×

กูรูคาด ธปท. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม กนง. พรุ่งนี้ จับตาการหารือผลกระทบจากปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐฯ-ยุโรป

28.03.2023
  • LOADING...

นักเศรษฐศาสตร์คาดแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม กนง. พรุ่งนี้ เหตุเงินเฟ้อยังไม่เข้ากรอบ จับตาการหารือผลกระทบจากปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐอเมริกา-ยุโรป

 

การสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญของ Reuters Poll พบว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 18 จาก 22 คน คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคม ขณะที่ 4 คนที่เหลือคาดว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย หรือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 3.79% ในเดือนกุมภาพันธ์ จาก 5.02% ในเดือนมกราคม แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3%

 

โดยหากเป็นไปตามโพล การตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสวนทางประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียที่หยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังสูงกว่าเป้าหมาย

 

จนถึงขณะนี้ ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปทั้งหมด 100 Basis Point (1%) ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นอัตราที่เชื่องช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังตามหลังหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่มาก

 

แม้ว่า ธปท. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจกลับมีมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับ Terminal Rate ภายในสิ้นปีนี้

 

จากนักเศรษฐศาสตร์ 19 คน มี 4 คนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% หรือสูงกว่า ขณะที่อีก 5 คนคาดการณ์ที่ 2.00% อีก 6 คนคาดการณ์ที่ 1.75% และอีก 4 คนคาดการณ์ไว้ที่ 1.50% ในช่วงสิ้นปีนี้

 

โดย Khoon Goh หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียจาก ANZ กล่าวว่า ข้อความล่าสุดจาก ธปท. ยังส่งสัญญาณว่าการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไปยังคงเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

 

ขณะที่ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Macro and Wealth Research บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เนื่องมาจากการปรับนโยบายดอกเบี้ยให้กลับสู่จุดสมดุลเดิมก่อนเกิดโควิด (Normalization) ซึ่งอยู่ที่ 1.75% ภาพรวมของเงินเฟ้อแม้ปรับตัวลง แต่อยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมาย ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงยังเป็นสิ่งที่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ซึ่งยังคงกว้างมาก โดยปัจจุบันของไทยอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 4.75-5.00% ทำให้จิติพลมองว่า “หาก ธปท. ทิ้งส่วนต่างให้กว้างต่อไป Downside เงินทุนไหลออกหรือไหลเข้าแรงๆ การขยับดอกเบี้ยตอนนั้นคงไม่ทัน ฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการขยับอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ส่วนต่างไม่กว้างมากเกินไป เป็นการลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย”

 

จิติพลยังคาดอีกว่าการขึ้นดอกเบี้ยของไทยน่าจะจบในครั้งนี้ เนื่องจากการขยับนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเลือกตั้งอาจเป็นความเสี่ยงเนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 2 ยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยและมีโอกาสหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นแรงกดดันที่อาจทำให้ไทยต้องทบทวนนโยบายการเงินอีกครั้ง

 

สอดคล้องกับ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ที่ระบุว่า ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ 0.25% และเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้จะชะลอตัวลงตามราคาพลังงานในตลาดโลก ยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ท่ามกลางปัญหาในภาคการธนาคารที่ยังไม่นิ่งและอาจจะยืดยื้อ

 

อีกผลสำรวจของ Reuters ยังพบว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% ในปีนี้ และลดลงเหลือ 1.9% ในปี 2024

 

จับตาปัญหาในภาคธนาคาร

 

จิติพลมองว่า กนง. คงนำปัญหาในภาคการธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปเข้าไปพิจารณา แต่ขึ้นอยู่กับการตีความ โดยหากตีความว่าปัญหานี้ไม่เกี่ยวข้องกับไทย โอกาสขึ้นดอกเบี้ยก็จะสูง แต่ถ้ามองว่าปัญหานี้อาจจะกระทบไทย อาจมีการชะลอดอกเบี้ยก่อนเพื่อดูสถานการณ์

 

นอกจากนี้ยังชี้ว่าหากมองไปที่ต้นตอจริงๆ สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยทำ ซึ่งไม่ได้ต่างจาก SVB ทำเลย คือปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนักลงทุนและผู้ฝากเงินเริ่มรับรู้ก็จะนำไปสู่การขยับเงินฝากมากขึ้น ดังนั้นหาก กนง. ไม่ขยับรอบนี้ แล้วสุดท้ายต้องขยับเร็วๆ เนื่องจากเจอเหตุการณ์บังคับ โอกาสที่จะมีวิกฤตก็สูง

 

ด้านเกวลินมองว่า กนง. คงมีการหารือและประเมินผลกระทบเที่ยวกับปัญหาในภาคการธนาคาร เนื่องจากแม้เหตุการณ์ดูเหมือนจะควบคุมได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังค่อนข้างเหวี่ยงไปมา (Swing) และไม่น่าจะคลี่คลายได้เร็ว เนื่องจากการปรับโครงสร้างงบดุลของธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปต้องใช้เวลา ทำให้มีความเปราะบางอยู่

 

สำหรับผลกระทบของปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปต่อเศรษฐกิจโลกและไทย เกวลินยังมองว่ายังไม่ชัด แต่ย้ำว่าความเชื่อมโยง (Exposure) กับไทยค่อนข้างน้อย โดยอาจเกิดได้ใน 2 มุม ได้แก่ หากเหตุการณ์มีผลต่อความกังวลและเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ส่งออกของไทยก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย อีกมุมมาจากการแกว่งตัวของราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน จึงอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X