รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มองว่าธุรกรรมแฟ็กเตอริง หรือการนำใบแจ้งหนี้ที่ผู้ขายสินค้าออกให้แก่ผู้ซื้อและอยู่ระหว่างรอชำระเงินไปขอสินเชื่อ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้
แต่ตอนนี้ SMEs ยังเข้าถึงได้จำกัด เพราะผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารทางการค้า และการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) จากการนำใบแจ้งหนี้ (Invoice) รายการเดียวกันไปใช้ขอสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงหลายราย
ดังนั้น ทาง ธปท. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการให้บริการดิจิทัลแฟ็กเตอริง โดยองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้มีธุรกรรมแฟ็กเตอริงเพิ่มขึ้นในระบบการเงิน คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูล
ในส่วนที่สำคัญของใบแจ้งหนี้ และช่วยตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงในการพิจารณาให้สินเชื่อกับ SMEs โดยเฉพาะรายย่อย
ทั้งนี้ ธปท. รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมแฟ็กเตอริงเข้าร่วมทดสอบระบบ จนปัจจุบันเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง และผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมแฟ็กเตอริง ทั้งสถาบันการเงินและหน่วยงานที่มิใช่สถาบันการเงินเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลกลาง (Central Web Service: CWS) แล้วตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2564
โดย ธปท. รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลและดำเนินงานระบบฐานข้อมูลกลางในระยะแรก เพื่อให้มั่นใจว่าระบบฐานข้อมูลดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอ และ ธปท. ออกแนวปฏิบัติ ธปท. เรื่อง การใช้ระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้เป็นกรอบหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้งานระบบฐานข้อมูลกลางถือปฏิบัติในการใช้งานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564
ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลกลางมีผู้ใช้งานแล้ว 5 ราย ได้แก่
1) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
2) บริษัท ดีไนน์ตี้ แคปปิตอล จำกัด
3) บริษัท บิลมีเวนเจอร์ จำกัด
4) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
5) บริษัท เอ็กซ์เพรสซอฟท์แวร์กรุ๊ป จำกัด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์