ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ‘ต่อไป’ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 30 พฤศจิกายนนี้ แม้เงินเฟ้อเริ่มจะชะลอตัวลง และเงินบาทพลิกกลับแข็งค่าเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมยืนยันว่า ธนาคารกลางยังไม่ได้กำหนดว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยควรขึ้นไปถึงเท่าไร
วันนี้ (16 พฤศจิกายน) ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่า แบงก์ชาติจะยังยึดมั่นกับแนวทางการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ‘ต่อไป’ ในงาน Bloomberg Business Summit at APEC พร้อมทั้งยันยืนยันว่า ธปท. ยังไม่ได้กำหนด Terminal Rate ณ ตอนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ มีผลวันที่ 29 กันยายน
เมื่อถูกถามถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ปิติระบุว่า จะไม่มีการสร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาด พร้อมทั้งกล่าวว่า ธปท. จะยังคงดำเนินแนวทางเดิมอย่างต่อเนื่อง
ธปท. ถือเป็นธนาคารที่มีมุมมองแบบเหยี่ยว (Hawkish) หรือดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปีนี้ กนง. ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไป 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 1%
โดยเงินเฟ้อที่เริ่มจะชะลอตัวลง และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ธนาคารกลางมีพื้นที่มากขึ้นในการชะลอการคุมเข้มนโยบาย พร้อมๆ กับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ปิติยังคาดว่า ในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะลดลงมาอยู่ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมาย เนื่องจากจะได้รับอิทธิพลจากฝั่งอุปทานมากขึ้น และผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงจะไม่ส่งผ่านไป
อย่างไรก็ตาม ปิติกล่าวอีกว่า เพื่อทำให้มั่นใจว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะไม่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปีหน้า การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้