เวลานึกถึงชื่อ บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ เราจะคิดถึงพระเอกหนุ่มหน้าตาดี เคราเข้ม มีอารมณ์ขัน พูดจาสบายๆ และเรียกรอยยิ้มจากคนรอบข้างได้อยู่ตลอดเวลา
รวมทั้งการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้ง ที่บอยมักจะแสดงทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบ ‘เรื่อยๆ’ ไม่เร่งร้อน ปล่อยทุกอย่างไหลไปตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การทำธุรกิจ การใช้ชีวิต ไปจนถึงเรื่องความรัก จนหลายครั้งเราแอบคิดไปว่าเขาดูเอื่อยเฉื่อยเกินไปหรือเปล่า ถ้าเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ดูจะมีเป้าหมายที่รวบรัดและชัดเจนมากกว่านี้
THE STANDARD POP มีโอกาสพูดคุยกับเขาในช่วงที่ Gravity of Love รักแท้…แพ้แรงดึงดูด ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขากำลังเข้าฉาย ท่าทีในการตอบคำถามของเขายังคงสบายๆ เหมือนที่เราเคยรู้จัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ คือภายใต้การใช้ชีวิต ‘เรื่อยๆ’ ที่เขาพูดให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ นั้น ผ่านการคิดและประเมินความเป็นไปได้อย่างจริงจังมาแล้วเป็นอย่างดี
ความคิดที่ว่าอยากใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่เร่งร้อนกับทุกสิ่งอย่างของคุณเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไร
คำว่าเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเอื่อยเฉื่อยนะครับ ผมเป็นคนมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต แต่ผมไม่ชอบฝันอะไรเกินตัว ผมไม่ใช่คนวางแผนระยะยาว เพราะฉะนั้นเป้าหมายของผมจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องใช้เวลา 5-10 ปีถึงจะทำสำเร็จ มันอาจจะเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ต้องใหญ่โตมาก แต่อย่างน้อยผมต้องพอมองเห็นว่ามันจะสำเร็จได้ภายใน 1 ปีข้างหน้า
ไม่ได้หมายความว่าการวางแผนแบบไหนจะถูกหรือผิดนะครับ แต่ถ้าวางแผนระยะยาว ผมคิดว่ามันจะมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น เป้าหมายมันใหญ่เกินไป หรือหลักๆ ก็คือตัวผมนี่แหละ (หัวเราะ) ที่อาจจะท้อไปก่อน ก่อนตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ผมจะประเมินว่าโอกาสที่เข้ามาตอนนั้นคืออะไร ศักยภาพของเราในตอนนั้นทำได้ไหม เวลาเหมาะสมหรือเปล่า
ถ้าคำตอบคือมีโอกาสเป็นไปได้ไม่ถึง 60-70% ผมจะไม่ทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งมันไปเลย เพียงแค่เราเอาเวลาระหว่างนั้นไปทำอย่างอื่นที่ศักยภาพเราสามารถทำได้ เพื่อพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ สำหรับโอกาสในครั้งต่อๆ ไปดีกว่า
เริ่มวางแผนระยะกลางแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า
ตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ ช่วงประถมนี่อาจจะเหมือนเด็กทั่วไป คือเวลามีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็ตอบไปว่าอยากเป็นหมอ ทหาร วิศวกร ฯลฯ มันดูเป็นการวางแผนระยะยาวนะ แต่มันไม่ได้ทำอะไรเพื่อไปตามแผนนั้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง
จนช่วง ม.ต้น ที่เริ่มรู้เรื่องขึ้นมา และกล้าที่จะตอบคำถามนั้นได้ว่า ผมยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร คำตอบตอนนั้นกลายเป็นว่า เป้าหมายคืออยากย้ายไปอยู่ ม.ปลาย เร็วๆ พอขึ้น ม.ปลาย ก็อยากเข้ามหาวิทยาลัยเร็วๆ ปรึกษาคุณแม่แล้วก็เลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง โดยที่ยังตอบตัวเองไม่ชัดหรอกว่าเราอยากเป็นเภสัชกรจริงๆ หรือเปล่า
จนพอเรียนจบ ได้ฝึกงาน ตอนนั้นเริ่มมั่นใจว่าเราอยากเปิดร้านขายยาจริงๆ แต่ก็ยังเป็นแผนระยะยาวที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อไร ประกอบกับจังหวะชีวิตที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานวงการบันเทิงพอดี เลยเข้าสู่การวางแผนแบบระยะกลางเต็มตัว คือผมไม่ได้คิดว่าอยากเป็นนักแสดงที่เก่งหรือประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการ ผมแค่คิดว่าอยากอยู่ตรงนี้ให้นานที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ ผมต้องทำงานตรงนี้ไปเรื่อยๆ วางแผนไปตามโอกาสที่เข้ามาในช่วงชีวิตตอนนั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือมีคนถามผมมาสักพักแล้วว่าสนใจงานพิธีกรหรือเปล่า คงเห็นว่าผมเป็นคนพูดเก่งเวลาไปออกอีเวนต์ต่างๆ แต่ที่ผมประเมินตัวเองว่าศักยภาพตอนนั้นยังไม่มากพอ จนกระทั่งล่าสุด ที่คิดว่าเราสะสมประสบการณ์มาได้มากพอ แล้วรายการ Davinci เกมถอดรหัส ติดต่อมาพอดี คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า 70% ผมก็เลยรับทำ
ปัจจัยต่างๆ ที่คุณประเมินแล้วว่าต้องมีความเป็นไปได้ 60-70% ประกอบด้วยอะไรบ้าง
พูดยากเหมือนกันนะ โดยเฉพาะการแสดง เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกข้างใน แต่สิ่งบ่งชี้ที่พอจะบอกได้คือ การได้เห็นพัฒนาการของตัวเองที่มากขึ้นในทุกๆ เรื่อง ผมจะถามฟีดแบ็กกับผู้กำกับ ทีมงาน และคนในโปรเจกต์ต่างๆ อยู่เสมอ เหมือนเราจะมีต้นทุนในการคิดมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาเจอบทหรือโปรเจกต์ที่ท้าทายมากขึ้นในเวลาต่อๆ ไป รวมกับเรื่องเวลา ทีมงาน บทละคร ถ้ารวมๆ แล้วได้ 60-70% ก็โอเค
แต่มันจะไม่ถึงว่าต้องได้เท่านั้นเป๊ะๆ แล้วถึงจะรับทำนะ บางงานถ้าประเมินอย่างเป็นธรรมศักยภาพอาจจะได้แค่ 50% แต่ถ้ามันมีความท้าทายบางอย่าง เช่น บทนี้เราอยากเล่นมากๆ หรือถ้าพลาดโอกาสนี้ไป อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำไปตลอดชีวิต แรงขับพวกนี้จะมาเป็นปัจจัยสำคัญที่บวกคะแนนได้อีกเยอะเลย
ยกตัวอย่างตอนเล่นละครเวทีเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ.2554) ตอนนั้นผมเล่นละครมาได้ 3-4 เรื่องเอง พูดตรงๆ ก็คือประสบการณ์ยังไม่ถึง ยิ่งละครเวทีเป็นคนละศาสตร์กับการแสดงที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง ถ้าประเมินตามปกติมันไม่ถึง 60% แน่ๆ แต่ตอนนั้นคิดได้ว่า โอกาสที่จะมีคนมาชวนให้คนอย่างเราไปเล่นละครเวที มันคงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าพลาดงานนี้ไปเราอาจต้องมานั่งเสียดายไปตลอดชีวิต
มีครั้งไหนบ้าง ที่คุณประเมินแล้วตัดสินใจปฏิเสธงานนั้นไป แล้วสุดท้ายมารู้สึกเสียดายภายหลังว่าไม่น่าตัดสินใจแบบนั้นไปเลย
เท่าที่นึกออกคิดว่ายังไม่มีนะ อย่างแรกเพราะผมพยายามประเมินด้วยความยุติธรรมกับตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในงานที่ผมบอกว่ามันท้าทายมากๆ ผมก็จะบวกคะแนนเพิ่มให้การตัดสินใจอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยรู้สึกว่ามีอันไหนน่าเสียดายเท่าไร ซึ่งผมได้เรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยวิ่งแคสต์งานก่อนเข้าวงการบันเทิง ผมใช้เวลาแคสต์เป็น 30 ตัวเลยนะครับกว่าจะได้งานชิ้นแรก เรียกว่าแคสต์จนท้อ บางวันที่แคสต์ไกลมาก ไม่อยากไปเลย แต่เรารู้สึกว่าไม่อยากเสียโอกาส ตอนนั้นยังไม่ทันคิดเรื่อง 60-70% ด้วยซ้ำ ขอให้ทำไปก่อน พอโตขึ้น คิดเป็นระบบมากขึ้น เลยรู้สึกว่าผมโชคดีที่จัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ดีพอสมควร
อย่างผลงานล่าสุด Gravity of Love รักแท้…แพ้แรงดึงดูด คุณให้คะแนนการประเมินอย่างไร ถึงตัดสินใจรับเล่นเรื่องนี้
เรื่องนี้รวมๆ ผมให้คะแนน 85% เลยนะ สำคัญที่สุดคือเรื่องบท ที่ผมอ่านแล้วชอบมาก คาแรกเตอร์ตัวละครโดดเด่น มีการพูดถึงเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับความเชื่อของผมอยู่แล้ว ใน 85% นี่คิดว่าให้เรื่องบท 70% แล้ว คืออ่านบทแล้วตัดสินใจรับได้เลยเพราะตรงกับเกณฑ์ของเราแล้ว
ส่วนเรื่องอื่นๆ น่าจะให้คะแนนเรื่องความเหมาะสมของเวลาสัก 5% รู้สึกว่าผมห่างจากการเล่นภาพยนตร์ตั้งแต่เรื่อง จำเนียร วิเวียน โตมร (ปี พ.ศ. 2559) มาประมาณ 2 ปี คิดถึงความรู้สึกเวลาไปดูหนังแล้วเห็นหน้าตัวเองอยู่บนจอใหญ่ๆ ที่เหลืออีก 10% ยกให้ทีมงานที่รู้ว่ามีนักแสดงเป็นเต้ย (จรินทร์พร จุนเกียรติ) เป็นพี่หลุยส์ สก๊อต รวมทั้งทีมงานเบื้องหลัง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และทุกๆ ฝ่าย ที่เรารู้ว่าทำงานด้วยแล้วสบายใจ แค่นี้ก็ทำให้ตัดสินใจไม่ยากแล้ว
ปกติคุณเชื่อเรื่องแรงดึงดูดมากขนาดไหน
ผมเชื่อในเรื่องว่าถ้าคนเราจะคู่กัน ก็คือคู่กัน แต่ถ้าไม่ได้คู่กัน ต่อให้ทำอย่างไรก็ไม่ใช่ ส่วนเรื่องแรงดึงดูด ผมอาจจะเชื่อที่ว่าแรงนี้มันส่งผลให้คนที่คู่กันได้บังเอิญมาอยู่ใกล้กัน เหมือนอย่างในเรื่อง ที่พระเอกกับนางเอกจะมีแรงดึงดูดให้อยู่ใกล้กัน แต่เฉียดกันไปเฉียดกันมา จนสุดท้ายเขาได้มาทำความรู้จักกันจริงๆ แล้วรู้สึกว่าเหมือนคนที่รู้จักกันมานานมาก
ทีนี้ก็จะเป็นความน่าสนใจในเรื่องว่าแรงดึงดูดที่ว่าจะมีผลกับความรักได้มากแค่ไหน นางเอกจะตัดสินใจอย่างไรระหว่างคนที่เหมือนจะถูกแรงดึงดูดหรือพรหมลิขิตบอกว่าอาจจะเกิดมาคู่กัน กับอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อเขามาตลอดจริงๆ
เวลาตัดสินใจเรื่องความรักในชีวิตจริง คุณใช้เกณฑ์การประมาณ 60-70% มาใช้ด้วยหรือเปล่า
ตอนวัยรุ่นแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ต้องใช้เกณฑ์อะไรทั้งนั้น แค่ชอบ อยากมีแฟน อยากคบคนนี้ก็ลุยกันไป แต่พอโตขึ้นมาก็แน่นอนว่าต้องมีเกณฑ์นี้เข้ามาเกี่ยว จากประสบการณ์การใช้ชีวิต การมีความรักที่ทำให้เราต้องคิดมากขึ้นเป็นธรรมดา
อย่างตอนนี้ผมอายุ 34 ถ้าจะเริ่มคุยหรือคบกับใครก็ต้องดูว่าโอกาสที่จะไปกันได้ยาวๆ มีมากแค่ไหน ทั้งเรื่องอายุ สภาพสังคม หน้าที่การงาน ที่มีผลกับการประเมินตามหลัก 60-70% แต่ปัญหาคือพอเป็นเรื่องความรัก มันเป็นเรื่องของความรู้สึกเสียเยอะ และมันจะมีความหลงที่ทำให้เราไม่ยุติธรรมในการให้คะแนน บางทีถ้าประเมินจากความคิดอาจจะได้แค่ 40-50% แต่พอมีความหลงเข้ามา มันอาจจะทะลุเป็น 80% ได้เลย อันนี้พูดยากจริงๆ ยากกว่าการประเมินเรื่องงานเยอะเลย (หัวเราะ)
คุณมักจะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องความรักอยู่เสมอว่า ปล่อยให้มันเป็นไปเรื่อยๆ ไม่ได้เร่งรัดว่าจะต้องมีหรือไม่มีตอนไหน
ใช่ครับ สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ คือผมต้องการความรักแบบหนุ่มสาวน้อยลงนะ อย่างที่บอกว่าเรื่องประสบการณ์นี่สำคัญมาก ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าความรักมีข้อดีอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้รู้ว่ามันมีข้อเสียอะไรบ้างไปพร้อมๆ กันด้วย พอรู้มากไปก็ไม่ดี เพราะทำให้รู้สึกว่าเราขี้เกียจเจอปัญหาอะไรพวกนั้น ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องมีก็ได้นี่นา เราก็เอาเวลาตรงนี้ไปทำธุรกิจ ไปทำงานได้โดยไม่ต้องรีบร้อนอะไร จะได้ไม่ต้องมีปัญหาทะเลาะกับใครด้วย
เรื่องนี้มีผลกับผมค่อนข้างมากเลยนะครับ ผมรู้สึกว่าแต้มลบของการมีแฟนคือมันน่าเบื่อเวลาต้องทะเลาะกัน ซึ่งมันอาจจะเป็นผมเองก็ได้ที่งี่เง่าจนทำให้ทะเลาะกัน หรืออาจจะเป็นเพราะความหลงในตอนแรก ที่ทำให้คนที่ไม่ได้แมตช์หรือเป็นคู่กันจริงๆ มาตัดสินใจคบหากัน จนทำให้ต้องทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ
บางทีมันก็มีโมเมนต์ที่นึกถึงช่วงเด็กๆ ที่สนุกกับการนั่งมองสาวๆ มีความรักแบบป๊อปปี้เลิฟ ไม่ต้องคิดอะไรมาก มีเพื่อนไปดูหนัง แชร์ความรู้สึกดีๆ ให้กันอยู่นะ ซึ่งจริงๆ มันควรจะเป็นแบบนั้นนะ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากๆ เวลามีความรัก คนเรารักกันจะทะเลาะกันได้สักกี่วันกันเชียว
แต่ผมคงไม่ได้คิดเหมือนคนทั่วไป เพราะพอมานั่งคิดว่า ทำไมเราไม่มีแฟน ไม่กลับไปเป็นแบบนั้น มันก็จะมีไอ้ความรู้สึกนี้แทรกขึ้นมาว่า ไม่มีแฟนก็อาจจะดีเหมือนกัน เราจะไม่ต้องทำตัวง้องแง้งทะเลาะกันขึ้นมาให้รู้สึกไม่ดี เพราะฉะนั้นก็ปล่อยให้ชีวิตไหลไปเรื่อยๆ เพราะอย่างที่ผมพูดแบบในหนังว่า เดี๋ยวสักวันมันคงมีแรงดึงดูดบางอย่าง ให้คนที่ใช่กับชีวิตของเราเข้ามาได้จริงๆ
ตัวอย่างภาพยนตร์ Gravity of Love รักแท้…แพ้แรงดึงดูด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
- ภาพยนตร์เรื่อง Gravity of Love รักแท้…แพ้แรงดึงดูด เข้าฉายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2018