×

ธปท. ห่วง ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ พุ่งแตะ 90.1% เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ จับตา NPL ส่อพุ่งหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ มิ.ย. นี้ เชื่อไม่ถึงขั้นเป็นหน้าผา

18.04.2022
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย ห่วงครัวเรือนไทยหนี้สูง ยอมรับ NPL มีโอกาสปรับสูงขึ้นหลังหมดมาตรการช่วยเหลือพิเศษเดือนมิถุนายนนี้ ประเมินเศรษฐกิจโลกไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมมองภาวะขาดดุลแฝดยังไม่น่ากังวล

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 1/2565 ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยได้ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 90.1% ต่อ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.3 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากวิกฤตโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำ คนมีรายได้ลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ปริมาณหนี้เพิ่มสูงขึ้น 

 

“สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของเราอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ครัวเรือนไทยมีหนี้สูงเป็นรองเพียงเกาหลีใต้เท่านั้น ซึ่งวิธีการแก้ที่ดีที่สุดคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คนจะได้มีรายได้เพิ่มและสามารถชำระคืนหนี้ได้ โดยเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ เพราะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นก็จะช่วยได้ทั้งปัญหาหนี้และค่าครองชีพ” ปิติกล่าว

 

ขณะที่ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์หนี้เสียหรือ NPL มาโดยตลอด ซึ่งยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่หนี้เสียในระบบจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือพิเศษต่างๆ ที่สถาบันการเงินมีให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจะทยอยหมดลงในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะเหลือเพียงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวหรือมาตรการฟ้าส้มของธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น

 

“เราคิดว่า NPL คงจะเพิ่มขึ้นแต่จะไม่ถึงขั้นเป็นหน้าผา เรื่องการกันเงินสำรองและเงินกองทุนของแบงก์ก็ยังไม่มีประเด็นอะไรที่น่ากังวล ที่ผ่านมาตัวเลขของลูกหนี้ที่ขอเข้ารับความช่วยเหลือได้ทยอยปรับลดลงซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่พอมีปัญหารัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้นเราก็คงต้องติดตามต่อ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเครื่องมือให้ความช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความครอบคลุมอยู่” สักกะภพกล่าว

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยยังเปิดให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถยื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ JVAMC เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกรับมือกับ NPL ได้ โดยมีสถาบันการเงินหลายแห่งที่อยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้ง JVAMC ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ 

 

สักกะภพยังประเมินถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ Recession ในปีหน้าว่า ขณะนี้โอกาสที่จะเกิดภาวะดังกล่าวยังมีค่อนข้างน้อย แม้ว่ากลุ่มยูโรจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงคราม แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ ขณะที่โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ยังเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลางหรือ 3 ปีขึ้นไป จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

 

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าขณะนี้ไทยยังมีช่องว่างทางนโยบายหรือ Policy Space ในการรับมือกับภาวะช็อกทางเศรษฐกิจเหลืออีกไม่มาก ทำให้ไทยจะต้องเร่งเสริมสร้างช่องว่างในส่วนนี้ไว้รองรับวิกฤตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

 

สำหรับความกังวลในเรื่องภาวะขาดดุลแฝดหรือการขาดดุลบัญชีคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเวลาเดียวกันของไทยนั้น สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นบวก 1.5 พันล้านดอลลาร์มาเป็นติดลบที่ 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยเมื่อรวมกับการขาดดุลการคลังก็จะทำให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลแฝด

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้าจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 1.7% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาค่าระวางเรือที่จะคลี่คลายลง ขณะที่การขาดดุลการคลังภาครัฐเองก็ได้มีการระมัดระวังเรื่องนี้ และจากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เชื่อว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะยังอยู่ในกรอบเพดาน 70% ต่อไปได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า

 

“ช่วงโควิดที่ผ่านมานโยบายการเงินและการคลังทำงานควบคู่กัน โดยเรามีการใช้จ่ายการคลังเป็นพระเอก แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นจะเห็นว่าการกระตุ้นทางการคลังเราไม่ได้สูงมากอยู่ที่ราว 13% ของ GDP เท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯ ทำมากถึง  20% ของ GDP นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะของเราที่ 60-70% ก็ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงเช่นกัน” ปิติกล่าวเสริม

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X