ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2564 ของ ธปท. ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับลดจำนวนการประชุม กนง. ลงจากเดิม 8 ครั้งต่อปี (ทุก 6-8 สัปดาห์) เหลือ 6 ครั้งต่อปี (ทุก 7-10 สัปดาห์) โดยยังคงการเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินที่ 4 ครั้งต่อปีเช่นเดิม
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่
- Information Flow
กนง. มองว่าข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากในช่วงสั้นๆ จึงไม่มีนัยต่อการประมาณการเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันหากมีข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การวิเคราะห์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยให้สามารถมองข้ามความผันผวนที่มาจากข้อมูลระยะสั้นได้
- Communication
กนง. มองว่าการประชุมบ่อยครั้งอาจกระทบการคาดการณ์ของตลาดการเงินโดยไม่จำเป็น หากความถี่ในการประชุมลดลงจะช่วยให้ตลาดการเงินคาดการณ์ทิศทางนโยบายได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการสะท้อนถึงขีดจำกัดของนโยบายที่ไม่อาจปรับแต่งภาวะเศรษฐกิจได้อย่างละเอียดใกล้ชิด (Limited Ability to Fine-Tune)
- Internal Process
กนง. มองว่าการประชุมที่ลดลงจะช่วยให้การบริหารเวลาและทรัพยากรที่มีจำกัดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์เชิงลึก (In-Depth Analysis) เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบาย
ปิติกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนจำนวนการประชุมของ กนง. ในครั้งนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางในหลายประเทศที่มีการปรับลดจำนวนครั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น กลุ่มสหภาพยุโรปปรับลดจาก 12 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง สหราชอาณาจักร จาก 12 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง และญี่ปุ่น จาก 14 ครั้ง เหลือ 8 ครั้ง
ขณะเดียวกัน ยังมีหลายธนาคารกลางในบางประเทศที่กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินน้อยกว่าปีละ 8 ครั้ง ได้แก่ นิวซีแลนด์ ปรับลดจาก 8 ครั้ง เหลือ 7 ครั้ง มาเลเซีย จาก 8 ครั้ง เหลือ 6 ครั้ง และสวีเดน จาก 6 ครั้ง เหลือ 5 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีบางประเทศประชุมน้อยกว่านั้น เช่น สิงคโปร์ประชุม 2 ครั้ง ส่วนไต้หวันและสวิตเซอร์แลนด์ประชุมเพียง 4 ครั้งต่อปี
“ในภาพรวมการปรับเปลี่ยนจำนวนการประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้การสื่อสารด้านนโยบายการเงินของ กนง. มีความชัดเจนขึ้น สามารถวิเคราะห์เชิงลึกได้มากขึ้น และไม่สร้างภาระต่อการคาดเดาของตลาด” ปิติกล่าว
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากสถิติการปรับนโยบายการเงินของ กนง. ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า กนง. จะมีการปรับนโยบายโดยเฉลี่ย 3 ครั้งต่อปี โดยมีเพียง 1 ปีที่มีการปรับ 6 ครั้งต่อปี ทำให้เชื่อว่าแม้การประชุม กนง. จะถูกปรับลดลงเหลือ 6 ครั้งต่อปีก็จะเพียงพอให้การดูแลนโยบายการเงิน เนื่องจากในกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญ กนง. ก็ยังสามารถเรียกประชุมพิเศษได้
ด้าน สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ได้ตอบคำถามนักวิเคราะห์ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ในปีนี้ที่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยระบุว่า ในภาพรวม กนง. จะยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น
สำหรับผลกระทบต่อไทยจากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน (Policy Divergence) ระหว่างกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นแล้วกับกำลังฟื้นตัว คาดว่าจะทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออก อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยช่วยลดทอนผลกระทบจากภายนอกประเทศได้ เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในไทยมีจำกัด โดยในตลาดตราสารทุนมีสัดส่วนอยู่ที่ 26% ส่วนตลาดตราสารหนี้อยู่ที่ 9% ขณะเดียวกัน ไทยยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง โดยมีขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
นอกจากนี้ยังมองว่าผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนจะมีจำกัด เนื่องจาก 90% ของการระดมทุนในไทยเป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน
สำหรับความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานในช่วงครึ่งปีแรก จากนั้นเงินเฟ้อน่าจะค่อยๆ ชะลอตัวลงโดยยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
“ปัจจุบันความเสี่ยงในด้านต่างๆ ยังเป็นไปตามที่ ธปท. ได้ประเมินเอาไว้ แต่หากในอนาคต Balance of Risk ปรับเปลี่ยนไป เช่น โอมิครอนไม่รุนแรงและจบเร็วกว่าที่คาด เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ขณะที่เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นและอยู่นานกว่าที่คิด การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินก็สามารถทำได้” สุรัชกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP