระแท่นบ้าง มีคนมาเดินชนเราบ้าง แต่ถ้าเรามองที่หลักการ ยังไงซะชีวิตก็ไม่ล้ม”
หลังจากผ่านมา 24 ปี Rhythm & Boyd คืออัลบั้มในความทรงจำที่สร้างสรรค์เพลงฮิตระดับปรากฏการณ์อย่างไว้อย่างมากมาย บทเพลงอย่าง รักคุณเข้าแล้ว, คืนนี้, ฤดูที่แตกต่าง, เจ้าหญิง, ลมหายใจ, จะเก็บเธออยู่ในใจเสมอ ฯลฯ ยังส่งให้ Rhythm & Boyd เป็นอัลบั้มประเภทที่หยิบขึ้นมาครั้งใดก็ยังฟังเพราะในระดับร่วมสมัย บอยเขียนเล่าอย่างน่ารักถึงความสำเร็จแรกในชีวิตนักดนตรีของเขาไว้ว่า
“ผมเคยถามแม่ว่าไปเอาความมั่นใจมาจากไหนว่าบอยจะสามารถคืนเงินแม่ได้ แม่ถึงให้ผมยืมเงินจำนวน 1 ล้านบาทถึง 3 ครั้ง เพื่อไปทำอัลบั้มนี้ที่อเมริกา ทั้งที่เงินก้อนนั้นถือว่ามากพอสมควรสำหรับครอบครัวเรา
“แม่ผมก็ให้คำตอบที่ผมซาบซึ้งใจมาจนวันนี้ว่า “แม่ไม่คิดว่าจะได้คืนหรอก จะเป็นไปได้อย่างไรที่บอยจะทำสำเร็จ หล่อก็ไม่หล่อ ร้องเพลงหรือเต้นก็ไม่ได้ ที่แม่ให้บอยเพราะแม่สงสาร เห็นลูกตั้งใจอยากทำ และแม่เชื่อจริงๆ ว่าจะทำได้ แม่ไม่อยากให้บอยหมดความเชื่อ เลยให้เงินเหล่านั้นยืมมา” ซึ่งสุดท้ายผมก็คืนเงิน 3 ล้านของแม่ได้ครบทั้งหมด แถมยังมีกำไรพาพ่อแม่ไปเที่ยวอเมริกาได้อีกเป็นเดือนด้วย”
ในปี 2561 นอกจากจะป็นขวบปีที่ บอย โกสิยพงษ์ กำลังจะก้าวต่อด้วยการพัฒนาค่ายเพลงขนาดอบอุ่นของตัวเองอย่าง LOVEiS ไปสู่การเป็น Love is Entertainment! บอยยังเผยโปรเจกต์เพิ่มเติมอีกด้วยว่าตั้งใจจะเขียนหนังสือเพื่อบอกเล่าถึงแต่ละช่วงของชีวิตถึง 5 เล่ม ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนคลับของเขาคงต้องติดตามกันต่อนับจากนี้
- ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ที่บอย โกสิยพงษ์ ให้ความสนใจและพยายามจะเข้าไปพูดตามโรงเรียนต่างๆ คือแนวคิดที่ถูกเสนอขึ้นโดยศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาพยายามอธิบายให้ผู้คนเข้าใจว่า แท้จริงแล้วสติปัญญาของมนุษย์นั้นมีความสามารถที่โดดเด่นเฉพาะแตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถแยกออกมาได้อย่างหลากหลายด้าน โดยปัจจุบันสามารถสรุปแยกย่อยออกมาได้ 8 สาขาคือ
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
ซึ่งนั่นสะท้อนว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยในขณะนี้นั้นยังไม่สามารถจะพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเยาวชนไทยได้อย่างเต็มที่
- คอนเสิร์ต BOYdKO50th #1 RHYTHM & BOYd CONCERT จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี