หลังที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนอัตราดอกเบี้ย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน เพื่อลดภาระหนี้ให้กับประชาชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ส่งสัญญาณในประเด็นนี้ออกมาเป็นครั้งแรกในการประชุมวันนี้
โดย ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. ระบุว่า การทบทวนเพดานดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ ธปท. ได้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้และต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้ภาวะที่ลูกหนี้ยังได้รับความเดือดร้อนและต้องเอื้อให้มีการแข่งขันมากขึ้นในระยะต่อไป โดยจะต้องดูแลไม่ให้เกิดการผลักลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงออกไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกหนี้เดือดร้อนยิ่งขึ้น
ทิตนันทิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยไปบางส่วนแล้ว ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ได้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลงไป (บัตรเครดิต ลดจาก 18% เป็น 16% สินเชื่อบุคคล ลดจาก 28% เป็น 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดจาก 28% เป็น 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ลดจาก 36% เป็น 33%) และมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การโอนย้ายหนี้จากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ไปเป็นสินเชื่อแบบมีระยะเวลาการผ่อนชำระ ซึ่งขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยลงเป็น 12% และ 22% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินผลของมาตรการต่างๆ ในหลายมิติในการช่วยเหลือก่อนตัดสินใจว่าจะต้องปรับปรุงมาตรการที่มีอยู่แล้วอย่างไร หรือต้องออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมหรือไม่
สำหรับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยของ กนง. ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.8% ทิตนันทิ์ กล่าวว่า ตัวเลข 1.8% มาจากประมาณการเศรษฐกิจกรณีฐาน โดยคาดว่าการระบาดระลอกสามน่าจะควบคุมได้ภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงต้นปี 2565 รวมถึงการมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 7 แสนราย อย่างไรก็ดี จากการประเมินความเสี่ยงด้านต่ำที่ยังมีอยู่สูง กนง. จึงได้พิจารณากรณีที่การระบาดยืดเยื้อและกรณีที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาต่ำกว่าที่คาดไว้ด้วย โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการเผยแพร่ในรายงานนโยบายการเงินในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564
เลขานุการ กนง. กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลได้ประกาศเรื่องแผนการจองซื้อวัคซีนจำนวน 105 ล้านโดสในปีนี้แล้ว แต่ กนง. ยังมองว่าความเสี่ยงในระยะข้างหน้ายังคงมีอยู่ ทั้งการระบาดที่อาจรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และประสิทธิผลของวัคซีนที่อาจน้อยลง ดังนั้นโจทย์สำคัญของประเทศไทยในเวลานี้คือการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอและทันการณ์เพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจลงโดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประมาณ 4-6 เดือนข้างหน้า ซึ่ง กนง. จะติดตามพัฒนาการเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และทุกภาคส่วนต้องเร่งรัดให้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ เกิดผลโดยเร็ว เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้