×

นวัตกรรมคือทางรอดเดียวที่จะพาไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

21.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ประเทศไทยมีความสามารถการผลิตสินค้าที่หลากหลาย ซับซ้อน แต่กลับกระจุกตัวในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ส่งผลให้รายได้ต่อหัวในพื้นที่เหล่านี้สูงตาม และเกิดความเหลื่อมล้ำระดับจังหวัดสูง
  • นวัตกรรมคือกุญแจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อไทยไม่สามารถพึ่งการผลิตเพื่อส่งออกได้เหมือนเคย ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนภาคการผลิตและบริการบางส่วน ทำให้บริษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นหรือผลิตเอง
  • การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าควรจะลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ไม่จำกัดอำนาจตลาดจนอาจเป็นการทำลายการสร้างนวัตกรรมโดยไม่ตั้งใจ

นวัตกรรมคือความหวังของเศรษฐกิจไทย?

     จากการเข้าร่วมงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย BOT Symposium 2017 ‘เศรษฐกิจ คิดใหม่…Innovating Thailand’ นวัตกรรม เป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงตลอดทั้งงานสัมมนา ยิ่งตอกย้ำถึงทิศทางที่ประเทศไทยกำลังจะมุ่งไปในอนาคตท่ามกลางความผันผวนซับซ้อน…

     ประเทศไทยในวันนี้กำลังติดหล่ม ถึงจะมีความเจริญรุดหน้าหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยโตน้อยและโตช้าต่อเนื่องมานานหลายสิบปี แม้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเกินคาด เนื่องจากจีดีพีในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ขยายตัว 3.7% สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

     โจทย์เศรษฐกิจได้ถูกส่งต่อมายังรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำมาสู่การคลอดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวพ้นจาก 3 กับดักสำคัญคือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap), กับดักความเหลื่อมล้ำ (Inequality Trap) และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา (Imbalance Trap)

     นโยบายนี้ยังชู ‘นวัตกรรม’ เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน เดินหน้าขนานไปกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

     แต่นวัตกรรมจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักและรับมือกับความท้าทายในอนาคตหรือไม่ อย่างไร และการสร้างสรรค์นวัตกรรมควรเริ่มต้นจากอะไร?

 

 

ความเสี่ยงหรือโอกาส? จับตา 12 อุตสาหกรรมที่จะเกิด Disruption

     ในช่วงเสวนาหัวข้อ ‘เศรษฐกิจ คิดใหม่’ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัย TDRI แสดงทัศนะชัดเจนว่า ไม่มีประเทศไหนอยู่ได้ ถ้าหากไม่มีนวัตกรรม เช่น ญี่ปุ่นตระหนักเรื่อง Disruptive Technology ที่จะเข้ามากระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในฐานะตลาด เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างมหาศาล

     “ประเทศต่างๆ รู้ว่าจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนตาม disruption ที่เกิดขึ้น” ดร. สมเกียรติชี้ว่ามีแนวโน้มจะเกิด disruption อย่างน้อยใน 12  อุตสาหกรรม ประกอบด้วย

     1. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนบริษัทเก่า เช่น การอุบัติขึ้นของ Google และ Apple

     2. อุตสาหกรรมสื่อ: ปี 2559 บริษัทสื่อในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทขาดทุน เม็ดเงินโฆษณาไหลไปอยู่กับ Google และ Facebook

     3. เทเลคอม     

     4. การเงินการธนาคาร: แรงกระทบจากเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค

     5. ธุรกิจค้าปลีก

     6. พลังงาน

     7. การขนส่งเดินทาง

     8. การท่องเที่ยว

     9. การแพทย์และการดูแลสุขภาพ

     10. การผลิต (manufacturing)

     11. ภาครัฐ

     12. การศึกษา

 

 

     ดร. สมเกียรติชี้ว่า กระแส disruption ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจและการพัฒนาของประเทศไทยมากที่สุด เพราะประเทศไทยเน้นส่งออกสินค้าคิดเป็นเกือบ 40% ของจีดีพี การผลิตเพื่อส่งออกจะได้รับแรงกระทบจากเทคโนโลยีอัตโนมัติ และเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ที่จะแพร่หลายในอนาคต บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตหรือจ้างโรงงานในไทยผลิตจะมีโอกาสย้ายการผลิตไปจุดที่อยู่ใกล้กับลูกค้ามากขึ้น

     “เมื่อต้นทุนการผลิตที่ขึ้นกับแรงงานไม่สำคัญอีกต่อไป มันก็จะย้ายไปอยู่กับจุดที่ใกล้กับลูกค้า ซึ่งก็คือประเทศพัฒนาแล้ว แปลว่าอุตสาหกรรมการผลิตหลายตัวจะไม่ได้อยู่ในไทย และจะมีลักษณะ personalize ให้เข้ากับคนมากยิ่งขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ถ้าประเทศไหนไม่เตรียมรับมือกับ disruption เหล่านี้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เศรษฐกิจของประเทศนั้นจะทรุดลงไปเลย”

     ดร. สมเกียรติแนะว่า ประเทศไทยควรจะหากลยุทธ์การรับมือและปรับตัวตามเทรนด์เหล่านี้ให้ทัน ด้วยแนวคิดแบบ Lean หรือการบริการจัดการการผลิต/องค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่เกิดความสูญเปล่า (waste) ในทุกกระบวนการ และสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovate)

     แม้ว่า disruption จะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียฐานการผลิตหรือบริการบางอย่างไป แต่ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ (leap frog) โดยอาศัยอุตสาหกรรมการผลิตแบบใหม่ที่เครื่องจักรยังทดแทนไม่ได้ เช่น ออกแบบบริการเฉพาะบุคคลให้มีคุณภาพดี มอบประสบการณ์ที่ดี และมีคุณค่าทางจิตใจ

 

งานวิจัยหัวข้อ ‘เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย’ โดย ดร. ปิติ ดิษยทัต, ดร. ณชา อนันต์โชติกุล และทศพล อภัยทาน จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

Two Thailands: ความสามารถกระจุก ความเหลื่อมล้ำกระจาย

     จากงานวิจัยหัวข้อ ‘เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย’ โดย ดร. ปิติ ดิษยทัต, ดร. ณชา อนันต์โชติกุล และทศพล อภัยทาน จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าจริงๆ แล้วไทยมีพัฒนาการด้านศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราผลิตสินค้าได้หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น โดยดูจากความสัมพันธ์ระหว่าง Economic Complexity Index กับรายได้ต่อหัว

     แต่กลายเป็นว่าความหลากหลายซับซ้อนเหล่านี้จำกัดอยู่แค่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการที่มีความสามารถก็ไม่ได้กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ

     จากการศึกษาข้อมูล Big Data โดยจำแนกตามความซับซ้อนของผู้ประกอบการ พบว่าปี 2015 ผู้ประกอบการที่มีความซับซ้อนสูงมีเพียง 19% เท่านั้น โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออก 20% ที่เหลือส่วนมากเป็นของบริษัทใหญ่

     หากจำแนกตามสินค้าเก่าใหม่ก็จะพบว่ามีสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าใหม่เพียง 20% เท่านั้น โดยมีมูลค่าส่งออกเพียง 20% ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาองค์ความรู้เก่าในการผลิต (ก่อนปี 1990)

 

 

     ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนอะไร?

     ทศพล อภัยทาน หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า “ทางที่เราเดินมาถึงจุดนี้สะท้อนถึงลักษณะของประเทศไทยที่ผมขอเรียกว่าเป็น ‘Two Thailands’ แม้ว่าภาพรวมเราจะเห็นว่าประเทศมีความซับซ้อน มาได้ไกล และสามารถยืนได้ในเวทีโลก

     “แต่ถ้าลงไปดูในรายละเอียดแล้ว เราก็จะพบว่าเรามีทั้งคนที่ไปได้ไกลแล้ว และคนที่กำลังตามหลังอยู่

     “คำถามคือความเป็น Two Thailands ในระดับผู้ประกอบการจะส่งผลต่อมิติอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจไทยหรือไม่”

     ดร. ณชา อนันต์โชติกุล ชี้ว่า ปี 1995 ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อุตสาหกรรมน้ำตาล และการเกษตร ซึ่งเริ่มก่อตัวเป็นคลัสเตอร์จนไทยกลายเป็นผู้ส่งออกหลักของโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนภายใน 20 ปี แต่เมื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึก จะพบว่าการพัฒนาเหล่านี้กลับกระจุกตัวอยู่แค่ในบางพื้นที่เท่านั้น คือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่เยอะ เนื่องจากขาดการส่งต่อและกระจายองค์ความรู้ จังหวัดที่มีความสามารถการผลิตซับซ้อนจึงมีรายได้ต่อหัวสูง หรือรวยเร็วกว่านั่นเอง

     ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับจังหวัด

 

งานวิจัยหัวข้อ ‘เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย’ โดย ดร. ปิติ ดิษยทัต, ดร. ณชา อนันต์โชติกุล และทศพล อภัยทาน จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

     ด้าน รศ.ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งคำถามว่าการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าของไทยนั้นผูกโยงกับสายพานการผลิตโลกก็จริง แต่เพราะเรามีความสามารถจริง หรือเราพึ่งพาความซับซ้อนของประเทศต้นทางกันแน่

     การส่งออกของไทยในระยะหลังขับเคลื่อนด้วยมูลค่าเพิ่มจากประเทศต้นน้ำ ที่สำคัญ การส่งออกไทยเกิดขึ้นโดยมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิต เชื่อมไทยเข้ากับการส่งออก ดังนั้นแทนที่ความรู้จะกระจายภายในประเทศก็กลายเป็นกระจุกตัว

     รศ.ดร. สมประวิณมองว่า การกระจุกตัวเกิดขึ้นได้ในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องมีกลไกการกระจาย ที่ไม่กระจายก็เพราะกลไกตลาดบิดเบี้ยว

     นี่คือประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณา หากไทยต้ังเป้าจะสร้างนวัตกรรมการผลิตในประเทศ

 

 

เครื่องจักรเศรษฐกิจชุดเดิมใช้ไม่ได้ผล ขาดสภาพแวดล้อมเอื้อนวัตกรรม

     แล้วทำไมเราต้องสนใจนวัตกรรม?

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยเราพึ่งพารายได้จากการส่งออกมานาน แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไว บริษัทข้ามชาติย้ายฐานกลับไปผลิตในประเทศตนเอง เปลี่ยนประเทศเป้าหมายใหม่ หรือไม่ก็นำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาแทนที่

     นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราสนใจงานวิจัยหัวข้อ ‘การแข่งขัน ตัวแปรของสมการนวัตกรรมที่หายไป’ โดย ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ และฉัตร คำแสง

     ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าประเทศไทยเคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 5-7% ต่อปี แต่ปัจจุบันกลับขยายตัวเพียง 3-4% ต่อปีเท่านั้น เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้ไทยไม่สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในระยะเวลาอันสั้นได้ด้วยความเร็ว และฟันเฟืองเก่าในระบบเศรษฐกิจเดิม

     “ประเทศไทยกำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ เช่น การดึงดูดต่างชาติด้วยแรงงานราคาถูก หรือเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว!”

     ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงเร่งส่งเสริมให้เอกชนสร้างนวัตกรรมหรือสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมขึ้นมา เช่น กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ

     ใช่ว่าประเทศไทยจะไม่เคยสร้างนวัตกรรมเลย จากการศึกษาอัตราการเติบโตของจำนวนการยื่นสิทธิบัตรต่อประชากร 1 ล้านคนในช่วงปี 1996-2014 (เฉพาะภาคเอกชน) พบว่าประเทศไทยมีการสร้างนวัตกรรม แต่เราออกตัวช้า แถมยังวิ่งช้ากว่าประเทศอื่นๆ ยิ่งนานก็ยิ่งถูกทิ้งห่าง ขณะที่จีนเริ่มช้ากว่า แต่ทิ้งห่างชนิดที่ไม่เห็นฝุ่น

     ทำไมสถานการณ์นวัตกรรมไทยจึงไม่ดีขึ้น? ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลนั้น แม้จะมีเรื่องของการแข่งขันในแง่กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับไม่ได้ระบุถึงการแข่งขันทางการค้าในบริบทการส่งเสริมนวัตกรรมเลย

     ผู้วิจัยได้คิดค้นสมการนวัตกรรมเพื่อหาแรงจูงใจให้เอกชนสร้างนวัตกรรมขึ้นมา โดยศึกษาปัจจัยการแข่งขัน นโยบายส่งเสริมนวัตกรรมที่จูงใจเอกชนด้วยกำไร และการกำกับดูแลการแข่งขันที่ดี

     “ถ้าอยากจะสร้างนวัตกรรม เราไปบีบตลาดทำให้นวัตกรรมในตลาดน้อยจนเหลือศูนย์คงจะเป็นไปไม่ได้ เราไปทำให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ไม่ได้ สิ่งที่เราควรจะตั้งเป้าไว้คือการแข่งขันที่สามารถทำงานได้ (Workable Competition)

     “เราอยากให้เอกชนสามารถแข่งขันทั้งด้านราคา ด้านคุณภาพ ด้านนวัตกรรมอย่างเพียงพอที่จะเป็นกลไกในการคุ้มครองบริโภคได้ แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงความประหยัดต่อตลาดด้วย

     “ถ้าอยากจะส่งเสริมนวัตกรรม เราต้องเริ่มที่เหตุ ดูแรงจูงใจของภาคเอกชน เริ่มที่สร้างสมการนวัตกรรม ต้องสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่ดี”

งานวิจัยหัวข้อ ‘การแข่งขัน ตัวแปรของสมการนวัตกรรมที่หายไป’ โดย ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ และฉัตร คำแสง

 

     ศ.ดร. ศักดา ธนิตกุล มองว่าประเทศไทยเราไม่มีกฎหมายลำดับรอง และกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด นั่นคือผู้ประกอบการรายใหญ่ และเสริมว่าหากจะใช้กฎหมายกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดนวัตกรรมนั้นจะต้องลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ไม่จำกัดอำนาจตลาดจนอาจเป็นการทำลายการสร้างนวัตกรรมโดยไม่ตั้งใจ

     ฝ่าย รศ.ดร. พีระ เจริญพร ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นนอกเหนือจาก R&D ด้วย เช่น ญี่ปุ่นยกประเด็นเรื่องการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ที่สำคัญ เอกชนควรเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมหรือกำหนดโจทย์การวิจัยเอง ไม่ใช่รัฐ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เกิดสินค้าเพื่อการค้า เป็นแค่การยกงานวิจัย ‘ขึ้นหิ้ง’ พร้อมชี้ว่าถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ก็ต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน การทดสอบมาตรฐานการใช้งานด้วย

 

 

นอกเหนือกับดักรายได้ปานกลาง กับดักเชิงสถาบัน ยังมีกับดักความขัดแย้ง

     เมื่อพูดถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ย่อมต้องมีเรื่องของ ‘กลไกทางสถาบัน’ เข้ามาเกี่ยวเนื่องด้วยเพื่อที่จะขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ รศ.ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร และ รศ. Ha-Joon Chang ได้นำเสนอในงานวิจัย ‘กับดักสถาบัน กลไกทางสถาบันกับการไล่กวดทางเศรษฐกิจ’ โดยมุ่งศึกษาการออกแบบและการทำงานของสถาบันในประเทศรายได้สูง 10 ประเทศในช่วงไล่กวดทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศรายได้สูง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มยุทธศาสตร์

      1. ยุทธศาสตร์สร้างบริษัทใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เช่น การรวมตัวของเครือข่ายธุรกิจในญี่ปุ่น หน้าที่ของสถาบันเหล่านี้ก็คือจัดการสเกล ร่วมมือกันลดต้นทุน R&D และควบคุมการผลิตล้นเกิน

     2. ยุทธศาสตร์แปรรูปทรัพยากร เช่น กลุ่มประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต เช่น สวีเดนพัฒนาอุตสาหกรรม low tech อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และป้อนสินค้าให้กับตลาดเกิดใหม่

      3. ยุทธศาสตร์พัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็ก (Small Giants) มุ่งสร้างเครือข่ายการพัฒนา (linkage) เช่น เครือข่ายการวิจัยของไต้หวัน และกลุ่มคลัสเตอร์ในอิตาลี แคว้นเอมิเลีย-โรมันญา

      4. ยุทธศาสตร์ฐานการลงทุนโลก (FDI Hubs) มักจะเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรเยอะ เน้นจัดการควบคุมการไหลของเงินลงทุนแทน เช่น สิงคโปร์ และไอร์แลนด์

 

 

     ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ให้ความเห็นว่า กรณีศึกษาที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นเป็นเคสที่ประสบความสำเร็จ รัฐมีประสิทธิภาพเข้มแข็ง พร้อมกับตั้งคำถามในหลายประเด็นคือ การจัดการความขัดแย้ง การจัดการทรัพยากร การพัฒนารัฐที่ยืดหยุ่นและขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     “ยุทธศาสตร์การพัฒนาแต่ละแบบ แต่ละประเทศ เส้นทางที่เลือกมันผลิตผู้แพ้และผู้ชนะ เช่น การเลือกเส้นทางการส่งเสริมพัฒนาบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมบริษัทขนาดใหญ่ ผู้แพ้โดยปริยายคือเอสเอ็มอี ส่วนผู้แพ้สำคัญคือแรงงานที่ถูกทำให้อ่อนแอ เพื่อที่จะได้ไม่มีอำนาจต่อรองมาก”

     แล้วรัฐเหล่านี้จัดการกับความขัดแย้งอย่างไร?

     “ผมคิดว่าแต่ละเส้นทางการพัฒนาผลิตทั้งผู้แพ้และผู้ชนะเสมอ คนที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงอาจเป็นกลุ่มๆ แล้วแต่ละกลุ่มนั้นมีกลไกจัดการความขัดแย้งอย่างไร ผมคิดว่าสถาบันหนึ่งที่สำคัญที่ทุกสังคมต้องมี คือกลไกการจัดการความขัดแย้ง และกับดักหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึงนอกจากกับดักความเหลื่อมล้ำ กับดักสถาบัน ผมคิดว่ากับดักความขัดแย้งสำคัญ และในบริบทสังคมไทย เราคงไม่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ว่าแล้วสังคมมีกลไกการจัดการความขัดแย้งอย่างไร

     “เคสอื่นๆ ที่รัฐเป็นตัวผลักดัน มันเป็นรัฐที่ดูเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และมีธรรมภิบาล เราจะพัฒนารัฐแบบนี้มาได้อย่างไร”

 

     ย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้นของบทความ ไม่ว่านวัตกรรมจะช่วยดึงเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากสารพัดกับดักและพาประเทศก้าวไปสู่การพัฒนาก้าวกระโดดได้หรือไม่

     คงยากจะตอบว่าประเทศจะอยู่รอดจากกระแสพลิกโฉมอย่างไร ถ้าไม่มีนวัตกรรม

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising