×

ธปท. เผยระบบแบงก์พาณิชย์ยังแข็งแกร่ง มีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องสูง คาด NPL มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในวิสัยที่จัดการได้

12.11.2021
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/64 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของโควิด 

 

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองในระดับสูงในปีก่อน รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.024 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.72 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 155% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.8%

 

สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/64 ขยายตัวที่ 5.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.7% ทั้งนี้ สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้หักผลของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

 

เมื่อแยกดูสินเชื่อเป็นรายประเภท พบว่าสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในเกือบทุกประเภทธุรกิจ รวมถึงสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

 

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 4.2% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.7% โดยสินเชื่อรถยนต์หดตัวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัวตามปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลง ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน 

 

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/64 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.46 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.14% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 6.69% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 6.34%

 

“NPL ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เพิ่มจนชันขึ้นเป็นหน้าผา ธปท. ดูแลให้อยู่ในวิสัยที่สถาบันการเงินจัดการได้ โดย ธปท. ยังมีการผ่อนคลายเรื่องมาตรการจัดชั้นหนี้ให้กับธนาคารจนถึงปี 2566 ส่วนการพักชำระหนี้ที่จบไปคงไม่มีออกมาเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในเชิงบวกแล้ว โดยความช่วยเหลือในระยะจากนี้จะเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย” สุวรรณีกล่าว

 

ด้านผลประกอบการ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/64 จำนวน 3.85 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 45.1% จากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ

 

ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิลดลงจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในส่วนของรายได้เงินปันผลที่ลดลงจากฐานเงินปันผลที่สูงในไตรมาสก่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.69% จากไตรมาสก่อนที่ 1.09% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.47% 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X