×

ธปท. เร่งผลักดัน 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เล็งเผยเกณฑ์บางส่วนสิ้นเดือนนี้ก่อนเปิดรับฟังความเห็น พร้อมหารือเปิดแบงก์เพิ่ม

03.07.2023
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

แบงก์ชาติเร่งผลักดัน 3 แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เตรียมคลอดเกณฑ์บางส่วนภายในสิ้นเดือนนี้ก่อนเปิดรับฟังความเห็น เผย NPL ในระบบมีแนวโน้มขยับเพิ่ม แต่จะไม่เป็นหน้าผาหนี้ พร้อมหารือเปิดธนาคารเพิ่มหลังการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจน

 

เปิด 3 แนวทางแก้หนี้ครัวเรือน

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการ คือ 

 

  1. จัดทำเกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ เช่น ไม่โฆษณาหรือมีการเสนอขายที่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าภายใต้เงื่อนไขและสัญญาที่เป็นธรรม การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้จ่ายไหวและมีเงินเหลือเพียงพอดำรงชีพ รวมถึงให้ลูกหนี้รู้สิทธิและข้อมูลสำคัญในการฟ้องและโอนขายหนี้ที่ครบถ้วน

 

นอกจากนี้ ธปท. จะออกแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ Revolving P-Loan ที่จ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้หรือต้องใช้เวลานานมากเกินไป ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ออกมา โดยจะแบ่งลูกหนี้เรื้อรังออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ลูกหนี้เรื้อรังทั่วไป และลูกหนี้เรื้อรังแบบรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะออกเกณฑ์นิยามลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ออกมาภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป

 

  1. ออกกลไก Risk-Based Pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง 

 

“เราอยู่ระหว่างหารือเรื่องนี้กับกระทรวงการคลัง และต้องทำความเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การยกเลิกเพดานดอกเบี้ยรายย่อย แต่เป็นการเปิดให้ผู้ให้บริการที่พร้อมจัดการความเสี่ยงได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อจนลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ขณะเดียวกันก็ควรมีเงื่อนไขที่ช่วยให้ลูกหนี้ดีกู้ได้ถูกลง” สุวรรณีกล่าว

 

  1. มาตรการ Macroprudential Policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR) 

 

“เราจะจัดทำเกณฑ์ที่ชัดเจนของทั้ง 3 แนวทางนี้ออกมาโดยเร็ว จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็น โดยในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ RBP สำหรับในเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดไทม์ไลน์ต่างๆ ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ต่อไป” สุวรรณีกล่าว

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า นอกจากการดูแลหนี้ครัวเรือนในกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของหนี้ทั้งหมดแล้ว การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น หนี้ กยศ. และหนี้สหกรณ์ต่างๆ ผ่านการปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้ปัญหาความยากจนและการสร้างรายได้ 

 

NPL มีแนวโน้มขยับเพิ่ม แต่ไม่เป็นหน้าผาหนี้

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยล่าสุด ธปท. ยังติดตามอย่างใกล้ชิด และผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP (เพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดยจากข้อมูลชุดใหม่หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4%) 

 

ขณะที่จำนวนบัญชีและยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด (ลูกหนี้รหัส 21) ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2565 ที่ 4.7 ล้านบัญชี ลงมาอยู่ที่ 4.4 ล้านบัญชีแล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่ยอดหนี้ก็ได้ปรับลดลงจาก 4.1 แสนล้านบาท ลงมาเหลือ 3.1 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่อยู่กับสถาบันการเงินภาครัฐ 60%, Non-Bank 30% และธนาคารพาณิชย์ 10%

 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ธปท. คาดการณ์ว่า NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อยหรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL Cliff และเป็นระดับที่สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของ Rating Agencies ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้วแต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้ 

 

สำหรับสินเชื่อรถยนต์ที่จัดชั้น Stage 2 (SM) หรือหนี้ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด อยากทำความเข้าใจว่าไม่จำเป็นว่าหนี้กลุ่มนี้จะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด ดูได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าอาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้

 

พร้อมหารือเปิดธนาคารเพิ่ม

สุวรรณียังให้ความเห็นกับสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีข้อเสนอจากพรรคการเมืองให้เพิ่มจำนวนธนาคารในประเทศ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบและนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ว่า หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว ตามปกติ ธปท. จะมีการหารือกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่อยู่แล้ว โดยในกรณีการเพิ่มจำนวนธนาคารจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่มาพิจารณาร่วมกัน

 

โดยปัจจุบัน ธปท. เองก็มีแนวนโยบายในการเพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์ ด้วยการเปิดให้ขออนุญาตดำเนินการธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Bank เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งอยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นรอบที่ 2 

 

“ขณะนี้เรายังกำหนดการให้ใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เอาไว้ไม่เกิน 3 แห่ง เราต้องการให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะในต่างประเทศ Virtual Bank ก็มีทั้งเคสที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ” สุวรรณีกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising