×
SCB Omnibus Fund 2024

ธปท. ปรับใช้พอลิเมอร์พิมพ์แบงก์ 20 แทนกระดาษ หวังเพิ่มความสะอาดและทนทาน เตรียมออกใช้ 24 มี.ค. นี้

20.01.2022
  • LOADING...
แบงก์ 20

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่เปลี่ยนวัสดุการพิมพ์เป็นพอลิเมอร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพใหม่ สะอาด และใช้งานได้นานขึ้น เนื่องจากธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เป็นธนบัตรที่ประชาชนใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อย จึงทำให้ธนบัตรมีสภาพเก่ากว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น 

 

ธนบัตรพอลิเมอร์ผลิตจากพลาสติกแบบพิเศษซึ่งไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก และมีความทนทานในการใช้งานมากกว่าธนบัตรกระดาษประมาณ 2-3 เท่า โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 5 ปี นอกจากนี้ ด้วยลักษณะเฉพาะของธนบัตรพอลิเมอร์ดังกล่าว จึงช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรที่ชำรุด และเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยสอดคล้องกับธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศที่ได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม 

 

สำหรับธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาทนี้ จะมีภาพและลักษณะโดยรวมเหมือนกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาทที่หมุนเวียนในปัจจุบัน โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย และมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาท รวมถึงมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพิ่มเติมสำหรับธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท คือช่องใสที่สามารถมองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน โดยช่องใสด้านล่างที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง นอกจากนี้ มีการเพิ่มจุดสังเกตสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาในบริเวณช่องใสด้านบนที่เป็นทรงหยดน้ำ โดยมีตัวเลข ‘20’ ขนาดเล็ก ดุนนูน เพื่อให้สัมผัสได้ง่ายขึ้น

 

ผู้ว่า ธปท. เปิดเผยว่า ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาทจะเริ่มออกใช้หมุนเวียนในวันที่ 24 มีนาคม 2565 โดยประชาชนสามารถเบิกถอนผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง สำหรับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาทที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน ยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising